ทุบอาคาร ทุบชุมชน ทุบชาติ

ทุบอาคาร ทุบชุมชน ทุบชาติ

บทความนี้คัดกรองจากประสบการณ์บางส่วนในโครงการสนับสนุนการศึกษา ที่อ.บ้านนา จ.นครนายก ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา และกัลยาณมิตร เป็นเวลากว่า 13 ปี

เราปูฐานการสนับสนุนด้วยการจัดประกวดการอ่าน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาของรัฐบาล ปีละครั้ง หลังจาก 8 ปี เราขยายการประกวดออกไปถึงการเขียน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (อาจอ่านเรื่องราวของเราได้ในเว็บไซต์ www.bannareader.com)

นอกจากกิจกรรมปูฐาน เราได้เข้าไปสนับสนุนด้านอื่น เช่น จัดหาหนังสือให้โรงเรียน จัดหาเครื่องมือสำหรับเล่นและแข็งขันลูกรูบิค รื้อฟื้นกีฬาจักรยานล้อเดียวและช่วยเหลือนักเรียนยากจนในภาวะฉุกเฉิน หลังทำกิจกรรมเหล่านั้นอยู่ 6 ปี เราได้เข้าไปสนับสนุนการพัฒนาเชิงลึกของโรงเรียนชุมชนขนาดเล็กโดยเริ่ม ที่โรงเรียนวัดแหลมไม้ย้อย ซึ่งมีนักเรียนราว 70 คน

หลัง 5 ปี โรงเรียนนี้มีทุกอย่าง ทั้งด้านอาคารและวัสดุตามเป้าหมาย โดยเราเข้าไปช่วยติดตั้งเครื่องกรองน้ำแบบใหม่ ติดลวดตาข่ายให้โรงอาหาร เพิ่มเตาทำอาหาร ซ่อมแซมและทาสีอาคาร สร้างห้องส้วมชักโครก ทำห้องอาบน้ำ ทำสนามเด็กเล่น สร้างอาคารห้องสมุดพร้อมมอบอุปกรณ์ หนังสือและคอมพิวเตอร์ให้ ปรับเปลี่ยนพื้นที่หลังอาคารเรียนราว 2 ไร่ ให้เป็นสวนครัวอินทรีย์ ซึ่งมีโรงเพาะเห็ด โรงเลี้ยงไส้เดือน ระบบส่งน้ำและเครื่องมือทำสวนครัว จัดหาจักรยานล้อเดียว พร้อมอุปกรณ์สำหรับฝึกหัดและจัดหาเครื่องดนตรีอังกะลุง

ต่อมาเราได้เข้าไปช่วยพัฒนาโรงเรียวัดท่าทราย (พิมพานุสร) เริ่มด้วยการมอบเงินทุนสนับสนุนการพัฒนาสวนครัวอินทรีย์ สำหรับในลำดับต่อไป ผู้บริหารเสนอให้สร้างหลังคาแบบ “โดม” ขนาดเล็กครอบส่วนหนึ่งของสนาม ซึ่งมีพื้นเป็นคอนกรีตอยู่แล้วเพื่อให้นักเรียนใช้ทำกิจกรรมได้ตลอดวัน และปรับช่วงเชื่อมต่อระหว่างอาคารหลังเก่ากับหลังใหม่ให้เป็นห้องประชุม ข้อเสนอทั้ง 2 นี้ยังไม่มีกัลยาณมิตรแสดงความจำนงว่าจะสนอง

เมื่อปีที่ผ่านมา เราก่อตั้ง ธนาคารครูบ้านนา ซึ่งเป็นข้อกลางระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กและครูอาสา เป้าหมายได้แก่การเป็นศูนย์ประสานให้ครูอาสาเข้าไปช่วยโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งขาดแคลนแสนสาหัสและอาจถูกยุบในเวลาอันสั้นตามนโยบายของรัฐบาล ในจำนวนนี้มีโรงเรียนวัดแหลมไม้รวมอยู่ด้วย

อนึ่ง ปัจจัยพื้นฐานที่ก่อให้เกิดกระบวนการยุบโรงเรียนมาจากอัตราการเกิดลดลง แต่โดยทั่วไปนั่น มิใช่ปัจจัยชี้ขาดที่ก่อให้เกิดวงจรอุบาทว์ขึ้น เพราะชุมชนมักยังมีเด็กระดับหลักร้อย ปัจจัยที่ก่อให้เกิดวงจรอุบาทว์ได้แก่ การปล่อยผู้ปกครองให้ส่งเด็กไปเรียนในโรงเรียนรัฐบาลนอกเขตบริการของโรงชุมชนและการลดจำนวนครูลงตามอัตราของนักเรียนแบบตายตัว เมื่อมีครูไม่ครบ 8 ชั้นเรียน ผู้ปกครองก็อ้างภาวะนี้เพื่อส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ไกลชุมชนส่งผลให้รัฐบาลลดจำนวนครูลงอีก ในขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องใช้งบประมาณสร้างอาคารเพิ่มให้โรงเรียนขนาดใหญ่ หากพื้นที่มีไม่พอก็ทุบอาคารชั้นเดียวเพื่อสร้างอาคารหลายชั้นขึ้นมาแทน

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลท้องถิ่นพยายามดึงเด็กเกิดใหม่ไปรวมไว้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยสร้างอาคารขึ้นมาใหม่ในย่านสำนักงานของตนพร้อมซื้อรถยนต์สำหรับขนส่งเด็ก กระบวนการก่อสร้างและจัดซื้อจัดจ้างจะตกอยู่ในวงจรเงินทอนหรือไม่คงไม่ต้องฟันธง แต่ที่แน่นอนคือการดึงเด็กเล็กออกจากชุมชนทำให้เด็กต้องนั่งรถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์วันละนับ 10 กิโลเมตร ซึ่งจะมีผลเสียจากความเสี่ยง ความอ่อนล้าและการขาดเวลาเล่นของเด็ก นอกจากนั้น มันยังเป็นเหตุจูงใจให้ผู้ปกครองงดส่งเด็กเข้าโรงเรียนในชุมชนของตนเองอีกด้วย กระบวนการนี้กำลังจะเกิดขึ้นที่เขตเทศบาล ซึ่งโรงเรียนวัดแหลมไม้ย้อยสังกัดอยู่ นั่นหมายความว่า ต่อไปโรงเรียนนี้จะถูกยุบและอาคารต่าง ๆ รวมทั้งของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านแหลมไม้ย้อยจะถูกทุบทิ้ง

เมื่อเด็กถูกออกส่งไปนอกชุมชน ผลพวงหนึ่งได้แก่การลดความผูกพันต่อชุมชนและต่อกันของประชาชนรุ่นปัจจุบันและรุ่นเด็กที่จะเติบโตขึ้นต่อไป นั่นหมายความว่าเมืองไทยจะไม่เป็นสังคมไทยตามนัยเดิม ทั้งหลายทั้งปวงนี้บ่งชี้ว่า นโยบายยุบโรงเรียนชุมชนขนาดเล็กแบบไม่ลืมหูลืมตาจะนำไปสู่การสูญเสียงบประมาณ การทุบอาคารและการทุบชุมชนซึ่งจะส่งผลให้เกิดการทุบชาติไทยไปด้วย