นูเรล รูบินี: ‘Cryptocurrency’ สุดยอดลวงโลก?

นูเรล รูบินี: ‘Cryptocurrency’ สุดยอดลวงโลก?

ผมเป็นหนึ่งในผู้ติดตามและศึกษา ‘สกุลเงิน Crypto’ หรือ Cryptocurrency ไม่ว่าจะเป็น ‘บิทคอยน์’ หรือสกุลเงิน Crypto อื่นๆ อย่างค่อนข้างลึกซึ้ง

จากทั้งมุมมองการลงทุนและความชอบส่วนตัว โดยสรุป ก่อนที่จะมาฟังคำให้การณ์ของนูเรล รูบินี หรือ ดร.ดูม ผู้ที่เคยทายวิกฤติซับไพร์มได้ถูกต้องเมื่อ 10 ปีก่อน ต่อวุฒิสภาสหรัฐ ผมมองว่าท้ายสุดแล้ว สกุลเงิน Crypto จะเหลือเพียง 2 สกุลคือ บิทคอยน์ และ อีเธเรียม 

ด้วยเหตุผลที่ว่าทั้งคู่เป็นส่วนหนึ่งจากเทคโนโลยี Blockchain โดยตรง แม้ว่า อีเธเรียม เป็นสกุลเงินดิจิตัลจะยังถือว่ามีความเสถียรของเทคโนโลยีที่ต่ำกว่า ทว่าผมมองว่าการมีผู้นำอย่าง วิทาลิค บูเธลิน หนุ่มเซอร์วัย 20 ต้นๆ ผู้ก่อตั้งเหรียญอีเธเรียม ที่ครั้งหนึ่งเคยมาร่วมสัมมนากับหน่วยงานระดับชาติในเมืองไทย น่าจะดูมีความน่าเชื่อถือในแง่ของการก้าวต่อไปของอีเธเรียม และมีแพลตฟอร์มที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานต่างๆ ได้มากระดับหนึ่ง แม้ยังมีความบกพร่องหรือ Bug อยู่บ้างก็ตาม ส่วนสกุลเงินดิจิตัลที่เหลือนั้น ผมมองว่าน่าจะร่วงโรยไปตามกาลเวลา เนื่องจากไม่มีเทคโนโลยีซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงกว้างคอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

อย่างไรก็ดี เมื่อมาฟังความเห็นของรูบินี ผมเริ่มจะเปลี่ยนความคิดไปเล็กน้อย โดยมองว่าอีเธเลียมจะอยู่หรือไปให้ดูใน 1-2 ปีนี้ แม้ผมไม่ได้เห็นด้วยกับมุมมองของรูบินีแบบเต็มร้อย ทว่าหลายๆประเด็น รูบินีพูดได้น่าสนใจ ผมยอมรับว่ารูบินีไม่ได้ซี้ซั้วมาวิจารณ์เรื่องนี้ เขาศึกษาเรื่องนี้มาเป็นอย่างดี รู้ถึงความเป็นไปและเบื้องหลังของวงการ Crypto ดีมาก ทว่าก็มีบางจุดที่ผมมองว่ารูบินีน่าจะมีความเห็นไม่ถูกต้องนัก แต่ก็ต้องบอกว่ามีอยู่น้อยมาก ทว่าจุดดังกล่าวมีความสำคัญ

ผมขอเกริ่นย่อๆ ว่า ของความสัมพันธ์ระหว่าง บล็อคเชน บิตคอยน์ และ อีเธเรียม ให้เข้าใจกับแบบเบื้องต้นก่อน เริ่มจาก บล็อคเชน เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ประโยชน์ของศาสตร์ที่ว่าด้วยการเข้ารหัส หรือ Cryptography โดยข้อมูลที่ส่งออกจากจุดหนึ่งจะส่งออกเป็น Block โดยที่จะเดินทางไปทุกจุดในระบบ บล็อคเชนที่กระจายไปทั่วหรือ decentralization โดยที่ผู้รับเท่านั้นที่มีพาสเวิร์ดซึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลซึ่งเมื่อบันทึกแล้วไม่สามารถแก้ไขนี้ได้ ดังนั้นในระบบนี้ จึงไม่มีใครเป็นเจ้าของ เนื่องจากทุกคนในระบบเข้าถึง Block ที่ว่าได้ ทว่าด้วยการเข้ารหัสเป็นอย่างดี จึงมีผู้ที่มีพาสเวิร์ดเท่านั้น ซึ่งสามารถอ่านหรือได้รับข้อมูลนั้นได้ ทำให้มีความปลอดภัยสูงและต้นทุนถูกเนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทว่าข้อเสียคือยังค่อนข้างช้า

ทีนี้ เจ้า บิทคอยน์ เข้ามามีบทบาทตรงที่จะเป็นทรัพยากรในการเข้ารหัสของ Block ดังกล่าว ซึ่งยิ่งมีสูตรการเข้ารหัสที่เก่งแค่ไหนก็ยิ่งจะได้รางวัลเป็น บิทคอยน์ มากแค่นั้น โดยตอนนี้ อีเธเรียม เริ่มมีระบบที่ใช้กันมากขึ้น ทว่าตอนนี้ยังไม่เสถียรมากนัก โดยเลียนแบบการทำงานของบล็อคเชน ทว่าทำได้รวดเร็วกว่า

สำหรับประเด็นหลักที่ทำให้รูบินี กล่าวว่า Cryptocurrency คือ mother of all scams หรือสุดยอดจอมลวงโลก มีดังนี้

หนึ่ง การที่ บิทคอยน์ ถูกกำหนดให้จำกัดจำนวนสกุลเงินนี้ให้มี 21 ล้านเหรียญนั้น รูบินีให้ความเห็นว่าจุดแข็งนี้ก็ถือเป็นจุดอ่อน เนื่องจากการที่อุปทานของเงินสกุลใดไม่ได้เติบโตไปกับจีดีพีของเศรษฐกิจ ระดับราคาของเศรษฐกิจนั้น จะเกิดอัตราเงินฝืด โดยหากบิตคอยน์เกิดบูมขึ้นมาจริงๆ ก็จะติดปัญหานี้ ซึ่งเหตุการณ์ก่อให้เกิดวิกฤต Great Depression ในทศวรรษ 1930 ทว่ารูบินีมองว่าชาวโลกคงจะไม่ได้เห็นเหตุการณ์นี้ เนื่องจาก บิตคอยน์ ได้ถูกแตกขยายหน่อออกมาเป็น Bitcoin Cash และ Bitcoin Gold เพิ่มมาอีก ซึ่งรูบินี มองว่าบิตคอยน์เริ่มจะออกลีลาไม่ทำตามคำสัญญาการจำกัดจำนวนเหรียญ นอกจากนี้ อีเธเรียมรุ่นดั้งเดิม ถูกแตกขยายออกมาเป็น Ethereum Classic และ new spin-off Ethereum โดยใช้เวลาแค่ 3 ปี ในขณะที่เครื่องดื่มโคคา โคล่าใช้เวลากว่า 100 ปีในการมีเครื่องดื่มโค้กรุ่นใหม่

สอง ผู้ที่เป็นเจ้าของสกุลเงินอาทิ วิทาลิค บูเธลิน นั้น ได้เก็บตุนสกุลเงินอีเธเรียมไว้เพียบแล้ว แล้วเมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว จะมองว่า อีเธเรียม เป็นสกุลเงินที่จะใช้เป็นเงินสกุลหลักได้อย่างไร เมื่อเจ้าของผลิตตุนไว้เองอย่างเต็มๆ

สาม บูเธลิน กล่าวว่า มีข้อจำกัด ‘inconsistent Trinity‘ ในวงการ Crypto ซึ่งประกอบด้วย Decentralization Scalability และ Security ซึ่งตรงนี้ รูบินีเห็นด้วย ทว่าไม่เชื่อว่าจะมี Decentralization อยู่จริงในสกุลเงินดิจิตัลนี้ เนื่องจากผู้ที่มีจำนวนเหรียญเยอะ จะสามารถมีอิทธิพลในระบบเหนือรายย่อย โดยการที่มีเหตุการณ์โจมตีระบบของสกุลเงินดิจิตัลหลายสกุล รวมถึง อีเธเรียม หรือที่เรียกว่า 51% Attack นั้น นอกจากนี้ จะมีการ Hack พาสเวิร์ดที่อยู่ในระบบหรือที่เรียกกันว่า Hot Storage ในกระเป๋าเงินดิจิตัล จนระบบไปต่อไม่ได้

สี่ การกระจายตัวของความมั่งคั่งของเจ้าของเหรียญ Crypto ถือว่ามีการกระจุกตัวอยู่กับคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น โดยการกระจุกตัวความมั่งคั่งของผู้ถือเหรียญบิตคอยน์นั้น ถือว่ามีมากกว่าของประชาชนชาวเกาหลีเหนือเสียด้วยซ้ำ

ห้า รูบินีมองว่าการที่มีการเปรียบเทียบระหว่าง Crypto และ อินเตอร์เน็ต ว่ามีเส้นทางที่ค่อยๆ เป็นที่นิยมแบบเข้าสู่ระดับรากหญ้าในระดับโลกด้วยลักษณะและรูปแบบที่ใกล้เคียงกันนั้น ถือว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากหลังจากฟองสบู่ Crypto แตกเมื่อกลางปีที่แล้ว มูลค่าการซื้อขายของ Crypto ก็ลดลงมาเรื่อยๆ ผิดกับอินเตอร์เน็ตเมื่อกว่า 20 ปีก่อนที่เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งจุดนี้ ผมค่อนข้างเห็นต่างเนื่องจากหากสังเกตดีๆ อินเตอร์เน็ตในช่วงก่อนที่จะมีบราวเซอร์ Netscape ก็เติบโตค่อนข้างช้า ผมมองว่ารูบินีอาจจะฟันธงเรื่องนี้เร็วเกินไป

ท้ายสุด รูบินี มองว่า บล็อคเชน ถูกยกย่องเกินจริง โดยแท้จริงแล้ว FinTech ต่างหาก ซึ่งมี AI และ Big Data เป็นตัวขับเคลื่อน ที่เป็นของจริง ตรงนี้ ผมมองว่ารูบินีน่าจะประเมินศักยภาพของบล็อคเชนต่ำเกินไปนิด เพราะบล็อคเชนได้กลายเป็นระบบที่นำไปใช้ในหลายวงการแบบไม่มีข้อผิดพลาด ตามที่ได้คุยกันไว้เรียบร้อยแล้ว