ภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง ผลงานโบว์แดงรัฐบาล

ภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง ผลงานโบว์แดงรัฐบาล

ประเทศไทยมีความพยายามพัฒนาภาษีที่ดินใหม่ เพื่อทดแทนภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 และภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ที่ใช้มานานกว่า 50 ปี

 โดยจะมีการควบรวมภาษีทั้งสองนี้มาเป็นภาษีใหม่เรียกว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.....

ประเด็นสำคัญคือ ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างไรกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่นี้ เพราะเป็นภาษีที่คนไทยรอคอยมานานและไม่มีรัฐบาลชุดใดๆ ก่อนหน้านี้ที่สามารถผลักดันได้ แต่เมื่อภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสามารถคลอดออกมาได้สำเร็จก็ถือว่ารัฐบาลชุดนี้ได้แสดงความสามารถที่ไม่เคยมีรัฐบาลก่อนหน้าทำได้มาก่อน คล้ายๆ กับการตรา พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ที่เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของรัฐบาล ที่ไม่มีรัฐบาลใดทำสำเร็จมาก่อนเช่นกัน

ประเด็นที่จะขอชวนให้คิดเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่นี้ คือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้มีลักษณะที่น่าสนใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การยกเว้นบ้านและที่ดินหลังแรก 50 ล้านบาทหรือบ้านอย่างเดียว 10 ล้านบาท 2) เป็นภาษีที่ดินแบบอัตราก้าวหน้า หมายความว่าใครมีที่ดินมากก็ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น และ 3) ที่ดินว่างเปล่าจะต้องเสียภาษีในอัตราสูงขึ้นทุกๆ 3 ปี เพื่อจูงใจให้มีการนำที่ดินมาใช้ประโยชน์

ในประเด็นที่ 1) เงินได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้จะเป็นรายได้สำคัญให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อนำมาพัฒนาพื้นที่ตนเอง นำไปสู่การกระจายความเจริญ แต่การยกเว้นภาษีให้กับเจ้าของบ้านและที่ดินที่มีมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท หมายความว่าเจ้าของบ้านและที่ดินจำนวนมากในประเทศไทยจะไม่ต้องเสียภาษีที่ดินเลย ซึ่งจะทำให้ อบต.หรือเทศบาลจำนวนมากทั่วประเทศไม่มีรายได้เพิ่มขึ้นมากมายนักจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ พื้นที่ๆ จะมีรายได้จากภาษีนี้อย่างเป็นกอบเป็นกำ คือ กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ หรือภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่ๆ มีคนรวยอาศัยอยู่และเป็นพื้นที่ๆ มีการพัฒนาดีอยู่แล้ว ส่วนพื้นที่อื่นๆ ที่มีการพัฒนาในระดับปานกลางหรือเป็นพื้นที่ยากจนก็จะไม่มีรายได้จากภาษีที่ดินมาช่วยการพัฒนามากนัก

ดังนั้นผลของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้น่าจะเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากกว่าการกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่างๆ

หากรัฐบาลต้องการกระจายความเจริญและสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจริง สิ่งที่ควรทำคือ ลดมูลค่าการยกเว้นบ้านและที่ดินหลังแรกให้ต่ำลง และที่สำคัญคือต้องให้รายได้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้นำส่งเข้ากระทรวงการคลังทั้งหมด เพื่อให้กระทรวงการคลังนำรายรับภาษีที่ดินนี้มาจัดสรรใหม่ โดยจัดสรรให้องค์กรปกครองท้องถิ่นที่ยากจนในสัดส่วนที่สูงกว่า และองค์กรปกครองที่มีฐานะดีต้องได้รับการจัดสรรรายได้ในสัดส่วนที่น้อยกว่า กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ รายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ ต้องถูกกระจายไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่ยากจนด้วย

ประการที่ 2) การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราก้าวหน้านั้นเป็นสิ่งที่ต้องคิดหนัก เพราะที่ดินไม่ได้ทำหน้าที่เพียงที่อยู่อาศัยเพื่อการบริโภคเท่านั้น แต่ที่ดินยังทำหน้าที่อื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจด้วย ได้แก่ การประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ การลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือการออมในรูปที่ดิน ดังนั้น หากมีการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าไม่ว่าจะเป็นที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่ดินเพื่อการพาณิชยกรรมที่ล้วนต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าย่อมหมายความว่าการทำมาหากินต่างๆ ต่อไปนี้ ต้องถูกบิดเบือนไปเป็นกิจกรรมที่ใช้ที่ดินน้อยเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียภาษีที่ดินในอัตราที่สูง การประกอบกิจการที่ต้องใช้ที่ดินมากหรือการลงทุนขนาดใหญ่ที่ใช้ที่ดินมากก็จะเกิดยากขึ้น และการออมในรูปที่ดินก็จะลดลง ผลกระทบในลักษณะนี้จะบั่นทอนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะจะสร้างความบิดเบือนให้กับการใช้ที่ดิน หากรัฐบาลต้องการจัดการกับปัญหาคนรวยที่มีที่ดินมากก็ควรเน้นการใช้กลไกภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีภาษีเงินได้นิติบุคคล และที่สำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าเพื่อจัดการกับปัญหาการผูกขาดในธุรกิจต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ไม่ใช่มาเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า

ประการที่ 3) การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 3 ปีสำหรับที่รกร้างว่างเปล่าเพื่อให้มีการนำที่ดินออกมาใช้ประโยชน์มากขึ้นนั้น จากข้อมูลภาพรวมของประเทศพบว่า ประเทศไทยมีที่ดินรกร้างว่างเปล่าเพียงร้อยละ 3 ของพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมดเท่านั้น ส่วนใหญ่พบว่าที่ดินของประชาชนที่ไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่นั้นมีสาเหตุหลายประการ เช่น ที่ดินไม่มีทางเข้าออก หรือเป็นที่ตาบอด ที่ดินที่ไม่มีการจัดรูปให้เหมาะสม เช่น ที่ชายธง เศษที่ดิน รูปแปลงเล็กเกินกว่าจำนำมาพัฒนา เป็นต้น ที่ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ หรือเป็นที่ดินในพื้นที่ๆ ไม่มีโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น ถึงแม้จะมีการเก็บภาษีที่ดินที่ไม่มีการใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นเป็น 500% ก็ไม่สามารถทำให้ที่ดินที่มีปัญหาเช่นนี้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้ สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการสำหรับที่ดินรกร้างว่างเปล่าคือ การเวนคืนที่ดินเหล่านี้และนำมาจัดรูปที่ดินใหม่ รวมทั้งการลงทุนในสาธารณูปโภคให้เหมาะสม และปล่อยให้กลไกตลาดทำหน้าที่นำที่ดินเหล่านี้มาสู่การใช้ประโยชน์โดยธรรมชาติ อย่าลืมว่าปัญหาที่ดินที่ไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ส่วนหนึ่งเป็นที่ดินของรัฐเอง ไม่ใช่ที่ดินเอกสารสิทธิ์ของประชาชน

ผลกระทบของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่อการพัฒนาประเทศจะเป็นอย่างไรก็ต้องคอยดูกัน แต่หากมองย้อนกลับไปยังผลงานชิ้นโบว์แดงก่อนหน้านี้ของรัฐบาล คือการออกฎหมายภาษีการรับมรดกก็พบว่าช่วงเวลา ตุลาคม 2559 - กันยายน 2560 รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บภาษีทั้งหมดประมาณ 2,800,000 ล้านบาท จากรายรับจำนวนนี้กระทรวงการคลังเก็บภาษีการรับมรดกทั่วทั้งประเทศได้เพียง 65 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.23 ของรายรับทั้งหมดของรัฐบาลเท่านั้น หากภาษีการรับมรดกเก็บเงินจากคนรวยได้เพียงแค่นี้แล้วจะไปแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศได้อย่างไร ส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่นี้จะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงแบบภาษีการรับมรดกอีกหรือไม่ก็ต้องคอยดูกันไป

โดย... อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

ภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง ผลงานโบว์แดงรัฐบาล