ธุรกิจจัดการลงทุน

ธุรกิจจัดการลงทุน

บริษัทจัดการกองทุนรวมแห่งแรกของโลกนั้น ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ

ภายใต้ชื่อ Foreign & Colonial Investment Trust ในปีพ.ศ. 2411 ในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่กรุงลอนดอนมีการติดตั้งสัญญาณไฟจราจรเป็นครั้งแรกในโลก

ปัจจุบันบริษัทนี้ยังคงดำเนินกิจการอยู่ภายใต้ชื่อ F&C Investment Trust โดยในยุคนั้นอังกฤษเข้าสู่ยุครุ่งเรืองของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ส่งผลให้มีคนชั้นกลางเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และเกิดความต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าการซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือการฝากเงินไว้กับธนาคาร (ซึ่งล้มหายตายจากไปหลายแห่งในช่วงนั้น) ด้วยการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น โดยใช้หลักคุณธรรมและความสุจริตอย่างมืออาชีพในการบริหารจัดการ 

กาลเวลาผ่านมา 150 ปี ธุรกิจจัดการลงทุนได้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงในภาคการเงิน โดยสำนักวิจัยของ PwC คาดการณ์ว่าจำนวนประชากร และการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเซีย และอเมริกาใต้ จะส่งผลให้กองทุนรวมทุกประเภทมีขนาดเพิ่มมากขึ้นจาก 84.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2559 เป็น 111.2 ล้านล้านเหรียญฯ ในปี 2563 และ 145.4 ล้านล้านเหรียญฯ ในปี 2568 โดยกองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนล้อตามดัชนีเทียบวัด (กองทุนดัชนี-Passive Fund) คาดว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดที่สูงขึ้นอย่างมากด้วยต้นทุนที่ต่ำ และช่องทางการลงทุนดิจิตัลที่สะดวกในการลงทุน ในขณะที่กองทุนรวมที่มุ่งเอาชนะดัชนีเทียบวัด (กองทุนเชิงรุก - Active Fund) ยังคงครองส่วนแบ่งการตลาดที่เหนือกว่า โดยอาจได้รับประโยชน์จากการที่กองทุนดัชนีมักลงทุนโดยไม่สนใจปัจจัยพื้นฐาน ส่งผลให้ตลาดไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และผู้จัดการกองทุนอาจหาโอกาสสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าดัชนีได้

อย่างไรก็ดี อัตราส่วนค่าใช้จ่ายของกองทุนรวมทั่วโลก (หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือรายได้ของบริษัทจัดการนั่นเอง) ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2550 – 2560) กองทุนรวมเชิงรุกในสหรัฐฯ มีอัตราค่าธรรมเนียมลดลง 18%  ในขณะที่ค่าธรรมเนียมของกองทุนรวมดัชนี มีอัตราค่าธรรมเนียมลดลงอย่างมาก (ถึง 47% ในกองทุนหุ้น และ 56% ในกองทุนตราสารหนี้)

มาดูกันที่ประเทศไทยบ้าง แน่นอนว่าตลาดหุ้นของไทยเรายังไม่อยู่ในขั้นที่เรียกว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้ว และการลงทุนเพื่อให้ผลตอบแทนล้อกับบางดัชนีก็ไม่อาจกระทำได้โดยสมบูรณ์ เช่น ดัชนีที่สะท้อนราคาหุ้นทั้งตลาด (SET Index) ด้วยเหตุนี้ กองทุนรวมเชิงรุกจึงยังคงมีส่วนแบ่งตลาดในสัดส่วนที่สูง เมื่อเทียบกับกองทุนรวมดัชนี

สำหรับในด้านค่าธรรมเนียมนั้น จากผลการศึกษาของ Morningstar Global Fund Investor Experience Study 2017 พบว่าไทยมีระดับคะแนนโดยรวมที่ดีกว่าค่าเฉลี่ย และดีมากขึ้นกว่าปีก่อนหน้า จะเป็นรองก็เพียงออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ สวีเดน และสหรัฐอเมริกา ในขณะที่มีคะแนนดีกว่าอีกมากมายหลายประเทศทั้งในเอเซียและยุโรป ไม่ว่าจะเป็น นอรเวย์ สวิตเซอร์แลนด์ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน แคนาดา ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน ฯลฯ

ซึ่งหากแยกตามประเภทกองทุนแล้ว กองทุนรวมตราสารหนี้ของไทย เรียกได้ว่ามีอัตราค่าธรรมเนียมต่ำติดอันดับโลก เฉลี่ยเพียง 0.47% ต่อปีเท่านั้น ในขณะที่กองทุนหุ้นนั้น มีค่าจัดการกองทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.74% ต่อปี ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ แต่เมื่อเทียบกับศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคอย่างสิงคโปร์ (1.74% ต่อปี) และฮ่องกง (1.72% ต่อปี) ก็นับว่าไทยเราไม่ได้ขี้เหร่นัก

ความเห็นหนึ่งที่น่าสนใจของ Morningstar ในการศึกษานี้ คือ “นักลงทุนไทย สามารถหาอ่านบทความด้านกองทุนรวมในหนังสือพิมพ์ธุรกิจได้เป็นประจำทุกวัน แต่บทความเหล่านี้เกือบทั้งหมดมิได้กล่าวถึงค่าธรรมเนียมของกองทุนรวมในกรณีที่มีอัตราสูงแต่อย่างใด และน้อยนักที่จะส่งเสริมการลงทุนระยะยาว”

นับเป็นข้อวิจารณ์ที่น่าสนใจ และเชื่อว่าที่ผ่านมาคอลัมนิสต์การเงินของไทยหลายท่านได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่แล้ว เพียงแต่คงต้องส่งเสียงให้ดังยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม เพื่อที่ว่านักลงทุน (และ Morningstar) จะได้ยินเพิ่มมากขึ้น