ปัญหาเด็กกำพร้าในอาเซียน

ปัญหาเด็กกำพร้าในอาเซียน

เจ้าหน้าที่สถานรับดูแลเด็กกำพร้าในเมียนมา ออกมาแสดงความกังวลถึงจำนวนเด็กกำพร้าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงปีที่ผ่านมา กรมสังคมสงเคราะห์ กระทรวงสวัสดิการสังคม การกู้ภัย และการตั้งถิ่นฐานใหม่ (Ministry of Social Welfare, Rescue and Resettlement) ของเมียนมารายงานว่า ในประเทศมีศูนย์ดูแลเด็กกว่า 280 แห่ง ซึ่งรองรับเด็กกำพร้าได้ประมาณ 36,000 คน โดยในจำนวนนี้ยังไม่นับรวมเด็กกำพร้าที่อยู่นอกศูนย์อีกเป็นจำนวนมาก

นางออง ซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐ ได้มอบหมายให้กระทรวงสวัสดิการสังคม การกู้ภัย และการตั้งถิ่นฐานใหม่ของเมียนมา รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร และกระทรวงสุขภาพและการกีฬา จัดตั้งคณะกรรมการกิจการเมียนมา (Myanmar's affair committee) เพื่อลดจำนวนเด็กกำพร้าและส่งเสริมให้พวกเขาได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่เหมาะสม โดยเบื้องต้นทางคณะกรรมการฯ ได้ออกนโยบายให้แม่ผู้ให้กำเนิดเป็นผู้ให้นมลูกแรกเกิดเป็นเวลา 45 วัน เพื่อเป็นการรักษาสายสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก หากแม่ยังยืนยันที่จะไม่เลี้ยงดูลูก ทางคณะกรรมการฯ ก็จะนำส่งเด็กไปยังหน่วยงานที่รับดูแลต่อไป

ขณะที่กัมพูชาซึ่งเผชิญหน้ากับความท้าทายในลักษณะเดียวกันก็ได้พยายามออกมาตรการรองรับและบรรเทาปัญหาเด็กกำพร้า โดยเมื่อเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสังคมสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และการฟื้นฟูสมรรถภาพเด็ก (Ministry of Social Affairs, Veterans and Youth Rehabilitation) ประกาศผลักดันนโยบายในการปฏิรูประบบการดูแลเด็ก โดยเน้นการติดตามและเพิ่มความสามารถของเจ้าหน้าที่ประจำสถานรับเลี้ยงเด็กให้มีความเป็นมืออาชีพ และส่งเสริมให้เด็กกำพร้าไปอยู่ในครอบครัวที่พร้อมเลี้ยงดู (family-based care) มากกว่าการปล่อยให้เด็กกำพร้าอยู่ร่วมกันในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า

ที่ผ่านมา เด็กกำพร้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น กัมพูชา ไทย เวียดนาม และอินโดนีเซียจำต้องพบเจอกับผู้คนมากหน้าหลายตา โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่อาสาสมัครเลี้ยงดูเด็กจากต่างประเทศ ที่ต้องการหาประสบการณ์เพิ่มเติมให้กับชีวิตผ่านการอาสามาเป็นพี่เลี้ยงเล็ก ถึงแม้ว่าโครงการลักษณะดังกล่าวจะเป็นการส่งเสริมกิจกรรมจิตอาสาของคนรุ่นใหม่ แต่การขาดประสบการณ์ในการเลี้ยงดูเด็กตลอดจนระยะเวลาของกิจกรรมที่สั้น อาจมีผลต่อพัฒนาการทางด้านร่างกายและจิตใจของเด็กในระยะยาว

นโยบายการปฏิรูประบบการดูแลเด็กของกัมพูชา ยังมุ่งส่งเสริมให้เด็กกำพร้าก้าวเข้าสู่การเป็นสมาชิกของครอบครัวทางเลือก (alternative family) ซึ่งเป็นแนวทางที่กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ (UNICEF) ให้การสนับสนุน โดยนางเดโบร่า โคมินิ ผู้แทนองค์กรยูนิเซฟ ประเทศกัมพูชา มองว่า หากเด็กอยู่ในสภาพครอบครัวที่ไม่พร้อม ไม่มีบุคคลที่สามารถจะดูแลให้พวกเขาสามารถพัฒนาศักยภาพต่อไปได้ ก็ควรส่งไปอยู่กับครอบครัวทางเลือกอื่นๆ ที่ทำให้พวกเขาได้รับการดูแลตามสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่ควรได้รับ เช่น การให้เด็กไปอยู่กับครอบครัวที่พร้อมช่วยดูแลในเบื้องต้น (foster care) จากนั้นก็ส่งต่อไปให้ครอบครัวที่จะรับไปดูแลในระยะยาว (adoptive parents) และที่สำคัญเด็กจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลแบบสายสัมพันธ์ทางครอบครัวจากบุคคลที่พร้อมและมีประสบการณ์ในการเลี้ยงดูเด็ก และไม่ควรปล่อยให้ผู้ดูแลหรืออาสาสมัครที่ไม่มีประสบการณ์มาลองผิดลองถูกกับชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก

ความตื่นตัวของเมียนมาและกัมพูชา สอดคล้องกับความพยายามในระดับภูมิภาค ที่มีการประชุมคณะกรรมาธิการอาเซียนเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children: ACWC) เป็นเวทีที่ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องสิทธิของเด็กกำพร้า และล่าสุดในปี 2558 นี้เอง ที่แผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคเรื่องการป้องกันความรุนแรงต่อเด็ก (Regional Plan of Action on the Prevention of Violence Against Children: RPA-EVAC) ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้ชาติสมาชิกอาเซียนหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิเด็ก และนำแผนการดำเนินงานต่างๆ ของ RPA-EVAC ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับเงื่อนไขและสถานการณ์ของแต่ละประเทศ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเด็กกำพร้าที่เกิดขึ้น ไม่สามารถแก้ไขได้เพียงจากบทบาทและข้อริเริ่มของหน่วยงานภาครัฐและองค์การระหว่างประเทศอย่างที่ปรากฏเท่านั้น แต่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาคประชาสังคมและภาคเอกชนในการร่วมกันสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามที่เด็กพึงจะได้รับ

โดย... 

กุลระวี สุขีโมกข์

ผู้ช่วยผู้ประสานงานชุดโครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch) ฝ่าย 1 สกว.