นิติบุคคล"ไฟท์บังคับ” ผู้ซื้อ-ขาย หลีกไม่ได้ ***

นิติบุคคล"ไฟท์บังคับ” ผู้ซื้อ-ขาย หลีกไม่ได้ ***

ตั้งแต่ภาครัฐ “กรมที่ดิน” ได้ประกาศ การบังคับใช้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การจัดสรรที่ดิน 2543 แทนประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ตั้งแต่ ก.ค.2543

กำหนดกฎกระทรวงว่าด้วยการจดทะเบียน การบริหาร การควบ และการยกเลิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร 2545 เป็นต้นมา อาจกล่าว ได้ว่าทุกโครงการ ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน ทั้งตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน 2543 และประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 เมื่อผู้จัดสรรที่ดิน หรือผู้รับโอนใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน ทุกโครงการทั่วประเทศ เมื่อต้องการ หรือแสดงความประสงค์ขอพ้นหน้าที่การบำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามที่จัดทำขึ้น หรือตามแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 43 จะต้องดำเนินการ ตามมาตา 44 กล่าวคือ การแจ้งให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรร่วมกันจดทะเบียน นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร หรือนิติบุคคล ตามกฎหมายอื่นขึ้นมารับโอนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภค หรือบริการสาธารณะตามแผนผังโครงการได้รับอนุญาตต่อจากผู้จัดสรรที่ดิน เพื่อการบำรุงรักษาทรัพย์สินดังกล่าวต่อจากผู้จัดสรรที่ดินต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินการจดทะเบียน นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ตามมาตรา 45 ได้แก่ การที่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรรวมตัวกันมีมติจดทะเบียนจัดตั้ง นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ด้วยคะแนนเสียงจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งหมด รับร่างข้อบังคับ และแต่งตั้งตัวแทนยื่นคำขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กรมที่ดิน 

ต่อคำถามที่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร และผู้จัดสรรที่ดิน ตลอดจนผู้รับโอนใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินที่กล่าวว่าผู้ซื้อที่ดินจัดสรร และผู้จัดสรรที่ดิน ไม่ต้องจดทะเบียนจัดตั้ง นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ได้หรือไม่ หรือทั้งผู้ซื้อที่ดินจัดสรร และผู้จัดสรรที่ดินต่างเห็นชอบร่วมกันไม่จดทะเบียน นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน ด้วยการจดทะเบียนโอนทรัพย์สิน อันเป็นสาธารณูปโภคให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) สามารถกระทำได้เลยหรือไม่ 

ขอเรียนว่า เมื่อโครงการจัดสรรที่ดินครบ องค์ประกอบ”  การจดทะเบียน นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน 2543 และ 2558 ตามมาตรา 44 โดยผู้จัดสรรที่ดินขอแสดงความประสงค์ขอพ้นหน้าที่การบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ผู้จัดสรรที่ดิน มีหน้าที่จัดให้มีการตรวจสอบสภาพสาธารณูปโภคต่อคณะ (อนุ) กรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัด เพื่อให้ได้มาซึ่งหนังสือรับรองการตรวจสอบสภาพสาธารณูปโภค เพื่อใช้เป็นหลักฐาน การจดทะเบียน นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ให้กับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรใช้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป 

อย่างไรก็ดี เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามที่ผู้จัดสรรที่ดินแจ้งให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรดำเนินการจดทะเบียน นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร หรือนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น ซึ่งไม่น้อยกว่า  180 วันแล้ว หากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรไม่ดำเนินการเรื่องดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด และผู้จัดสรรที่ดินยังคงแสดงความประสงค์ขอพ้นหน้าที่การบำรุงรักษาสาธารณูปโภคอีกต่อไป ผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่ดำเนินการ ตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน 2543 แก้ไข เพิ่มเติม 2558 กล่าวคือ การเสนอแผนงานขออนุมัติดำเนินการเพื่อการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคต่อคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดพิจารณา หรือการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภคให้เป็นสาธารณประโยชน์อย่างหนึ่ง อย่างใด ต่อไปได้ 

ต่อคำถามที่ว่า องค์ประกอบ การจดทะเบียน นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน ได้แก่ เรื่องใด ขอเรียนให้ทราบ ดังต่อไปนี้ 

  1. ผู้จัดสรรที่ดินขายกรรมสิทธิ์ที่ดินจัดสรรแปลงจำหน่ายให้แก่ผู้ซื้อได้จำนวนไม่น้อยกว่า กึ่งหนึ่งของทั้งหมด
  2. ผู้จัดสรรที่ดินจัดทำสาธารณูปโภคตามแผนผังโครงการได้รับอนุญาตเสร็จสมบูรณ์ และได้รับการยกเลิกสัญญาค้ำประกันการจัดทำสาธารณูปโภคจากคณะ (อนุ) กรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัด
  3. ครบกำหนดระยะเวลาการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ตามที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัด
  4. ผู้จัดสรรที่ดินได้รับหนังสือรับรองการตรวจสอบสาธารณูปโภคในบริเวณที่ดินจัดสรรจากคณะ (อนุ) กรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัด

ขาดองค์ประกอบข้อหนึ่ง ข้อใดใน 4 ข้อข้างต้น จดทะเบียน นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ไม่ได้

ถามต่อไปว่า ข้อดี การจดทะเบียน นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร” ของผู้จัดสรรที่ดิน มีเรื่องใด ขอเรียนชี้แจง ดังต่อไปนี้

  1. เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อทั้งผู้จัดสรรที่ดิน และผู้ซื้อที่ดินจัดสรร
  2. โครงการจัดสรรที่ดินไม่ถูกจดทะเบียนโอนทรัพย์สินส่วนกลางให้เป็นสาธารณประโยชน์
  3. ผู้จัดสรรที่ดินหมดหน้าที่ในการบำรุง ดูแลรักษาสาธารณูปโภคภายในโครงการดังกล่าว
  4. หากมีแปลงจำหน่ายคงเหลือ ในนาม ผู้จัดสรรที่ดิน จ่ายเพียงค่าบำรุงรักษา และการจัด การสาธารณูปโภค หรือค่าส่วนกลางให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเท่านั้น
  5. คืนอำนาจการบริหารจัดการทั้งทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภค หรือบริการสาธารณะให้แก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทั้งหมด
  6. นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเป็นผู้มีอำนาจบริหารจัดการทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภค หรือบริการสาธารณะผ่านตัวแทนสมาชิก ในฐานะ คณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรร ตามข้อบังคับ
  7. ผู้จัดสรรที่ดินได้ปฏิบัติตามกฎหมายครบถ้วน 100%
  8. นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายรองรับต่อผู้ละเมิด หรือ ฝ่าฝืน ทั้งการคิดเงินค่าปรับการจ่ายค่าส่วนกลางล่าช้า การงดให้บริการสาธารณะชั่วคราว การร้องเรียนข้อบกพร่องการบริหารต่อคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัด การอายัดโฉนดที่ดินของผู้ซึ่งค้างชำระ ค่าส่วนกลางตั้งแต่ 6 เดือน เป็นต้น และ
  9. ผู้จัดสรรที่ดินหมดข้อกังวล สามารถใช้เวลาพัฒนาโครงการถัดไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

*** ชื่อเต็ม: 

นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร “ไฟท์บังคับ”

ผู้ซื้อ - ผู้ขายหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดย... 

พิสิฐ ชูประสิทธิ์

นายกสมาคมนักบริหารอาคารชุด – หมู่บ้านจัดสรรไทย

“ที่ปรึกษา” ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ

[email protected]