ทำไมเกษตรกรไทยถึงจน และแก้ไขได้อย่างไร

ทำไมเกษตรกรไทยถึงจน และแก้ไขได้อย่างไร

ภาคเกษตรยังสำคัญในระบบเศรษฐกิจสังคมไทย เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่คนจำนวนมาก แม้ว่าสัดส่วนแรงงานการเกษตรกรลดลง และภาคเกษตร

มีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมต่ำ แต่นั่นเป็นเพียงวิธีการคำนวณเชิงปริมาณแบบแยกส่วน ถ้ามองเศรษฐกิจที่เป็นจริงแบบเชื่อมโยงกัน คนไทยส่วนใหญ่ รวมทั้งภาคอุตสาหกรรม การค้า การบริการยังพึ่งพาอาหารและรายได้ที่หมายถึงอำนาจซื้อด้วยจากภาคเกษตรมาก

การที่เกษตรกรไทยส่วนใหญ่จนกว่าคนอาชีพอื่น และจนกว่าเกษตรกรในยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ มีสาเหตุอย่างน้อย 3 ข้อคือ

  1. ต้นทุนสูงแต่ขายข้าว,พืชผลให้พ่อค้าได้ราคาต่ำกว่าราคาขายปลีกให้ผู้บริโภคและส่งออกมาก พ่อค้าส่งออก, พ่อค้าใหญ่เป็นผู้กำหนดราคา รับซื้อ ต้องผ่านพ่อค้าหลายขั้นตอน กระบวนการค้าและการขนส่งมีต้นทุนสูง ทั้งพ่อค้าได้กำไร (ทั้งระบบ) มาก เกษตรกรจำนวนมากเป็นหนี้พ่อค้าล่วงหน้า รายรับต่ำกว่ารายจ่ายมาตลอด จึงถูกบีบบังคับให้ขายในราคาที่พ่อค้ากำหนด

พ่อค้าส่งออกข้าวรายใหญ่มีแค่ราว 10 ราย มีโรงสีขนาดใหญ่และยุ้งฉางของตนเอง และเป็นตัวแทนจำหน่ายข้าวให้แก่พ่อค้าคนกลางรายย่อยๆ ในประเทศด้วย ดังนั้นจึงมีอิทธิพลในการกำหนดราคาข้าวที่รับซื้อจากชาวนา ทำให้ข้าวเปลือกที่ชาวนาขายมีราคาต่ำ แต่ข้าวสารที่ประชาชนซื้อมีราคาสูง เพื่อที่พวกเขาจะได้ส่วนต่างหรือกำไรมากขึ้น

ปัญหาใหญ่คือเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ไม่มีทุนทรัพย์ ยุ้งฉาง และการรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายข้าว พวกเขาจึงขาดอำนาจต่อรอง ไม่สามารถเพิ่มราคาข้าวเปลือกหรือพืชผลอื่นด้วยตนเอง แม้ค่าใช้จ่ายในการทำนาหรือการทำเกษตรอื่นๆ จะเพิ่มขึ้น กรณีที่บางปี, ฤดูกาล ข้าวหรือพืชผลอื่นในตลาดโลกสูงขึ้น เกษตรกรอาจจะขายได้ราคาที่ดีขึ้นหน่อย แต่พ่อค้ามักจะได้ส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเกษตรกรอยู่ดี

  1. เกษตรกรจำนวนมากไม่ได้เป็นเจ้าของเครื่องมือการผลิตเช่น ที่ดิน รถแทรกเตอร์ ทำให้เกษตรต้องเช่าที่เขาทำ ต้องเสียค่าจ้างรถแทรกเตอร์ไถและอื่นๆ ต้องไปกู้ยืมเงินทั้งเพื่อการลงทุนและการบริโภคที่เสียดอกเบี้ยในอัตราสูง ต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายรับ เป็นหนี้ตลอดกาล ต้องหาทางกู้หลายทางหรือกู้หนี้ใหม่ไปใช้หนี้เก่า ยอดหนี้สินเพิ่มและดอกเบี้ยเพิ่ม พอเก็บเกี่ยวแล้วขายออกไปก็มีเงินเหลือน้อย ถึงชาวนาจะรู้ตัวว่าทำนา (หรือปลูกอย่างอื่น) มักจะขาดทุนแต่ก็ต้องทน ทำแบบขาดทุนต่อไป เพราะไม่มีทางเลือกอื่น (อย่างน้อยจะมีข้าวไว้กิน) บางคนไปหางานในเมือง และกลับมาปลูกหรือจ้างคนปลูกข้าวแบบถึงจะขาดทุนก็ต้องทำ เพราะมันคือวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมของพวกเขาด้วย
  2. รัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิรูปที่ดินและปฏิรูปการเกษตรอย่างจริงจังเหมือนในญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ เพราะรัฐบาล (ทุกรัฐบาล) เป็นตัวแทนของคนรวย คนชั้นกลาง ที่มีผลประโยชน์และแนวคิดการพัฒนาแบบพึ่งพาทุนต่างชาติ เน้นการทำอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ไม่ได้พัฒนาการชลประทาน คูคลองส่งน้ำ อ่างเก็บน้ำ การบำรุงดิน ปรับปรุงพันธุ์ข้าว ปราบศัตรูพืช ฯลฯ อย่างจริงจังทั่วถึง รัฐบาลยังส่งเสริมเขตอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษ สร้างถนนหนทาง น้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ ฯลฯ เพื่อสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมหรือผลักดัน ขับไล่ชาวนาออกไปจากพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เพื่อทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่ออุตสาหกรรม รัฐบาลใช้ภาษีของคนทั้งประเทศซึ่งรวมทั้งเกษตรกรผู้เสียภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีการค้าต่างๆ สูง ไปอุ้มนายทุนอุตสาหกรรมการค้าและการบริการโดยเฉพาะนายทุนใหญ่ทั้งต่างชาติและนายทุนไทยที่เป็นนายทุนข้ามชาติด้วย ทั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การลดหย่อนภาษีให้นายทุนอุตสาหกรรม ฯลฯ

การสร้างเขื่อนใหญ่เน้นการผลิตไฟฟ้าเพื่อภาคเศรษฐกิจในเมือง ไม่ได้ส่งเสริมระบบชลประทานที่เหมาะสม ส่งเสริมแต่เกษตรกรแบบเคมีที่เกษตรกรต้องจ่ายค่าสารเคมี ค่าปุ๋ย ค่าน้ำ ฯลฯ ทำให้เกษตรกรขาดทุน ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคสุขภาพย่ำแย่ลง ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลสูงขึ้น ทั้งเกษตรกรยังเผชิญความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่ทำให้ผลผลิตตกต่ำ และความเสี่ยงจากการปลูกพืชผลตามๆกัน ทำให้ราคาตกต่ำ เนื่องจากไม่มีศูนย์ข้อมูลและการวางแผนและระบบประกันภัยที่ดี

รัฐบาลดำเนินนโยบายผิดพลาดที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการค้า เน้นความเติบโตมากกว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น ป่าไม้ ดิน และน้ำ ทั้งๆ ที่ไทยมีพื้นที่เพาะปลูกใหญ่มากเป็นอันดับที่ 19 ของโลก และสามารถพัฒนาผลผลิตต่อไร่ได้อีกมาก รวมทั้งถ้าพัฒนาการแปรรูปสินค้าเกษตร ภาคเกษตรจะมีมูลค่าสูงขึ้นได้อีกมาก

ทางแก้ไขคือ ต้องผลักดันการปฏิรูปที่ดิน การปฏิรูปการเกษตรขนานใหญ่ พัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้ จัดตั้งกลุ่มองค์กรร่วมมือกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองและเรียกร้องผลักดันการปฏิรูปเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่แค่เรียกร้องขอความช่วยเหลือเป็นเรื่องๆ ปฏิรูประบบการถือครองที่ดินเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าและเพิ่มบทบาทของธนาคารที่ดิน ที่ควรจะทำให้รูปสหกรณ์ เน้นเรื่องโฉนดชุมชนที่เกษตรใช้สิทธิ์ทำกินได้ แต่ขายต่อคนอื่นนอกจากเกษตรกรหรือสหกรณ์ไม่ได้ (ที่สปก. ก็ควรทำคล้ายๆ กัน) ชาวนา ชาวไร่ มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์หรือสหกรณ์ออมทรัพย์อยู่บ้าง แต่ควรพัฒนาให้เป็นสหกรณ์ผู้ผลิต คือร่วมกันผลิต ร่วมกันขาย ร่วมกันซื้อปุ๋ยปัจจัยการผลิตต่างๆ เพื่อจะได้ต่อรองได้มากขึ้น สหกรณ์เกษตรควรจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร ธกส. (ธนาคารเกษตรและสหกรณ์) แบบเดียวกับธนาคารสหกรณ์การเกษตรของเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ มีสหกรณ์ผู้ผลิตของเกษตรกรที่เข้มแข็งขนาดเป็นผู้ขายส่ง ขายปลีก และผู้ส่งข้าวไปขายต่างประเทศได้เอง สหกรณ์เช่นนี้รวมทั้งธนาคารที่ดินซึ่งควรทำในรูปแบบสหกรณ์ ควรจ้างมืออาชีพมาบริหาร มีคณะกรรมการตัวแทนเกษตรกรคอยควบคุมดูแล

ออกกฎควบคุมค่าเช่าที่การเกษตรและเช่าระยะยาวได้อย่างน้อย 3-5 ปี เกษตรกรจะได้รู้สึกมั่นคง อยากปรับปรุงที่ดิน ออกกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ตั้งธนาคารที่ดินบังคับซื้อที่ดินจากเจ้าของที่ดินรายใหญ่เกิน 500 ไร่ขึ้นไป มาจัดสรรให้เกษตรกรได้เช่าซื้อ และผ่อนระยะยาวได้โดยเสียดอกเบี้ยต่ำ ช่วยไถ่ถอนที่นาซึ่งชาวนาไปจำนองไว้ รัฐบาลพัฒนาชลประทานขนาดเล็ก ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์,เกษตรปลอดสาร แทนเกษตรเคมี

ธนาคารชาติควรให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ธนาคาร ธกส. เพื่อให้เกษตรกรสามารถกู้เงินไปลงทุนได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง ออกกฎบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้เกษตรกรอย่างน้อย 10-15% (สมัยอาจารย์ป๋วยเป็นผู้ว่าธนาคารชาติเคยทำ) และหรือให้ธนาคารเหล่านั้นปล่อยผ่าน ธกส. โดยคิดดอกเบี้ยต่ำ เรื่องกองทุนแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร รัฐต้องจัดสรรงบประมาณมากขึ้นและดูแลการบริหารให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม เพื่อให้เกษตรยืมไปปลดหนี้เก่าโดยไม่คิดดอกเบี้ยหรือคิดต่ำมาก จึงจะล้างหนี้สินและทำให้เกษตรกรตั้งต้นใหม่ได้

การช่วยแก้ปัญหาหนี้สิน ความยากจนของเกษตรกร เช่นคืนภาษีเป็นรายเดือนให้เกษตรกรที่ยากจน,เกษตรกรสูงอายุ,เด็กฯลฯควรทำควบคู่กันไปกับการจัดตั้งกลุ่มให้การศึกษาเกษตรกรให้รู้จักบริหารเศรษฐกิจ ชีวิตของตนเอง อย่างมีความรู้ ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เช่น รู้จักทำบัญชีรายรับ รายจ่าย เลิกลดการเสพเหล้า บุหรี่ การพนัน ฯลฯ