สร้างวัฒนธรรมดิจิทัลก่อนใช้ดิจิทัล

สร้างวัฒนธรรมดิจิทัลก่อนใช้ดิจิทัล

ใครมีเงินมีทองก็ซื้อหาสารพัดอุปกรณ์ดิจิทัลมาใช้กันได้ทุกคน แต่บางคนซื้อมาแล้วการงานดีขึ้น บางคนซื้อมาแล้วการงานแย่ลง

เพราะหมดเวลาไปกับอะไรก็ไม่รู้ที่มาจากดิจิทัล ที่หนักไปกว่านั้น คือ ท่านผู้บริหาร ไม่ว่าเล็กใหญ่ในโลกวันนี้ ท่องกันขึ้นใจว่า เราต้องเดินหน้าดิจิทัลกันขนานใหญ่ แต่งานวิจัยจากแทบทุกสำนักวิจัยที่โด่งดังในวันนี้ บอกเกือบจะตรงกันว่า การรีบร้อนซื้อหาเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้งานในองค์กร ในทำนองเห็นใครมีอะไร ฉันก็จะมีอย่างนั้นบ้าง ไม่ได้ประโยชน์อย่างที่คาดคิดไว้เลย จะซื้อมามากมายแค่ไหน ถ้าผู้นำและบุคลากรยังไม่มีวัฒนธรรมดิจิทัลในใจแล้ว ของที่ได้มาไม่ต่างไปจากไก่ได้พลอย ตั้งงบประมาณกันใหญ่โตจะซื้อหาระบบวิเคราะห์ข้อมูล ที่ชอบเรียกกันว่าบิ๊กดาต้า ทั้งๆ ที่เป็นแค่ฐานข้อมูลธรรมดาๆ เท่านั้น สำหรับผู้บริหารในบางประเทศ คำว่า ไอโอที เป็นแค่อุปกรณ์ที่ต่ออินเทอร์เน็ตได้เท่านั้น ซื้อมาทั้ง 2 อย่างด้วยเงินมากมาย ด้วยความเข้าใจที่ไม่กระจ่าง ผลที่ได้คือความเท่ห์ที่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ นอกจากเอาไว้คุยว่าฉันก็มีเหมือนกัน คล้ายๆ กับที่ซื้อเครื่องบินมาแล้ว แต่นักบินยังไม่ได้ไลเซนต์ให้บินเครื่องรุ่นนั้น มีเครื่องบินก็จริง แต่มีไว้จอด ไม่ใช่มีไว้บิน วัฒนธรรมดิจิทัลจึงเป็นเหมือนไลเซนต์ของผู้บริหาร และบุคลากร ในการใช้ดิจิทัล สร้างการปรับเปลี่ยนให้องค์กรประสบความสำเร็จมากขึ้น

 วัฒนธรรมดิจิทัลอยู่ในตัวคนที่มองข้างนอก ไม่น้อยกว่ามองข้างใน ถ้ายังคิดแค่ว่าฉันจะซื้อดิจิทัลมาทำอะไรภายในองค์กรของฉัน ก็อย่าเพิ่งเสียเงินซื้อหาดิจิทัลเลย เพราะดิจิทัลที่ลงทุนไปนั้น ประโยชน์ชัดๆ อยู่ข้างนอกองค์กร คือใช้ลดความยุ่งยากในการรับบริการต่างๆ ของลูกค้า ใช้เติมเต็ม ความรู้สึกดีๆ ให้กับลูกค้า ดีที่สุดคือปรับเปลี่ยนมาใช้ดิจิทัลแล้ว ลูกค้าพอใจมากขึ้น พร้อมกับต้นทุนที่ลดลง ก่อนคิดลงทุนครั้งใหญ่ทางดิจิทัล ท่านต้องเห็นข้างนอกชัดเจนว่าอะไรคือทุกข์ อะไรคือสุขของลูกค้าเสียก่อน ลูกค้าทุกข์อยู่กับการรอคิว อย่าไปใช้ดิจิทัลออกบัตรคิวแทนคนแจกคิว แต่ต้องใช้ดิจิทัลมากำจัดคิวให้ทุเลาเบาบาง หรือไม่ก็หมดไปเลย

วัฒนธรรมดิจิทัลอยู่ในคนที่คิดจะลงมือทำ มากกว่าคนที่ชอบคิดแผน ใครจะวางแผนก็วางไป แต่คนที่มีวัฒนธรรมดิจิทัลวางแผนแล้วลงมือทำทันที มีปัญหาตรงไหน ก็ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หาเหตุ หาหนทางแก้ไขให้หมดปัญหานั้นไป เจอปัญหาใหม่ก็ลุยแก้กันใหม่ คนที่วางแผน 30 - 40 ปี คงไม่ค่อยมีวัฒนธรรมดิจิทัล เพราะท่านไม่ตระหนักว่าดิจิทัลเปลี่ยนแปลงเร็วมาก แค่คิดแล้วทำทันที ยังไล่ไม่ค่อยจะทัน ไม่มีใครในวันนี้ที่คิดแผนที่ใช้ได้ไปไกล 30 - 40 ปีได้ แค่เดือนหน้า ปีหน้าจะเปลี่ยนแบบหน้ามือหลังมือมากแค่ไหน ในวงการใดบ้าง ก็ยากที่จะคาดเดาแล้ว

วัฒนธรรมดิจิทัล อยู่ในคนที่เชื่อมั่นในข้อมูล และพยายามรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าอะไรเกิดขึ้น เกิดขึ้นได้อย่างไร เปลี่ยนข้อมูลให้กลายเป็นสาระและความรู้ที่บอกได้ว่าวันหน้า ถ้าอยากให้มีอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องทำอะไรบ้างในวันนี้ ซึ่งเน้นทำไปโดยมีการรวบรวมข้อมูลไป วิเคราะห์ไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งแน่นอนว่าไม่ว่าข้อมูลสาระจะเต็มที่แค่ไหน โอกาสพลาดพลั้งไปก็ยังมีอยู่ ผลิตภัณฑ์จากยักษ์ใหญ่ในวงการดิจิทัล ไม่มีผลิตภัณฑ์ใดเลยที่ออกมาแล้ว ไม่ต้องอัพเดทเพิ่มเติม มีแต่อัพเดทกันไม่รู้อีกกี่เวอร์ชั่น วัฒนธรรมลงมือทำในทันที จึงต้องมาพร้อมกับผู้นำที่พร้อมจะยอมรับความบกพร่องของการลงมือทำ ไม่ใช่ผู้นำที่เร่งรัดให้บุคลากรทำสารพัดโครงการ แต่ทุกโครงการห้ามพลาดเด็ดขาด ใครพลาดฉันเล่นงานเต็ม ๆ มาพร้อมกับคนทำงานที่กล้าพลาด โดยไม่แก้ตัว

มองลูกค้า มองข้างนอก ไม่น้อยกว่าข้างใน ใส่ใจข้อมูลสาระ กล้าทำ กล้าพลาดโดยไม่แก้ตัว และไม่เหยียบซ้ำ คือวัฒนธรรมที่ต้องมีในผู้นำและบุคลากร ก่อนจะคิดไปไกลด้านดิจิทัล