บุคลิกภาพกับการเมือง

บุคลิกภาพกับการเมือง

ที่จริงไม่ว่าจะอยู่ในสายงานอะไร บุคลิกภาพย่อมมีความสำคัญเสมอ บุคลิกฯ ที่ว่านี้รวมตั้งแต่เสื้อผ้าหน้าผม กิริยามารยาท ท่วงทำนองพูดจาน้ำเสียง

 โดยเฉพาะในแวดวงดาราบันเทิงแฟชั่น บุคลิกภาพยิ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นจุดขาย ที่จริงในแต่ละสายงานก็จะมีแนวบุคลิกภาพเฉพาะของแต่ละสายงาน เช่น สายการแพทย์ก็มีบุคลิกภาพแบบหนึ่ง สายธุรกิจก็อีกแบบหนึ่ง เป็นต้น และในแต่ละสายก็อาจจะมีการแยกย่อยลงไปอีก เช่น บุคลิกภาพของแพทย์ที่เชี่ยวชาญโรคหัวใจก็อาจจะแตกต่างจากแพทย์ที่เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง สายธุรกิจการเงินก็อาจจะแตกต่างจากสายการตลาด ขณะเดียวกัน ก็ขึ้นอยู่กับกลุ่มคนที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วย เช่น กลุ่มคนการศึกษาสูงอาจจะตั้งความหวังให้แพทย์ผิวหนังมีบุคลิกภาพแบบหนึ่ง กลุ่มคนมีการศึกษาปานกลางก็อาจจะตั้งความหวังอีกอย่างหนึ่งได้  

ในกรณีของอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้คนทั่วไปก็อาจจะคาดหวังว่าอาจารย์ต้องมีบุคลิกภาพบางอย่าง เช่น ถ้าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ควรจะต้องใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาวผูกเนคไท ท่าทางสุขุม ถ้าจะใส่แว่นก็ดูไม่ขัดเขิน ผู้เขียนซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและสอนวิชาทางรัฐศาสตร์ไม่ได้วางบุคลิกภาพไว้แบบนั้น เวลาไปไหนมาไหน ผู้คนทั่วไปก็ไม่คิดว่าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือถ้าเป็น ก็น่าจะเป็นอาจารย์ทางสาขาศิลปะหรือการดนตรี เพราะผู้เขียนมีผมยาว แต่เมื่อบอกว่าเป็นอาจารย์สอนรัฐศาสตร์อยู่ที่จุฬาฯ ผู้คนจำนวนหนึ่งก็มักจะขำๆงงๆ บางคนคิดว่า ถ้าเป็นอาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ก็น่าจะเป็นอาจารย์พิเศษมากกว่าเป็นอาจารย์ประจำ ซึ่งหมายความว่า ผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยมี บุคลิกภาพที่เป็นแบบในใจ” ว่า คนอาชีพอะไรต้องมีบุคลิกภาพแบบไหน 

ในสายอาชีพต่างๆ เราก็พอจะคาดเดากันได้ว่า ผู้คนในสังคมไทยส่วนใหญ่มี “แบบบุคลิกภาพอะไรในใจ” แต่เมื่อมองไปที่สายการเมือง ก็น่าคิดว่า บุคลิกภาพแบบไหนที่เป็น แบบที่คนไทยส่วนใหญ่คาดหวังไว้

แน่นอนว่า คนในแต่ละสถานะทางเศรษฐกิจสังคมและพื้นที่ถิ่นอาศัยที่แตกต่างกันก็จะมี “แบบบุคลิกภาพของนักการเมือง” ที่แตกต่างกันไป บางกลุ่มคาดหวังในนักการเมืองต้องใส่สูท บางกลุ่มคาดหวังให้แต่งตัวกลมกลืนกับกลุ่มของตน ฯลฯ ก็น่าคิดว่า เวลาหมอไปเล่นการเมือง ควรจะยังรักษาบุคลิกภาพของความเป็นหมอไว้และผสมกับบุคลิกภาพของงความเป็นนักการเมืองหรือไม่ ? หรือสลัดบุคลิกภาพหมอออกไปเลย

ขณะเดียวกัน บุคลิกภาพหรือแบบของความเป็นนักการเมืองก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาด้วย จากการศึกษาค้นคว้าของ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ แห่งสถาบันพระปกเกล้า พบว่า บุคลิกภาพของนักการเมืองญี่ปุ่นนั้นเปลี่ยนแปลงไป เช่น สมัยก่อน ภาพหาเสียงของนักการเมืองญี่ปุ่นมักจะต้องมี “รอยยิ้มแบบหนึ่ง” แต่ต่อมา พบว่า คนไม่นิยมภาพที่มีรอยยิ้มแบบนั้นแล้ว จึงต้องมีการหาแบบรอยยิ้มใหม่ขึ้นมาเพื่อจะได้สอดรับกับความคาดหวังรอยยิ้มของนักการเมืองของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป 

จากจุดนี้ ดร. สติธร ก็ย้อนกลับมามองการเมืองไทย ก็พบว่า มีการเปลี่ยนแปลง “ตัวแบบบุคลิกภาพ” เหมือนกัน เช่น สมัยก่อน ภาพหาเสียงของนักการเมืองนิยมใส่เครื่องราชฯ สายสะพาย (ถ้ามี) หรือไม่ก็ติดยศถาบรรดาศักดิ์ หรือถ้าไม่มีสายสะพายหรือยศตำแหน่งอะไร ก็ต้องใส่สูท หรือไม่ก็ต้องใส่ชุดครุยปริญญา แต่หลังๆ มานี้ เรามักจะเห็นนักการเมืองเกือบทุกพรรคจัดวาง ภาพแบบของตนคล้ายๆ กัน นั่นคือ ใส่เสื้อเชิ้ตขาวและกางเกงสแล็คสีดำ และจะต้องถลกหรือพับแขนเสื้อขึ้น เพื่อให้ภาพลักษณ์สองอย่างในเวลาเดียวกัน นั่นคือ หนึ่ง เป็นคนทำงานในแบบใช้ความรู้ เพราะเสื้อเชิ้ตกางเกงสแล็คดำเข้าข่ายเป็นพวกที่ฝรั่งเรียกว่า white collar สอง แม้ว่าจะเป็น white collar ทำงานใช้ความรู้แต่ก็ถลกแขนเสื้อขึ้นเพื่อแสดงว่า ไม่นั่งคิดนั่งทำงาน แต่พร้อมจะลงมือลงไม้ปฏิบัติการลุยๆได้ อีกทั้งการวางเสื้อผ้าท่าทางแบบนี้เป็นการสลัดสายสะพายยศฐาบรรดาศักดิ์และชุดครุยออกไป ดูเป็นคนชั้นกลางธรรมดาที่กลมกลืน โดยเฉพาะกลมกลืนกับกลุ่มคนชนชั้นกลาง  

การวางบุคลิกภาพแบบนี้จะใช้ได้กับคนเมืองที่มีการศึกษาเสียเป็นส่วนใหญ่ ถ้าลงพื้นที่ไปหาเสียงกับเกษตรกรชาวไร่ชาวนาในต่างจังหวัด อาจจะต้องวางบุคลิกภาพอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้านักการเมืองที่พื้นฐานไม่ใช่คนชนบทเกษตรกร แต่เป็นนักเรียนนอกจากครอบครัวชั้นสูง จะไปแต่งตัวแบบบ้านๆ เพื่อให้กลมกลืนกับพี่น้องชนบท ก็ดูเสแสร้งแกล้งแต่ง ดังนั้น นักการเมืองประเภทนี้ก็อาจจะไม่ควรฝืนตัวตนของตน อาจจะทำได้เพียงคาดหรือคล้องผ้าขาวม้าสักผืนพอเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นว่าอยากจะกลมกลืนก็ได้ 

และเมื่อพูดถึงหน้าตา ก็จะพบว่า มีพรรคการเมืองหลายพรรคพยายามจะไปสรรหาคนหน้าตาดีมาเป็นลงสนามเลือกตั้ง และดูเหมือนประชาชนจำนวนไม่น้อยก็จะพลอยตื่นเต้นอยากเห็นอยากดูไปด้วย ซึ่งหน้าตาดีก็อาจจะกลายเป็นภาพจำได้ง่ายกว่าหน้าตาจืดๆ หรือหน้าตาไม่ชวนมอง อันรวมถึงรูปร่างด้วย ซึ่งไม่เป็นแต่เฉพาะสังคมไทยเท่านั้น การเมืองในสังคมอื่นเขาก็มีกระแสเห่อหน้าตาด้วยไม่น้อย 

แต่ถ้าคิดให้ดีๆ จะพบว่า คนเราเลือกที่จะเกิดมาหน้าตาดีหุ่นรูปร่างดีไม่ได้ อีกทั้งถ้าจะว่ากันจริงๆแล้ว สังคมก็ไม่ควรสับสนเอาบุคลิกภาพในวงการหนึ่งมาปะปนกับอีกวงการหนึ่ง มิฉะนั้นแล้ว ก็จะกลายเป็นว่าคนรูปร่างหน้าตาดี ก็อาจจะถูกเผลอมองว่าน่าจะเป็นนักการเมืองที่ดี หรือเป็นอาจารย์ที่ดี ! 

อีกทั้งความเชื่อเรื่องโหวงเฮ้งหรือแบบของหน้าตาก็ก่อให้เกิดอคติความเชื่อล่วงหน้าว่า คนนั้นดีไม่ดีไปโดยที่ยังไม่ได้รับรู้ความรู้ความสามารถของคนๆนั้นจริงๆจังๆ รวมอคติเกี่ยวกับแบบของหน้าตาที่ว่า หน้าแบบนี้หน้าโจร หน้าแบบนี้หน้าคนดีมีเมตตาธรรม ภาพยนตร์หรือละครก็มีส่วนปลูกฝังอคติแบบนี้ด้วยจากการที่คัดดาราที่มีหน้าตาแบบนั้นแบบนี้ให้เล่นบทแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งล่าสุดก็ในวงการภาพยนตร์ต่างประเทศก็พยายามที่จะเลิกการการสร้างตัวแบบหน้าตาพระเอกผู้ร้าย เพราะในชีวิตจริง ผู้ร้ายไม่จำเป็นต้องหน้าร้าย 

ถ้าจะถามว่า อะไรคือ แบบของบุคลิกภาพของความเป็นนักการเมือง คำตอบคือ ต้องดูที่สติปัญญาและความสนใจ โดยดูจากคำพูดคำจาที่กล่าวออกมา ขณะเดียวกัน เมื่อเรามุ่งไปที่คำพูดแล้ว ก็ต้องรู้จักแยกแยะให้ดีระหว่าง คำพูดที่สะท้อนสติปัญญาความรู้ กับคำพูดที่เอาแต่พูดเก่งเอามัน อีกทั้งควรที่จะต้องดูย้อนหลังไปในประวัติของเขาหรือเธอด้วย อย่าดูแต่เฉพาะช่วงหาเสียงเท่านั้น