ปฏิรูปการเมืองไทยเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ปฏิรูปการเมืองไทยเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

เมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา นิตยสาร Scientific American ซึ่งเป็นนิตยสารยอดนิยม ทางด้านวิทยาศาสตร์ของสหรัฐ ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับ

ความเหลื่อมล้ำในแง่มุมต่างๆ เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะบทความหนึ่ง ซึ่งเขียนโดย โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์ รางวัลโนเบล ที่วิเคราะห์สาเหตุของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ไว้อย่างชัดเจน

สหรัฐฯ มีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แม้ว่าจะเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุด และมีมหาเศรษฐีมากที่สุดในโลก (มากกว่าจีนที่อยู่อันดับ 2 เกือบเท่าตัว)

ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ระดับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของสหรัฐ เพิ่มขึ้นไปอยู่ในจุดสูงสุด โดยกลุ่มคนรวย 1% ของประเทศ มีส่วนแบ่งของรายได้เพิ่มขึ้น 2 เท่า และกลุ่มคนรวย 0.1% ของประเทศ มีส่วนแบ่งของรายได้เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ขณะเดียวกันคนที่เหลือกว่า 90% ของประเทศมีส่วนแบ่งของรายได้ลดลง

นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากอธิบายสาเหตุของความเหลื่อมล้ำในสหรัฐ ไว้หลายประการ เช่น 

1) การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ทำให้ความต้องการแรงงานฝีมือมากขึ้น ส่งผลทำให้ค่าจ้างแรงงานของกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือลดลง และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้เพิ่มขึ้น

2) กระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้อำนาจต่อรองของแรงงานลดลง บริษัทสามารถย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศได้ หากแรงงานเรียกร้องค่าจ้างสูงและไม่ยอมลดค่าจ้างลง

3) โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนจากภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคบริการ ส่งผลทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น เช่น ค่าจ้างของนักแสดงยอดนิยมสูงมากเป็นเงินหลายล้านดอลลาร์ ขณะที่นักแสดงทั่วไปและแรงงานที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมทำเงินได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ บริษัทที่อยู่ในภาคบริการมีแนวโน้มที่จะมีอำนาจผูกขาดทำให้สามารถกำหนดราคาที่สูงกว่าราคาในตลาดที่มีการแข่งขัน

4) คนรวยนำเงินจำนวนมากที่มีไปฝากธนาคาร ซึ่งได้ผลตอบแทนค่อนข้างสูงและมีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ มีผลทำให้สัดส่วนรายได้ของคนรวยเหล่านี้สูงขึ้นและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม หลายเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น สติกลิตซ์ อธิบายว่า ยังไม่สามารถอธิบายถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสหรัฐ ได้อย่างชัดเจนนัก เพราะเหตุผลเหล่านี้ไม่อาจอธิบายได้ว่า เหตุใดค่าจ้างแรงงานโดยเฉลี่ยในสหรัฐ จึงไม่เพิ่มขึ้นเลยในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา และเหตุใดสถานการณ์ในสหรัฐจึงย่ำแย่กว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ

สติกลิตซ์ วิเคราะห์ต่อว่า ที่จริงแล้วเป็นผลจากนโยบาย กฎระเบียบ กฎหมายที่ถูกแก้ไขให้เอื้ออำนวยต่อคนรวยและเอาเปรียบคนที่เหลือ อันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ.1970) ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสหรัฐฯ จึงแย่กว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในตอนเริ่มต้นได้นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางการเมือง เนื่องจากคนที่มีฐานะร่ำรวยเข้าไปมีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น คนเหล่านี้เข้าไปออกกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยและเพิ่มพูนความมั่งคั่งของตนเอง จนเป็นเหตุให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้นไปอีก จนกลายเป็นวัฏจักรเลวร้ายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน อาทิ

1) การบังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดในสหรัฐฯ ไม่เข้มแข็ง ทั้งที่ควรจะบังคับใช้อย่างจริงจังมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีอำนาจผูกขาดเพิ่มจำนวนมากขึ้น ประกอบกับบริษัทในสหรัฐ ในปัจจุบันไม่เพียงแต่สร้างนวัตกรรมในสินค้าและบริการเท่านั้น แต่ยังพยายามหาทางขยายอำนาจผูกขาดของตนให้มากขึ้นด้วย

ขณะที่ในยุโรป คณะกรรมาธิการยุโรปสั่งปรับไมโครซอฟท์และกูเกิ้ลเป็นเงินหลายพันล้านดอลลาร์ และสั่งให้บริษัททั้ง 2 ยุติการปฏิบัติที่พยายามครอบงำตลาด แต่ในสหรัฐกลับมีการดำเนินการน้อยมาก ซึ่งเป็นเหตุให้การผูกขาดเพิ่มขึ้นในหลายภาคส่วนของธุรกิจ

2) ความพยายามทำให้สหภาพแรงงานอ่อนแอ ทำให้แรงงานไม่สามารถต่อรองกับบริษัทซึ่งพยายามกดค่าจ้างให้ต่ำลงและไม่ยอมปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้น

3) การทำให้กฎหมายเกี่ยวกับธรรมาภิบาลองค์กรอ่อนแอ โดยอนุญาตให้ผู้บริหารในสหรัฐอนุมัติการจ่ายผลตอบแทนให้ตัวเองในระดับสูงมากกว่าแรงงานทั่วไปถึง 361 เท่า เป็นต้น

หากหันกลับมามองสถานการณ์ในประเทศไทย พบว่า ความเหลื่อมล้ำมีความย่ำแย่และมีแนวโน้มจะแย่ลงอย่างต่อเนื่อง ช่องว่างของรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนยิ่งกว้างขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นจากการจัดอันดับและข้อมูลสถิติของหน่วยงานต่างๆ และหากมองถึงสาเหตุของความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ผมคิดว่ามีความคล้ายคลึงกับคำอธิบายของสติกลิตซ์ที่กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐ เป็นอย่างมาก

แล้วเราจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนี้ได้อย่างไร? สติกลิตซ์ได้เสนอแนวทางในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสหรัฐ ไว้หลายประการ ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งถูกเสนอในบทความนิตยสาร Scientific American ที่เพิ่งตีพิมพ์เดือน พ.ย.ปีนี้ แต่เสนอไว้นานแล้วในหนังสือเรื่อง The Price of Inequality ปี พ.ศ. 2555

ตัวอย่างของข้อเสนอ เช่น การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้ามากขึ้นและการเก็บภาษีมรดกในอัตราที่เหมาะสม การแก้ไขและบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายป้องกันการผูกขาด การปกป้องแรงงาน ธรรมาภิบาลในภาคธุรกิจ การป้องกันการกีดกันแรงงานสตรี กฎระเบียบควบคุมภาคการเงินไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภค รวมถึงการปฏิรูประบบต่างๆ อาทิ ระบบสาธารณสุขเพื่อทุกคนเข้าถึงได้ ระบบสวัสดิการผู้สูงอายุ และการจัดสรรที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับประชาชน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอที่สำคัญที่สุดของสติกลิตซ์ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ผมเสนอไว้ในหนังสือ เปิดโลกความคิด ปฏิรูปการเมือง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 (หน้า 75 - 82) คือ การนำเงินของนายทุนออกจากการเมือง โดยการปฏิรูประบบการเงินและการบริจาคเงินให้พรรคการเมืองในการหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อทำให้การเมืองเป็นของประชาชนทุกคนและมีการกำหนดนโยบายเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

ผมคิดว่าในโอกาสที่ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในไม่ช้า คงจะเป็นการดีอย่างยิ่ง หากภาครัฐมีการปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง ไม่เพียงแต่ระบบการเงินและการบริจาคเงินให้พรรคการเมือง แต่ทำให้พรรคการเมืองเป็นพรรคการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง

เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างใสสะอาด ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นและรัฐบาลใหม่มีความชอบธรรมในการบริหารประเทศอย่างเต็มที่แล้ว ยังมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่เรากำลังเผชิญอยู่ได้อีกด้วย