ประเทศไทยพร้อมแค่ไหนกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งต่อไป

ประเทศไทยพร้อมแค่ไหนกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งต่อไป

ศรษฐกิจโลกเพิ่งก้าวข้ามวิกฤตเศรษฐกิจครั้งล่าสุดที่อุบัติขึ้นในปี 2551 ได้เพียงไม่กี่ปี

ก็เริ่มมีกูรูและผู้มีชื่อเสียงหลายท่านออกมาพูดถึงวิกฤตครั้งต่อไป มีการระบุกระทั่งว่า วิกฤตครั้งใหม่จะอุบัติขึ้นในปี 2563 อีกเพียงปีกว่าๆ หลังจากนี้ และอาจจะมีความรุนแรงกว่าวิกฤตปี 2551 อีก

แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกูรูเหล่านี้ไม่อยากซ้ำรอยปี 2551 ที่พวกเขา “พลาด” ไม่เห็นการมาเยือนของวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกที่รุนแรงที่สุดในรอบแปดสิบปี รอบนี้จึงต้องออกมา “เตือน” ล่วงหน้า แต่เหตุผลของพวกเขาก็น่าฟังไม่น้อย

ทำไมปี 2563 ก็เพราะมีความเป็นไปได้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา อาจจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนั้น หลังจากที่ยาโด๊ปเศรษฐกิจจากมาตรการปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์หมดฤทธิ์ลง ประกอบกับตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2562 เป็นต้นไป จะเป็นครั้งแรกที่เศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวต่อเนื่องเกิน 120 เดือน ซึ่งเป็นสถิติของการขยายตัวที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ (วัดโดย National Bureau of Economic Research) ที่ทำไว้ก่อนเกิดวิกฤตดอทคอมปี 2544

ทำไมวิกฤตครั้งใหม่อาจจะรุนแรงกว่าวิกฤตปี 2551 เหตุผลที่กูรูส่วนใหญ่หยิบยกขึ้นมามีสามข้อหลัก ข้อแรก ในรอบนี้ เสาหลักทางเศรษฐกิจที่ช่วยค้ำยันเศรษฐกิจโลกฝั่งตะวันออก คือ เศรษฐกิจจีน ไม่ได้เข้มแข็งเท่าในอดีต โดยนอกเหนือจากประเด็นความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐฯ แล้ว ยังมีเรื่องปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในประเทศจีนเองที่อ่อนแอลง

ข้อที่สอง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่หล่อเลี้ยงการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกทยอยลดลง พร้อมกับต้นทุนทางการเงินระหว่างประเทศที่สูงขึ้น ซึ่งในปีนี้ เราเห็นประเทศตลาดเกิดใหม่หลายประเทศเผชิญความยากลำบากในการบริหารจัดการเศรษฐกิจมากขึ้น แม้ล่าสุด ตลาดจะคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยน้อยครั้งลงจากที่เคยให้แนวทางไว้ แต่ก็ยังเป็นการขึ้นอยู่ อีกอย่างน้อยก็สามครั้งจากระดับปัจจุบัน

ข้อสุดท้าย ประเทศส่วนใหญ่มีขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อรองรับการถดถอยของเศรษฐกิจ หรือ Policy space ที่ต่ำกว่าในปี 2551 มาก โดยเฉพาะในประเทศอุตสาหกรรมหลัก ที่ผลพวงจากการต่อสู้กับวิกฤตปี 2551 ทำให้ระดับหนี้สาธารณะในหลายประเทศปรับสูงขึ้นใกล้หรือเกินร้อยละ 100 ต่อจีดีพี (จำกัด Policy space ในการดำเนินนโยบายการคลัง) ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงมาอยู่ใกล้ศูนย์ (จำกัด Policy space ในการดำเนินนโยบายการเงิน) ซึ่งหมายความว่า ภาครัฐแทบจะไม่สามารถทำอะไรได้เลยในกรณีวิกฤต

อย่างไรก็ดี เมื่อไปสำรวจตรวจสอบประมาณการเศรษฐกิจโลกล่าสุด พบว่า องค์กรระหว่างประเทศและผู้เล่นในตลาดยังมองภาพค่อนข้างดีอยู่ ว่าแม้เศรษฐกิจโลกในช่วงปีสองปีข้างหน้านี้จะชะลอตัวลง แต่ไม่ได้เลวร้าย เป็นเพียงการชะลอลงจากที่ขยายตัวสูงกว่าศักยภาพพอสมควรในปีที่แล้ว กลับสู่ระดับศักยภาพ หรือต่ำกว่าศักยภาพเล็กน้อย

กระนั้นก็ตาม บทเรียนจากปี 2551 ชี้ว่า เราไม่ควรเชื่อมั่นในประมาณการเศรษฐกิจมากเกินไป คำถามสำคัญสำหรับผู้ดำเนินนโยบาย คือ ถ้าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยพร้อมแค่ไหน

ถ้าเศรษฐกิจโลกเพียงแค่ชะลอตัว เราคงไม่มีปัญหามาก ด้วยเครื่องยนต์เศรษฐกิจภายในของเราเองยังมีแนวโน้มที่ดี ทั้งการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนที่อยู่ในช่วงต้นของวัฏจักรขาขึ้น โดยเฉพาะโครงการ EEC ที่ไม่ว่าใครมา เป็นรัฐบาลก็คงสานต่อ รวมถึงเม็ดเงินในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปถึงปี 2565 แต่ในกรณีวิกฤตที่ทำให้การส่งออกสินค้าติดลบ นักท่องเที่ยวไม่เดินทางมา วัฏจักรของการใช้จ่ายภาคเอกชนในประเทศก็จบลงได้ง่ายๆ

หากจะมีให้อุ่นใจอยู่บ้าง คงเป็นขนาดของเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และความเข้มแข็งของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งทั้งสองปัจจัยมีส่วนอย่างมากในการค้ำจุนเสถียรภาพด้านต่างประเทศและเสถียรภาพของระบบการเงิน ในปี 2551-2552 ครั้งนี้ก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกัน

สำหรับ Policy space ถ้าเป็นด้านการคลัง ถือว่ายังมีขีดความสามารถในการรองรับวิกฤตได้ดี ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 41.7 แม้จะสูงกว่าร้อยละ 35.8 ณ สิ้นปี 2551 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้าจากการลงทุนของภาครัฐ แต่ก็ยังอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังพอสมควร

ในทางตรงกันข้าม Policy space ในด้านนโยบายการเงิน ถือว่ามีน้อยมาก ตอนเกิดวิกฤตปี 2551 ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 4 ครั้ง จากร้อยละ 3.75 ต่อปี เป็นร้อยละ 1.25 ต่อปี โดยครั้งแรกปรับลงถึงร้อยละ 1.00 ขณะที่ในปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. อยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี

การเร่งเสริมสร้าง Policy space จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง นอกเหนือจากความกังวลต่อผลข้างเคียงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ที่กรรมการเสียงข้างน้อยในคณะกรรมการนโยบายการเงินสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบัน

โดยพวกเขาประเมินว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มชะลอลง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ก็เข้มแข็งเพียงพอที่จะรองรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งสองครั้ง โดยไม่ทำให้แรงส่งของการขยายตัวของเศรษฐกิจสูญเสียไป ขณะที่ Policy space ที่จะได้เพิ่มขึ้น แม้เพียงเล็กน้อย แต่มีความหมายมาก หากวิกฤตเศรษฐกิจโลกอุบัติขึ้น เป็นการซื้อประกันความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจที่คุ้มค่า