8 เมนูอัพเกรดผู้นำปีหมูทอง

 8 เมนูอัพเกรดผู้นำปีหมูทอง

เจ้าแม่ของวงการโค้ช "มอรีน เม็ตคาล์ฟ" ให้จับตาแนวโน้มด้านภาวะผู้นำที่จะมาแรงจากนี้จนถึงปี 2564 จะมีอยู่ 8 เรื่องด้วยกัน

เป็นธรรมเนียมของทุกปีใหม่ที่เราจะคุยกันถึงแนวโน้มหรือเทรนด์ใหม่ๆด้านผู้นำและการบริหารที่ต้องจับตามองกัน สำหรับปีนี้ดิฉันก็ได้เตรียมเมนูดีๆมาเป็นกำนัลแก่ท่านผู้บริหารทุกท่านที่เป็นแฟนคอลัมน์ว่าปีหมูทองมีเทรนด์อะไรบ้างที่ผู้นำและผู้บริหารต้องอัพเดตเพื่อทำการอัพเกรดตัวเองให้ทันต่อสถานการณ์ ไม่ตกเทรนด์ไปอยู่แถวหลัง
งานนี้โค้ชผู้บริหารระดับโลกที่เป็นเจ้าแม่ของวงการโค้ชอย่าง "มอรีน เม็ตคาล์ฟ" ได้เขียนลงในนิตยสารฟอร์บส์ก่อนสิ้นปีเพียงไม่กี่เดือนว่า แนวโน้มด้านภาวะผู้นำที่จะกลายเป็นเทรนด์ที่วงการบริหารต้องจับตาให้ดีเพราะจะมาแรงจนถึงปี 2564 จะมีอยู่ด้วยกัน 8 เรื่อง ผ่านประสบการณ์ของเธอที่ได้ใกล้ชิดผู้นำระดับโลกขององค์กรต่าง ๆกว่า 150 ราย โดยเทรนด์ทั้ง 8 เรื่อง มีดังนี้
1. ผู้นำต้องใส่ใจติดตามแนวโน้มและการพยากรณ์ทางธุรกิจต่างๆอย่างสม่ำเสมอ การที่สถานการณ์ธุรกิจของโลกพลิกผันอย่างรวดเร็วด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้ผู้นำองค์กรไม่สามารถทำตัวเชื่องช้าเพิกเฉยจากการเกาะติดสถานการณ์ได้ ในทางตรงกันข้าม ผู้นำองค์กรที่ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนต้องใส่ใจติดตามข่าวสารการเปลี่ยนแปลงต่างๆอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่พลาดข้อมูลการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ต้องไวที่จะสามารถจับสัญญาณจากสิ่งแวดล้อมธุรกิจได้ว่ากำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น พวกที่มีประสาทไวในการจับสัญญาณ เช่น เริ่มมองเห็นเค้าลางของการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน หรือตลาดทุน ย่อมทำให้พวกเขาสามารถปรับกลยุทธ็์ในการทำงานเพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงได้ทันควัน สามารถป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหากปรับเกมบริหารไม่ทันได้อย่างมีประสิทธิผล ไม่ต้องประสบกับภาวะขาดทุน เป็นต้น ยิ่งในปัจจุบันเรื่องของข่าวสารล้วนมีมาอย่างมากมายและรวดเร็ว ผู้นำจึงต้องหมั่นติดตามข่าวให้เป้นนิสัย และต้องรู้จักเลือกบริโภคข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือด้วย 
2. ผู้นำและองค์กรต้องมีความยืดหยุ่นปรับตัวง่าย ในเวลานี้หลายท่านคงชินหูกับคำว่า "agile"กันแล้วนะคะ มอรีนอ้างถึงผลการศึกษาของแม็คคินซี่ บริษัทให้คำปรึกษาชื่อดังว่า ในบรรดาองค์กรทุกขนาดกว่า 2,500 แห่ง ประมาณ 37% ขององค์กรเหล่านี้กำลังอยู่ในระหว่างการปรับระบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่นคล่องตัวมากขึ้น และประมาณ 4% รายงานว่าได้ทำการปรับเปลี่ยนองค์กรให้ยืดหยุ่นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้องค์กรเหล่านี้พิสูจน์ทราบแล้วการจัดให้มีทีมงานเล็กๆหลายๆทีมที่สมาชิกมีความเชี่ยวชาญต่างสาขากันมาทำงานในแต่ละโครงการ   แทนที่จะแบ่งองค์กรเป็นแผนกงานที่มีขนาดใหญ่ตามแต่ละสาขางานแล้วต่างแผนกก็ทำงานกันไปทำให้องค์กรมีความยืดหยุ่นในการดำเนินงานและสร้างผลงานได้สูงขึ้น เพราะทีมงานเล็กๆจะปรับตนเองตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วและคล่องตัวกว่าทีมขนาดใหญ่ และสำหรับตัวของผู้นำก้ต้องมีการปรับทัศนคติในการทำงานให้มีความใจกว้างเปิดรับความเห็นต่างและพร้อมที่จะปรับใจปรับตัวตามสถานการณ์และวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนเป็นระยะๆ ทั้งนี้วัมนธรรมองค์กรเป็นสิ่งที่ไม่ควรเปลี่ยนแปลงบ่อยจนขาดจุดยืน แต่วัฒนธรรมการทำงานที่ดีย่อมต้องมีความยืดหยุ่นและเอื้อต่อการปรับตัวที่รวดเร็ว บางองค์กรมีวัมนธรรมที่แข็งแกร่งเหนียวแน่นเสียจนไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ง่ายๆ ผู้นำจึงต้องมีการทบทวนพิจารณาวัฒนธรรมองค์กรของตนด้วยว่ามีิอะไรควรปรับเปลี่ยนตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไปบ้างโดยไม่สูญเสียปรัชญาและอุดมการณ์ที่เป็นค่านิยมหลักในการทำงานขององค์กร
3. องค์กรและพนักงานต้องเร่งความเร็วในการเรียนรู้ การที่จะเป้นองค์กรที่ยืดหยุ่น ไม่สามารถเป้นได้เพียงแค่คำประกาศหรือคำพูด เพราะผู้ที่จะสร้างความยืดหยุ่นให้กับองค์กรก็คือตัวของพนักงานนั่นเอง หากเปรียบเทียบพนักงานคือนักกีฬา นักกีฬาที่สามารถเล่นเกมได้หลายรูปแบบทั้งเกมรุกเกมรับ ทั้งหนัก ทั้งเบา หรือรวดเร็วรุนแรงย่อมเป็นผู้ที่มีการฟิตร่างกายให้แข็งแรงยืดหยุ่นเสมอ พนักงานก็เช่นกัน ต้องมีการเรียนรู้สร้างความแข็งแกร่งให้กับมวลสมองอยู่สม่ำเสมอ คอยเปิดหูเปิดตารับข้อมูลใหม่ๆ ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเข้ามาก็จะสามารถปรับความคิดให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ได้ว่องไวไม่เฉื่อยชามึนซึม สมัยนี้เป็นเรื่องของความเร็ว ใครไวกว่าก็คว้าชัยครองตลาดได้ก่อน องค์กรจึงต้องสร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่กระตุ้นให้พนักงานเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาและอย่างว่องไวด้วย โดยผู้นำต้องทำตัวเป็นแบบอย่างด้วยการหมั่นป้อนคำถามที่ท้าทายให้พนักงานได้คิดหาคำตอบใหม่ๆอยู่เป็นประจำ กระตุ้นให้พวกเขาคิดหาวิธีการในการทำงานใหม่ที่ดีกว่าเดิมอยู่เสมอๆ ความกระตือรือร้นแอ๊คทีฟของผู้นำจะเป็นปัจจัยเร่งการเรียนรู้ของพนักงานที่ดีค่ะ
4. วัยของพนักงานในองค์กรจะมีระยะห่างกันมากขึ้น เนื่องจากนานาประเทศทั่วโลกได้ย่างเข้าสู่สังคมสูงอายุกันเป็นส่วนมาก ในขณะที่อัตราการเกิดต่ำลง ทำให้ทั่วโลกมีประชากรในวัยหนุ่มสาวน้อยลงในขณะที่ความต้องการแรงงานมิได้ลดน้อยถอยตามไปด้วย แม้ว่าจะมีการนำหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์มาทำงานแทนมนุษย์กันแล้วก็ตามที ดังนั้นแนวโน้มในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราก็จะได้เห็นผู้ที่วัยเกษียณแล้วยังทำงานในองค์กรต่อร่วมกับพนักงานวัยหนุ่มสาวที่ยังเรียนไม่จบด้วยซ้ำ ที่เป็นเช่นนี้เพราะการขาดแคลนแรงงานทำให้องค์กรหลายแห่งจำเป็นต้องจ้างคนที่เกษียณและคนที่ยังเรียนไม่จบมาทำงานให้ อย่างไรก็ตามมอรีนบอกว่าการที่พนักงานมีอายุสูงวัยกว่าไม่ได้หมายความว่าจะต้องได้ค่าตอบแทนสูงกว่าเสมอไป สังคมมนุษย์เงินเดือนในยุคของเราจากนี้ไปจะเน้นที่ความสามารถและผลงานมากกว่าอายุและปริญญาหรือประกาศนียบัตรต่างๆ องค์กรจะมองหาแต่ผลงานและจะตอบแทนพนักงานตามผลงานเป็นสำคัญ
5. ผู้นำต้องเร่งคัดตัวพนักงานคนเก่งเพื่อสร้างทีมคนเก่งให้เร็วขึ้น เนื่องจากตลาดแรงงานยังขาดแคลนพนักงานที่มีความสามารถและขาดคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวเป็นผู้นำที่สามารถบริหารองค์กรยุคเศรษกิจพลิกผันอย่างพอเพียง อีกทั้งเทคโนโลยีก็พลิกผันอย่างรวดเร็ว จึงเป็นภาระกิจเร่งด่วนของผู้นำรุ่นปัจจุบันที่นับวันจะแก่เฒ่าโรยราไปให้ต้องพยายามสรรหาคนเก่งวัยเยาว์และเร่งกระบวนการในการพัฒนาสร้างความพร้อมให้พวกเขาเป็นงานและรู้รอบมากที่สุดที่จะรับมือกับความท้าทายทางธุรกิจทุกรูปแบบ ซึ่งการพัฒนาผู้นำยุคนี้จะไม่ใช่วิธีการแบบดั้งเดิมที่เน้นการฝึกอบรมในชั้นเรียน แต่จะเป็นวิธีการผสมผสานกันเพื่อเร่งกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติ หรือ Action learning ประกอบกับการโค้ชโดยผู้มีประสบการณ์ให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ทดลองลงสนามจริง ซึ่งการพัฒนาโดยวิธี Action learning จะทำให้ผู้รับการอบรมได้นำความรู้เชิงทฤษฏีมาหัดประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์โดยทันที และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นจริงก็จะได้เรียนรู้วิธีแก้ปัญหาในทันที ทำให้ช่วยย่นระยะเวลาในการเรียนรู้เพื่อสร้างประสบการณ์ให้สั้นลง
6. การจูงใจสร้างความผูกพันในงานจะเป็นเครื่องผูกใจให้พนักงานทำงานกับองค์กรท่ามกลางกระแสพลิกผัน ยิ่งสถานการณ์ปรวนแปรเปลี่ยนแปลงเร็วและบ่อยมากขึ้นเพียงใด การที่จะบริหารทีมงานให้มีความเป็นเอกภาพและทำงานเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกันย่อมกระทำได้ยากขึ้น เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ เกิดการสะดุดขึ้น มีผลทำให้ต้องมีการเปลี่ยนวิธีทำงาน เปลี่ยนเป้าหมายการทำงาน และแม้แต่ต้องเปลี่ยนทีมที่ทำงานด้วย ดังนั้นการทำงานของผู้นำที่จะบริหารทีมให้คงไว้ซึ่งค่านิยมและเป้าหมายในการทำงานอย่างตลอดรอดฝั่ง ไม่ซวนเซเหหันตามกระแสลมที่เปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องมีทักษะในการสื่อสารที่ยอดเยี่ยม ต้องสื่อสารได้ชัดเจนและจูงใจสมาชิกทีมได้ทุกสถานการณ์ เพราะความรู้สึกผูกพันในงานของสมาชิกต้องเหนียวแน่นมากพอที่จะยึดโยงใจให้พวกเขาทำงานกับทีมโดยไม่ท้อถอยเปลี่ยนใจ นี่แหละคือความยากในการผูกใจพนักงานที่ผู้นำยุคนี้ต้องเก่งในเรื่องจิตวิทยา ต้องมีความเข้าใจ (empathy) ให้กับพนักงานอย่างลึกซึ้ง จึงจะสามารถตอบข้อข้องใจและแก้ปัญหาความวิตกกังวลของพนักงานในช่วงการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิผล
7. ภาครัฐ เอกชนและครัวเรือนต้องร่วมกันสร้างประชาคมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ หลายปีที่ผ่านมาจวบจนวันนี้ย่อมทำให้เราเห็นแล้วว่าสภาพสิ่งแวดล้อม บรรยากาศของโลก ตลอดจนสภาพศีลธรรมและจิตใจของคนเราไม่ได้ดีขึ้น มีแต่เสื่อมทรามแย่ลง เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นก็จริง มนุษย์เรามีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตมากขึ้น แต่แปลกที่ระดับความสุขของชาวโลกโดยทั่วไปไม่สูงขึ้นแน่นอน แสดงว่าความเจริญทางวัตถุไม่สามารถยกระดับจิตใจและคุณภาพชีวิตของคนเราได้ การที่ต่างคนต่างอยู่ ฝ่ายหนึ่งมุ่งหน้าทำการค้าสร้างผลกำไรไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและจริยธรรม ฝ่ายบ้านเมืองมีหน้าที่สอบสวนจับกุมคนร้ายก็ทำไป ส่วนคนทำงาน็ทำงานแบบตีนถีบปากกัดข้ามหัวคนแทงคนข้างหลังเพื่อที่ตนเองจะได้อยู่แถวหน้าแบบข้าเอาแต่ตัวข้า สังคมแบบนี้ทำให้โลกทั้งใบไปไม่รอด ดังนั้นเมื่อดิฉันได้เข้าร่วมเวทีผู้นำโลกในที่ต่างๆ และได้ค้นคว้าข้อมูลแนวโน้มของสำนักต่างๆรวมถึงข้อมูลจากมอรีน เม็ตคาล์ฟท่านนี้ล้วนบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกัน คือ บุคลากรทุกภาคส่วนต้องหันหน้ามาคุยกันและจับมือกันสร้างประชาคมที่จะช่วยดูแลคุณภาพชีวิตของมนุษย์ทุกคนในโลกใบนี้ด้วยกัน การที่บางประเทศรังเกียจขยะพิษที่ตนเองผลิต แล้วเลยขนเอาขยะจากบ้านตัวเองไปทิ้งไว้ให้ไกลๆในอีกมุมหนึ่งของโลกนั้น มันไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องและยั่งยืน ในเวลานี้กลุ่มประเทศทางยุโรปดูจะคึกคักเข้มแข็งในเรื่องนี้มากกว่ากลุ่มประเทศอื่นๆในโลกแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกายุคทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ขอเรียนให้ทราบว่าเสียงและพลังของการรักษ์โลกเริ่มเข้มขึ้น ผู้นำที่ทำหน้าที่บริหารองค์กรและประเทศไม่สามารถละเลยเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด และไม่สามารถทำเป็นรักษ์สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตแบบขอไปทีหลอกชาวบ้านไปวันๆ มันจะทำไม่ได้แล้วเพราะหูตาของสื่อสอดส่องเห็นไปทั่วโลก เลิกหลอกตัวเอง หลอกชาวบ้าน และหันมาดูแลสังคมโลกอย่างจริงจังกันได้แล้ว เพราะลูกหลานของท่านก็อาศัยอยู่ในโลกใบนี้ที่กำลังจะเน่าเหมือนคนอื่น 
8. ผู้นำที่มีประสิทธิภาพต้องมีความตระหนักถึงผลกระทบของการกระทำของตนเองที่มีต่อปัจจัยต่างๆและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประการสุดท้ายนี้มัวรีนก็ยังตอกย้ำเรื่องจิตสำนึกรับผิดชอบของผู้นำให้มันเข้มแข็งยิ่งขึ้นไปอีก เพราะผู้นำพึงมีจิตสำนึกในการคิดก่อนกระทำว่าผลกระทบที่เกิดจากการกระทำของตัวเองที่มีต่อทุกๆคนที่เกี่ยวข้องในองค์กร ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกองค์กร สังคมในวงกว้างมีใครบ้าง เมื่อคิดรอบคอบแล้วว่าตัวเองจะสามารถรับผิดชอบผลของการกระทำของตนได้อย่างไร ก็ลงมือทำไป เพราะการตัดสินทุกครั้งย่อมมีความเสี่ยงและความผิดพลาดเสมอ แต่เมื่อคิดไปล่วงหน้าว่าถ้าเกิดผลลบขึ้น ตนเองจะรับผิดชอบอย่างไร อย่างน้อยก็เป็นการกระทำที่กลั่นกรองพอสมควรแล้ว ไม่ใช่รอไปแก้ไขตอนเกิดปัญหาขึ้นซึ่งมันอาจจะสายเกินแก้ 
ทั้งหมดที่นำเสนอมาก็คือแนวโน้มภาวะผู้นำรุ่นใหม่ที่มีแต่เพียงความฉลาดและความเก่งไม่พอ ต้องมีจิตสำนึกของความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมซึ่งเป็นสิ่งผู้นำทั่วโลกในเวลานี้ร่ำร้องเรียกหา โลกไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนเพราะการมี ไฮเทค (Hi tech) เท่านั้นแต่ต้องมี ไฮทัช (Hi touch) คือจริยธรรมและความรับผิดชอบของผู้นำในโลกค่ะ