ม่วนสุโค่ยหลาย อ่านหนังสือธรรมะคำเมือง

ม่วนสุโค่ยหลาย อ่านหนังสือธรรมะคำเมือง

“ม่วน” ภาษาถิ่นล้านนา มีความหมายเทียบได้กับ “สนุก” ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้มีความหมายว่า “เพลินใจ ให้ความเบิกบานใจ”

และให้ม่วน  มีความหมายว่า ไพเราะ เสนาะ สนุก

 ม่วน จึงทั้ง ไพเราะ เสนาะ และ สนุก

เป็นอย่างนั้นจริงๆ ที่ได้อ่านหนังสือธรรมะเล่มเล็กๆ 60 กว่าหน้า สุภาษิตคำสอน เรื่องหื้อทาน รักษาสีล ภาวนา ซึ่งชมรมพุทธศิลปศึกษาและประเพณี สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดพิมพ์ขึ้นอีกครั้งเมื่อ พ.ย. 2560 เพราะที่พิมพ์ไปหลายครั้ง หนังสือหมด

ความ “ม่วน” ไพเราะ เสนาะ ของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่การใช้ถ้อยคำภาษาถิ่นคำเมือง หรือกำเมือง ของล้านนาอย่างเป็นภาษาวรรณกรรม การอธิบายธรรมะมีอุปมาอุปไมยสัมผัสคล้องจองไพเราะ ได้อรรถรสอย่างที่ผู้รู้คำเมืองจะซาบซึ้ง "ม่วนอกม่วนใจ๋ อย่างยิ่ง ขอขอบคุณผู้ปริวรรต”ตั๋วเมือง“ คืออักษรล้านนา ในต้นฉบับดั้งเดิม มาเป็นภาษาไทย(กลาง) โดย”...พยายามคงพยัญชนะและสำนวนการอธิบายของพระเดชพระคุณผู้เรียบเรียงไว้ดังเดิม คือเป็นสำนวนแบบพื้นบ้านล้านนาโบราณ แต่ได้ปรับแก้บ้างในบางคำเพื่อความเข้าใจของท่านผู้อ่าน..."

"ท่านผู้อ่าน “ หมายถึงทั้งคนที่รู้ที่พูดคำเมืองและคนที่ไม่รู้และไม่ได้พูดคำเมือง คนที่พูดที่รู้คำเมืองทุกวันนี้เกือบร้อยทั้งร้อยรวมทั้งผู้เขียน ล้วนอ่านและเขียน ตั๋วเมือง" อักษรล้านนาไม่ได้แล้ว

เชื่อว่าผู้อ่านที่รู้เฉพาะภาษาไทย(กลาง)ย่อมอ่านหนังสือเล่มนี้ได้รู้เรื่องเอาความเอา "อรรถ" ได้มากโขอยู่ แต่คงไม่ "ม่วน"  เท่ากับผู้รู้คำเมือง เป็นธรรมดาว่าก็น่าจะขาด “รส” ไปมากทีเดียว อย่างผู้เขียนที่ไม่รู้ภาษาอีสานเมื่อลองฟังทางยูทูป หลวงพ่อชาแสดงธรรมเป็นภาษาถิ่นอีสาน ก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง ในที่สุดก็ต้องเลิกฟังเพราะไม่ได้ทั้งอรรถและไม่ได้“รส”เลย

ม่วนสุโค่ยหลาย อ่านหนังสือธรรมะคำเมือง

สำหรับหนังสือธรรมะคำเมืองเล่มนี้ ที่ปริวรรตโดยรักษาสำนวนแบบพื้นบ้านล้านนาโบราณไว้ แม้อ่านในใจไม่ออกเสียง ก็ซาบซึ้ง "ม่วนอกม่วนใจ๋“ อย่างยิ่ง รู้สึกได้เลยว่าการได้อ่านอะไรที่ไพเราะเป็นภาษาพูดภาษาแม่ของเรา ช่างเป็นการอ่านที่ ”ม่วน" เข้าอกเข้าใจเข้าเนื้อเข้าหนังอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่ออ่านออกเสียง จะพบว่ายิ่ง "ม่วน" กว่าอ่านในใจ เหมือนการการเปล่งเสียงสวดมนต์ออกมาและสวดมนต์ในใจที่ให้อารมณ์ต่างกัน ใครจะลองทำเปรียบเทียบดูก็ได้ 

อย่างเช่น หน้า 9 ย่อหน้าที่ (17) ความว่าธรรมะคำสอนเล่มไหน คัมภีร์ใดก็ถูกทั้งนั้ นหากมีใจความว่าสอนให้ละเว้นกรรมไม่ดี สอนทำกรรมดี "...น้ำธัมม์คำสอนผูกไหนกัมพีใดก็ถูก ก็แม่น คือถ้าจักว่าด้วยใจความ ก็เท่าบอกสอนหื้อละเว้นเสียยังกัมม์อันบ่ดี แล้วสอนหื้อกะทำยังกัมม์อันดีที่จักหื้อเปนบุญเปนคุณ คือสุขในชาตินี้ชาติหน้า เหมือนกันทั้งมวล คนเราทังหลายต่างคนก็ต่างได้ยิน ได้ฟังรู้หันอยู่ทุกปีทุกเดือนบ่ขาด แต่บ่มีผู้ปฏิบัติตาม (ถูกคำสุภาษิตว่าดอกไม้บานบนบ่มีส้าวแหม้น) ถ้าเรารู้แล้วควรพิจจรณา หื้อกะทำสัทธาและสุตตะปัญญา หื้อเปนมากเปนหลาย การฟังธัมม์บ่ควรจักฟังเอาเสียงเอาม่วน ควรเราตั้งใจฟังเอาคำที่เปนแก่นเปนสาร ที่จักได้เปนกัมมัฏฐานสอนจิตสอนใจไปภายหน้า เพื่อหื้อได้หันหนทางชั้นฟ้าและนิพพานถี่แจ้งนั้นแล"

อุปมาอุปไมย ดอกไม้บานบนบ่มีส้าวแหม้น” หมายถึงว่าดอกไม้บานอยู่บนที่สูงไม่มีคนเอาไม้ส้าวสอยปลิดลงมา

แหม้น เป็นคำกริยาหมายถึงปลิดจากขั้ว คนล้านนาเรียกไม้ยาวสำหรับสอยดอกและผลบนต้นไม้ว่าไม้ส้าว เมื่ออ่านแล้วมองเห็นภาพจึงได้อรรถรสอย่างยิ่ง

เข้าใจเลยว่าทำไมจึงมีการแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาต่างๆ มากมายในโลกไม่น้อยกว่า 51 ภาษาตามที่มีการเผยแพร่ไปถึงกลุ่มชนที่พูดภาษานั้น ก็เพื่อให้เข้าใจอย่างเข้าเนื้อเข้าหนังซาบซึ้งได้ทั้งอรรถได้ทั้งรสนี่เอง อย่างเช่นในไทยจัดพิมพ์พระคัมภีร์ฉบับภาษากะเหรี่ยงโปว์ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว น่ารู้ว่าความก้าวหน้าอย่างยิ่งของการแปลพระคัมภีร์ขณะนี้คือการทำฉบับแปลเป็นภาษามือสำหรับคนหูหนวก ส่วนการแปลพระคัมภีร์เป็นไทยครั้งแรก มีขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 โดยแปลในพม่า ส่งไปพิมพ์ที่อินเดีย เพราะต้องการให้คนไทยสืบทอดเชื้อสายมาจากเชลยไทยถูกกวาดต้อนไปอยู่ในพม่าให้ได้อ่านในภาษาไทย

การแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาต่างๆ เป็นปัจจัยหนุนอย่างยิ่งที่โลกทุกวันนี้มีคริสต์ศาสนิกชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและการเปลี่ยนศาสนา

เป็นธรรมดาที่อะไรก็ตามทำแล้ว"ม่วน" ย่อมเกิดฉันทะที่จะทำบ่อย ๆ

แม้ผู้เรียบเรียง คือครูบาพรหมา พรหมจกโก วัดพระพุทธบาทตากผ้า จ.ลำพูน จะเตือนแล้วว่า การฟังธัมม์บ่ควรจักฟังเอาเสียงอันม่วนก็จะยังขอ "เหลือกำ คือดื้อ ไม่ฟังคำ แบบในคำไทย(กลาง)ว่า ”เหลือขอ“ เพราะตลอดมาผู้เขียนไม่เคยเลยที่จะอ่านจะฟังธรรมะเพื่อเอา ”ม่วน" เคยชินแต่อ่านฟังธรรมะแบบเอาอรรถเอาความ อีกทั้งหนังสือธรรมะคำเมืองที่ได้พบเห็นทั่วไปมักเป็นหนังสือคำสวดมนต์ ให้ศีลให้พร คำเทศน์ของพระสงฆ์กัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ใช่หนังสือธรรมะในความหมายที่เป็นการอธิบายแจกแจงธรรมะข้อใดข้อหนึ่งอย่างในเล่มนี้ ซึ่งหาอ่านได้ไม่ง่ายนัก จะเรียกว่ายากก็ได้

ขอไว้อ่านเอาม่วน สักเล่มหนึ่งเถอะ พระเดชพระคุณ.