“ปตท. ห้ามขายกาแฟ Amazon ?”

“ปตท. ห้ามขายกาแฟ Amazon ?”

ผมได้รับคำถามนี้จากเพื่อนๆ หลายคน จากข่าวของอดีตรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ที่ตีความว่าการทำธุรกิจกาแฟ Amazon ของ ปตท.

เป็นการประกอบธุรกิจแข่งกับเอกชน ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดของประเทศไทย.

คำถามนี้ถูกครึ่งหนึ่ง เพราะท่านอดีตรัฐมนตรี ไม่ได้เห็นว่าการขาย Amazon ในปั๊มน้ำมันมีปัญหา แต่ที่เห็นว่าน่าจะมีปัญหาคือการขยายออกนอกปั๊มน้ำมัน เช่น ตามห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา โรงพยาบาล ฯลฯ

แต่ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ ผมเห็นว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า ปตท. จะขายกาแฟที่ไหน แต่ต้องดูว่ากฎหมายห้าม ปตท. ขายกาแฟ Amazon แข่งกับเอกชนจริงหรือไม่

ลองมาดูกฎหมายที่ว่ากันครับ

“ปตท. ห้ามขายกาแฟ Amazon ?”

มาตรา 75 ในรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด (2560) ระบุไว้ว่า

รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจําเป็น เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณูปโภค หรือการจัดทําบริการสาธารณะ”

คำถาม คือ ปตท. เป็น “รัฐ” ในความหมายและบริบทของรัฐธรรมนูญหรือไม่?

ตามความเห็นของผม นิยามของ รัฐที่เข้าใจง่ายที่สุด คือ ต้องมีอำนาจเหนือกว่า เอกชน ครับ ถึงจะเป็น “รัฐ” ไม่ต้องไปตีความให้ซับซ้อน

“บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)” หรือ ปตท. ในปัจจุบัน แปลงสภาพมาจาก “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 และได้เข้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ก่อนการแปลงสภาพ ปตท. มีสถานะเป็น “รัฐวิสาหกิจประเภทองค์กรของรัฐ” และมีอำนาจรัฐที่พิเศษเหนือกว่า “เอกชน” ทั่วไป เช่น อำนาจเวนคืนที่ดิน อำนาจได้รับความคุ้มครองในทรัพย์สิน เป็นต้น

แต่ภายหลังการแปลงสภาพ ปตท. ได้กลายเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และมีสถานะทางกฎหมายเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน ไม่ได้มีสถานะเป็น “รัฐวิสาหกิจประเภทองค์กรของรัฐ” อีกต่อไป

ปตท. หลังปี พ.ศ. 2544 จึงไม่มีอำนาจรัฐ การประกอบธุรกิจของ ปตท. จึงอยู่ภายใต้การแข่งขันทางธุรกิจเหมือนเอกชนอื่นๆ ไม่มีข้อได้เปรียบจากอำนาจรัฐเลย

การที่กระทรวงการคลังถือหุ้นใน ปตท. เกินกว่า 50% เป็นเพียงการทำให้ ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 เท่านั้น แต่ไม่ได้ทำให้สถานะนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน ของ ปตท. กลับไปเป็นนิติบุคคลที่มีอำนาจรัฐพิเศษเหนือกว่า “เอกชน” อื่นอีก

นอกจากนั้น ก็ไม่แน่นอนว่า กระทรวงการคลังจะถือหุ้นใน ปตท. เกินกว่า 50% ตลอดไป โดยอาจจะลดลงต่ำกว่า 50% เมื่อใดก็ได้ ปตท. ก็จะหลุดพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ทันที

ความเห็นข้างบนนี้ ผมไม่ได้คิดเอาเองนะครับ แต่เป็นส่วนหนึ่งในคำพิพากษาของ ศาลปกครองสูงสุดเมื่อปี พ.ศ. 2550

ฉะนั้น ถ้าเรายึดแนวทางของศาลปกครองสูงสุด ปตท. ย่อมไม่ใช่ “รัฐ” ในความหมายของรัฐธรรมนูญ

การขายกาแฟ Amazon ไม่ว่าจะเป็นในปั๊มหรือนอกปั๊ม ปตท. ไม่มีอำนาจรัฐจะไปยึดที่ใคร หรือ บังคับให้ใครมาทำร้านกาแฟ Amazon ได้นะครับ เป็นการแข่งขันทางธุรกิจในตลาดแบบเอกชนเท่านั้น จึงย่อมสามารถทำได้ตามกฎหมาย

นอกจากนั้น ในปัจจุบัน Cafe Amazon ไม่ได้ดำเนินการโดย ปตท. แต่หากดำเนินการโดย PTTOR บริษัทลูกของ ปตท.

ที่สำคัญ คือ ผู้ประกอบการร้านกาแฟ Amazon เป็นประชาชนทั่วไปลงทุนเองถึง 90% ครับ

โดย... ฉกาจนิตย์ จุณณะภาต