เรียนรู้จากวิกฤติต้มยำกุ้ง ถึงวิกฤติซับไพร์ม

เรียนรู้จากวิกฤติต้มยำกุ้ง ถึงวิกฤติซับไพร์ม

เผลอแพร็บเดียว เราได้ผ่านวิกฤติหลักๆ มา 2 ครั้ง ในช่วงเวลานี้ที่ครบรอบ 10 ปีของวิกฤติซับไพร์ม ผมจึงขอเล่าเรื่องราวและประสบการณ์แบบสบายๆ

 ผ่านเลนส์ของคนที่คลุกคลีกับการวิจัยด้านการเงินที่ผ่าน 2 วิกฤตินี้ ด้วยบรรยากาศที่แตกต่างกัน ในช่วงเวลาที่ห่างกันราว 10 ปี

ขอเริ่มจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 มีสิ่งที่ผมเห็นแล้วจำไม่รู้ลืม ดังนี้

หนึ่ง อย่าฝืนกระแสกลไกตลาดโลก’ เหตุผลหนึ่งที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ได้แก่ การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติยังคงใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ในช่วงปี 2540 ในขณะที่ความสามารถในการส่งออกของบ้านเราในขณะนั้น ถือว่าเริ่มต่ำลง ไม่มีใครต้องการเงินบาทในด้านการค้ามากสักเท่าไหร่ ซึ่งส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องขายเงินสำรองระหว่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินดอลลาร์เพื่อพยุงให้ค่าเงินบาทยังอยู่ประมาณที่ 25 บาทต่อดอลลาร์ตามระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ในตอนนั้น เมื่อนักเก็งกำไรหรือพวกเฮดจ์ฟันด์ นำโดยนายจอร์จ โซรอส ทำการโจมตีค่าเงินด้วยการเทขายเงินบาทให้แบงก์ชาติของบ้านเราต้องขายดอลลาร์มาสู้เพื่อปกป้องค่าเงิน จนสำรองเงินตราระหว่างประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการลอยตัวค่าเงินบาทในที่สุด ซึ่งผมมองว่าแม้แต่ธนาคารกลางสหรัฐยังผิดพลาดในวิกฤติซับไพร์ม จึงมองว่าแบงก์ชาติบ้านเราก็มีสิทธิผิดพลาดกันได้ หากมองย้อนกลับไป 

สอง ไม่มีคำว่าจับเสือมือเปล่า’ ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง 2-3 ปี ทางการไทยตัดสินใจเปิดเสรีทางการเงินด้วยการอนุญาตให้ภาคเอกชนสามารถกู้เงินนอกประเทศ แล้วโอนกลับมาในประเทศได้ หรือเรียกว่าการเปิด Bangkok International Banking Facility (BIBF) ทำให้นักธุรกิจสามารถกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำนอกประเทศ เพื่อนำมาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ที่ราคาที่ดินขึ้นเอาๆ จนกระทั่งเกิดฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ และแตกในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งในที่สุด 

สาม ‘โบนัสเยอะๆ ก็เสี่ยงเยอะ’ ไฮไลท์ด้านมืดหนึ่งของวิกฤติต้มยำกุ้งได้แก่ การปิดตัวลงของบริษัทไฟแนนซ์ 56 แห่ง ซึ่งในช่วงก่อนปี 2540 ถือว่าเป็นแหล่งของมนุษย์ทองคำที่มีการย้ายงานเพื่อเรียกเงินเดือนที่สูงขึ้น รวมถึงหลายที่มีโบนัสหลายสิบเดือน แน่นอนว่าเมื่อเกิดการแตกของฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ บริษัทการเงินเหล่านี้ก็ต้องปิดตัวลงตาม

เรียนรู้จากวิกฤติต้มยำกุ้ง ถึงวิกฤติซับไพร์ม

ที่มา: BIS

ท้ายสุด ‘กลับบ้านเรารักรออยู่’ ช่วงนั้นหลายคนในวัยทำงานที่ทำงานในบริษัทไฟแนนซ์หรือบริษัทอสังหาริมทรัพย์ หรือก่อสร้าง ต่างตกงานและต้องกลับไปหาพ่อแม่ ไม่ว่าครอบครัวจะเป็นสังคมเกษตรกรรมหรือวงการค้าขาย ตอนนั้นคนหนุ่มสาวที่เคยอยากจะออกจากบ้านเพื่อมุ่งหน้าหางานในเมืองหลวงต่างต้องกลับไปสู่ที่ตนเองเติบโตมา ตรงนี้ ทำให้นึกถึงบรรดาคนหนุ่มสาวยุค Gen Z และ Gen M ในวันนี้ ที่อยากรวยเร็ว ว่าคนที่เป็นรุ่นพี่ราว 20 ปี ก็เคยเจอกับประสบการณ์นี้มาก่อน

แล้วก็มาถึงวิกฤติซับไพร์ม ในปี 2551 คราวนี้ ผมมีโอกาสได้เขียนบทความเกี่ยวกับวิกฤติครั้งนี้แบบต่อเนื่อง ก็มีสิ่งที่น่าเก็บไว้เป็นข้อคิด ดังนี้

หนึ่ง อย่าเชื่อกูรูเสมอไป แม้แต่อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด นายเบน เบอร์นันเก้ ยังไม่เชื่อว่าจะเกิดวิกฤตซับไพร์ม

สอง ‘เมื่อมีอะไรดีเกินไป.. ให้ระวัง ตราสารซับไพร์มที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก แถมยังมีความเสี่ยงต่ำ ที่จริงแล้วไม่มีอยู่จริง

สาม ‘มีแสงสว่างปลายอุโมงค์เสมอ’ ในช่วงเดือนมีนาคม 2552 ตลาดหุ้นไทยตกกว่าร้อยละ 70 ทว่าก็ยังสามารถกลับมาได้ในที่สุด

สี่ อย่าฝืนธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด’ หรือ Dont Fight the Fed  ณ ตอนนี้ ใครที่ไม่ลงทุนตามการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจของเฟด ผมคิดว่า ณ วันนี้คงจะไม่มีเหลือเลยสักคนแล้ว 

ท้ายสุด มาถึงวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหม่ในอนาคตที่อาจได้เห็นกัน หากได้เห็นภาพที่แสดงหนี้สินในสกุลเงินสหรัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของประเทศในตลาดเกิดใหม่ รวมถึงสินเชื่อในช่วงหลังถูกแทนที่ด้วยตราสารหนี้ด้วยแล้ว จะเห็นได้ว่าหากมีการลุกลามเกิดขึ้นจากจุดเริ่มต้นที่ใหญ่พอ การกระจายของโดมิโนมีช่องทางของการกระจายตัวให้เห็นกันอยู่แล้ว ณ ปัจจุบันนี้