ทำไมหุ้นตกทั่วโลก

ทำไมหุ้นตกทั่วโลก

สองอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมเดินทางตลอดตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม มีโปรแกรมสอนหนังสือที่ญี่ปุ่น เป็นหลักสูตรปริญญาโท ด้านนโยบายสาธารณะ

ที่มหาวิทยาลัย ฮิโตสุบาชิ (Hitotsubashi University) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จากนั้นก็ไปร่วมประชุมเรื่องเศรษฐกิจ ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ เลยไม่ได้อยู่เมืองไทยในช่วงเทศกาลของเรา แต่ก็ส่งใจตลอด ด้วยความปิติยินดีในช่วงเวลาที่เป็นมงคลของประเทศ

คำถามที่มีมากขณะนี้ คือ ทำไมเศรษฐกิจโลกมีปัญหามาก ทั้งเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน กรณีเบร็กซิท (Brexit) ที่รัฐบาลอังกฤษยังนำเรื่องเข้าสภาไม่ได้ รวมถึงกรณีประท้วงที่ฝรั่งเศส ที่ขณะนี้ได้แพร่ไปหลายประเทศในยุโรป กระทบธุรกิจและการท่องเที่ยว และดูจะเป็นเรื่องใหญ่ ตลาดหุ้นก็ปรับตัวด้วยความผันผวนรับข่าวและสถานการณ์ดังกล่าว แสดงแนวโน้มอ่อนตัวต่อเนื่องจากที่ได้ปรับลดลงตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน ในหลายตลาดทั่วโลกรวมถึงไทย ราคาหุ้นได้ปรับลดลงต่ำกว่าระดับเปิดตลาดตอนต้นปี อาทิตย์ก่อนได้ให้สัมภาษณ์วิทยุ เอฟเอ็ม 105 ในรายการของคุณศลิลนา ภู่เอี่ยม เป็นการสัมภาษณ์ตามปรกติ ช่วงวันจันทร์เช้า ก็ได้คุยกันเรื่องนี้และสัญญาว่าจะเขียนเรื่องว่า ทำไมหุ้นตก วันนี้ก็เลยจะเขียนเรื่องนี้

การอ่อนตัวของตลาดหุ้นทั่วโลกตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน สะท้อนสามปัจจัยที่กระทบการตัดสินของนักลงทุน คือ ปัจจัยแรก เรื่องเศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลกขณะนี้ขยายตัวผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และอยู่ในแนวโน้มที่จะชะลอตัวจากนี้ไป อยู่ในขาลงของวัฎจักรเศรษฐกิจ เพราะปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่เคยมีได้ลดบทบาทลง ทำให้พื้นฐานของเศรษฐกิจโลกอ่อนแอลงเทียบกับเมื่อหกเดือนก่อนหน้า ปัจจัยสนับสนุนที่หายไป หรือเปลี่ยนไปคือ อัตราดอกเบี้ยที่จะเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐที่จะมีต่อ แม้อาจจะไม่มากหรือเร็วเท่ากับที่ตลาดเคยคาดไว้ ทำให้ต้นทุนการเงินในระบบเศรษฐกิจโลกจะสูงขึ้นอีก การค้าโลกที่ชะลอตัวลงจากผลของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ และราคาน้ำมันที่ผันผวนตามมาตรการไม่ค้าขายกับอิหร่าน และการลดเป้าการผลิตของกลุ่มโอเปค การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ทำให้วัฎจักรหนี้ในระบบการเงินโลกเปลี่ยนจากขาขึ้นของการสร้างหนี้ ผ่านระบบการเงินที่กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย มาเป็นขาลงของการลดหนี้( Deleveraging) จากที่ภาระชำระหนี้ได้เพิ่มสูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งหมายถึงการชะลอตัวของการใช้จ่าย ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอ กระทบความสามารถในการทำกำไรของบริษัท

การเปลี่ยนจากวัฎจักรขาขึ้นของเศรษฐกิจโลกมาเป็นขาลงเป็นเรื่องปกติ ที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวเปลี่ยนมาเป็นการชะลอตัว ก่อนที่จะกลับมาเป็นขยายตัวใหม่ คราวนี้ก็เช่นกัน แต่ที่มักจะก่อให้เกิดปัญหาก็คือ ผลที่จะมีต่อประเทศตลาดเกิดใหม่จากกระบวนการลดหนี้ที่มักสร้างปัญหาให้กับเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในประเทศที่มีหนี้มากจากผลกระทบของเงินทุนไหลออก ค่าเงินที่อ่อนลง และอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ปรับสูงขึ้น ทำให้ภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาหนี้เสียที่อาจบานปลายเป็นปัญหาเชิงระบบ ในคราวนี้มีหลายประเทศช่วงกลางปีนี้ ที่ได้รับแรงกดดันมากจนเกิดปัญหาชำระหนี้ เช่น ตุรกี อาเจนติน่า แอฟริกาใต้ จนมีความเป็นห่วงว่า อาจเกิดเป็นวิกฤติเศรษฐกิจได้ แต่ขณะนี้ ค่าเงินของประเทศเหล่านี้ ได้กลับมาแข็งค่าขึ้น จากที่การส่งออกปรับตัวดีขึ้น หลังการอ่อนตัวของค่าเงิน ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจดูดีขึ้น แต่ก็ยังเป็นความเสี่ยงอยู่

แต่ที่เป็นห่วงกันมาก คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกคราวนี้ อาจนำไปสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ(recession) เพราะคราวนี้ นี้ มีสองปัจจัยที่จะสร้างความเสี่ยงเพิ่มเติมให้กับเศรษฐกิจโลกช่วงขาลง ปัจจัยแรกคือทั้งสหรัฐและจีนที่เป็นเศรษฐกิจอันดับหนึ่งและอันดับสองของโลกมีสัดส่วนรวมกันประมาณ หนึ่งในสามของจีดีพีโลก กำลังชะลอตัวลงพร้อมกันจากผลของสงครามการค้า ล่าสุด ข้อมูลไตรมาสสาม ชี้ว่า ทั้งจีนและสหรัฐมีการขยายตัวลดลง เมื่อสองประเทศนี้ชะลอและไม่มีประเทศไหนหรือภูมิภาคไหนมาทดแทนเป็นหัวขบวนให้กับเศรษฐกิจโลกได้ โอกาสที่การชะลอตัวจะนำไปสู่ภาวะถดถอยก็มีสูง

ปัจจัยที่สองคือ ปัญหาการเมืองและปัญหาภูมิศาสตร์การเมืองที่มีมากขณะนี้ในเศรษฐกิจโลก ทำให้ความไม่แน่นอนด้านนโยบายมีสูงมาก อันดับแรก คือ สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ที่ได้กลายเป็นข้อพิพาททางการเมืองไปแล้ว ทำให้การหาข้อยุติจะยากและใช้เวลา เพราะจะมาจากการต่อรองทางการเมืองมากกว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทและในทางการเมืองก็ได้บานปลายไปกระทบภาคธุรกิจอื่นๆ เช่น กรณีของบริษัทแอปเปิ้ล และบริษัทหัวเว่ยที่ผู้บริหารถูกสหรัฐเรียกให้ตำรวจแคนาดาจับกุม ปัญหาเบร็กซิท(Brexit) เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เป็นความไม่แน่นอน เพราะไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไร หลังมีการเลื่อนการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกไปทำให้รูปแบบการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษยังไม่มีข้อตกลงชัดเจนและล่าสุด กรณีประท้วงที่ฝรั่งเศส โดยกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองที่สะท้อนปัญหาของชนชั้นกลางฝรั่งเศสที่มาตราฐานความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันตกต่ำลงจากนโยบายของรัฐและผลของโลกาภิวัฒน์ การประท้วงกำลังลามไปในประเทศอื่นๆ ในยุโรป เช่น เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ สวีเดน ชี้ถึงความเปราะบางของการเมืองในยุโรปขณะนี้ ซึ่งเป็นปัญหาที่จะใช้เวลาในการแก้ไข ทำให้ปีหน้า ความเสี่ยงด้านการเมืองจะเป็นปัจจับลบสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้ความไม่แน่นอนด้านนโยบายจะมีต่อเนื่อง กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน สร้างข้อจำกัดให้กับการเติบโตของเศรษฐกิจ และกดดันตลาดหุ้นให้ปรับลดคลง

สำหรับในแง่ตลาดหุ้นเอง เศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอและมีความเสี่ยงที่อาจถดถอยในปีหน้า สร้างแรงกดดันต่อกำไรของบริษัท ทำให้มูลค่าหุ้น(Valuation) ซึ่งปีที่แล้วปรับขึ้นสูงมาก ขณะนี้ดูจะสูงไปเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานที่เปลี่ยนไป กดดันให้ราคาหุ้นปรับลดลง และการปรับลดคงมีต่อถ้าเศรษฐกิจโลกอ่อนตัวต่อเนื่อง

นี่คือ สามปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือภาวะตลาดที่ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกอ่อนตัวลง และคงจะอ่อนตัวต่อไป นี่คือ ข้อคิดที่อยากจะฝากไว้