TOP 5 วิกฤตเศรษฐกิจโลก

TOP 5 วิกฤตเศรษฐกิจโลก

สัปดาห์นี้ ผมได้มีโอกาสทำหน้าที่วิทยากรแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มและวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ต้องยอมรับว่าสิ่งที่ดูเหมือนเกือบเป็น Consensus ได้แก่ วิกฤตรอบใหม่อาจจะกำลังใกล้มาเยือนเราในอีกไม่ช้า โดยน่าจะมาในรูปแบบของหนี้หรือระบบการเงิน เพื่อเป็นการเตือนตัวเองให้เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต ผมขอเล่าถึง TOP 5 วิกฤตใหญ่ๆของโลกในอดีตที่ผ่านมา ไล่ตามเวลา ดังนี้

1.วิกฤติ 1930 Depression:

ถือเป็นกรณีศึกษาวิกฤตเศรษฐกิจแบบคลาสสิค โดยในปี 1929 ตลาดหุ้นสหรัฐเกิดฟองสบู่เป็นขาขึ้นแบบคาดไม่ถึง ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดในช่วงนั้น จึงตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่เผอิญขึ้นในปริมาณที่มากเกินไป จึงเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ระบบธนาคารดันมาเกิดวิกฤต แถมประเทศต่างๆเริ่มทยอยออกมาในแนวปกป้องทางการค้าเข้าไปอีก

ทว่าด้วยศาสตร์ด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคในช่วงต้นทศวรรษ 1930 ยังไม่แน่น (จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ยังไม่ได้เกิดในวงการเศรษฐศาสตร์เสียด้วยซ้ำ) เฟดกลับขึ้นดอกเบี้ยซ้ำวิกฤตที่กำลังคลุกกรุ่นอยู่เข้าไปอีก เศรษฐกิจก็เลยยิ่งถดถอยไปกันใหญ่ วิกฤต Great Depression 1930 จึงลากยาวข้ามทศวรรษมาจบแบบรอดตายในช่วงกลางทศวรรษ ส่วนหนึ่งจากความมั่นใจในนโยบายของประธานาธิบดีท่านใหม่ นามว่า แฟรงก์กิน ดี รูสเวลท์ ที่เรียกกันติดปากว่า New Deal ซึ่งถือเป็นความโชคดีของสหรัฐที่ยังสามารถรอดได้แบบเฉียดฉิวและมีโชคนิดๆ

ส่วนบทเรียนความเชื่อที่ผิดๆในช่วงนั้น หรือ คิดว่า This time is different ในตอนนั้น ได้แก่ จะไม่เกิดสงครามโลกอีกครั้ง เสถียรภาพทางการเมืองและการเติบโตเศรษฐกิจโลกอย่างเข้มแข็งจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงหนี้ในประเทศกำลังพัฒนายังอยู่ในระดับต่ำ จึงไม่น่าเกิดวิกฤต

2.วิกฤตหนี้ ยุค1980s

ในยุค 1970 ต่อ 1980 ไม่มีอุตสาหกรรมใดที่รุ่งเรืองเท่ากับ อุตสาหกรรมน้ำมัน เนื่องจากราคาโภคภัณฑ์อยู่ในโซนสูง โดยกลุ่มประเทศที่มีอิทธิพลสูงสุด ได้แก่ กลุ่มประเทศที่ส่งออกน้ำมันหรือโอเปก โดยรายได้จากการขายน้ำมันดิบของโอเปกในรูปของดอลลาร์ หรือ PetroDollar ภายใต้บรรยากาศอัตราดอกเบี้ยต่ำ ถูกนำไปลงทุนในโปรเจคต์โครงสร้างพื้นฐานที่มีผลตอบแทนสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านสถาบันการเงินละตินอเมริกาที่ให้ผลตอบแทนล่อใจไว้สูงมาก โดย Mindset ของคนในตอนนั้นคือแบงก์มีความเสี่ยงที่ต่ำ เนื่องจากจะได้รับการ Bail out จากรัฐบาลหากจะล้มละลาย รวมถึงแบงก์เองก็มีแรงจูงใจในการตรวจสอบข้อมูลเพราะเป็นสินทรัพย์ของตนเอง

อย่างไรก็ดี เมื่อแบงก์ในละตินอเมริกาเริ่มปล่อยกู้ให้กับโปรเจคต์ที่เป็นฟองสบู่ ความเลวร้ายของเงินลงทุนในรูป PetroDollar ก็เริ่มมาเยือน มีการเบี้ยวหนี้กับกลุ่มประเทศส่งออกน้ำมัน มากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น วิกฤตหนี้ ยุค 1980s

ส่วนบทเรียนความเชื่อที่ผิดๆในช่วงนั้น คือ เมื่อราคาโภคภัณฑ์อยู่ในโซนสูง อัตราดอกเบี้ยต่ำ เงินจากการขายน้ำมันดิบถูกหมุนเวียนกลับมาสร้าง โปรเจคต์โครงสร้างพื้นฐานที่มีผลตอบแทนสูง และการปล่อยกู้ผ่านสินเชื่อธนาคารถือว่าปลอดภัยเนื่องจากมีแรงจูงใจในการตรวจสอบข้อมูล จึงไม่น่าเกิดวิกฤต

3.วิกฤติหนี้ ยุค1990s ในเอเชีย

ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 โดยสาเหตุหลักคือการที่ไม่สามารถหลุดจากกับดัก Impossible Trinity หรือ การไม่สามารถมี 1) กระแสเงินทุนไหลเข้าออกอย่างเสรี 2) นโยบายการเงินที่อิสระ และ 3) อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราคงที่ พร้อมกันได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งจอร็จ โซรอส และเฮดจ์ฟันด์ต่างๆ ก็ใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ ในการโจมตีค่าเงินบาทเนื่องจากทราบว่าแบงก์ชาติมีสำรองเงินตราระหว่างประเทศอยู่จำกัด จนเราต้องเปิดเสรีอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในที่สุด นอกจากนี้ ยังมีการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นฟองสบู่ของบรรดาสถาบันที่กู้เงินนอกมาในดอกเบี้ยที่ต่ำ จนสถาบันการเงินหลายแห่งต้องปิดกันระนาว

ส่วนบทเรียนความเชื่อที่ผิดๆในช่วงนั้น: ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเสถียรภาพด้านการคลัง อัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพ และอัตราการออมและการเติบโตที่สูง จึงไม่น่าเกิดวิกฤต รวมถึงไม่เคยประสบกับวิกฤตการเงินใหญ่มาก่อน

4.วิกฤติหนี้ ยุค1990s and 2000s ในละตินอเมริกา

วิกฤตนี้ มีความคล้ายกับวิกฤตหนี้ ยุค 1980s ทว่าเปลี่ยนมาเป็นวิกฤตในหุ้นกู้ในละตินอเมริกาแทน โดยบทเรียนความเชื่อที่ผิดๆในช่วงนั้น: หนี้โดยส่วนใหญ่อยู่ในรูปของหุ้นกู้ไม่ใช่ในรูปของสินเชื่อของธนาคาร ด้วยเหตุที่จำนวนผู้ถือหุ้นกู้มีมากกว่าจำนวนของแบงก์ที่ปล่อยกู้ จึงทำให้การเจรจาต่อรองทำได้ยากกว่า รัฐบาลที่เป็นลูกหนี้จึงมีแนวโน้มจะไม่เบี้ยวหนี้ จึงไม่น่าเกิดวิกฤต

5.ช่วงปี2000 จนกระทั่ง US Subprime 2008

เบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานเฟด ยังเคยเข้าใจผิดในเดือนมีนาคม 2007 คิดว่าจะไม่มีวิกฤตในช่วงนั้น โดยวิกฤตครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ตราสารทางการเงินที่สินเชื่อซึ่งเป็นไส้ในได้รับการจัดอันดับเครดิตเป็น AAA แม้จะไม่มีพื้นฐานที่ดีอยู่จริง ผู้ถือครองตราสารนี้ที่เป็นสถาบันการเงินและบุคคลทั่วไปจึงถูกเบี้ยวหนี้และเกิดวิกฤตสภาพคล่องในแบงก์ใหญ่ต่างๆในสหรัฐอย่างหนักในเดือนกันยายน 2008 จนเป็น Global Financial Crisis

ส่วนบทเรียนความเชื่อที่ผิดๆในช่วงนั้น: ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้วจากผลของโลกาภิวัฒน์ เทคโนโลยีก้าวล้ำ ระบบการเงินที่เหนือกว่าทุกยุค นโยบายการเงินที่ทันสมัย และปรากฏการณ์ Securitized Debt ที่ทุกฝ่ายจะ Win จึงไม่น่าเกิดวิกฤตอีก

ส่วนวิกฤตรอบใหม่นั้น น่าจะมีหน้าตาอย่างไร ติดตามได้ในครั้งหน้า

หมายเหตุ : ท่านที่สนใจงานสัมมนาคอร์ส เจาะลึก Next Crisis? วิกฤตหนี้โลก: โอกาสในความเสี่ยงของนักลงทุนพร้อมมุมมองปี 2019 ในวันเสาร์ที่ 19 มกราคม 2562 สามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง facebook.com/MacroView