คนรุ่นใหม่ กับ การเรียนรู้

คนรุ่นใหม่ กับ การเรียนรู้

ปัจจัยหนึ่งที่กำลังเข้ามา Disrupt การศึกษาระดับอุดมศึกษาคือ พฤติกรรมในการเรียนรู้ของเด็กรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปจากอดีต

ซึ่งเป็นรุ่นที่กำลังคาบเกี่ยวระหว่างกลุ่ม Gen Y (หรือ Millenials) และกลุ่ม Gen Z คนรุ่นนี้เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี ข้อมูล และ ดิจิทัล ดังนั้นวิธีการในการศึกษาและเรียนรู้ของคนรุ่นนี้ จึงแตกต่างจากสิ่งที่คนที่เป็นครูบาอาจารย์คุ้นเคยกัน ลองดูว่าคนรุ่นใหม่ที่กำลังเป็นนิสิตนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย (อายุประมาณ 18-22 ปี) เขามีพฤติกรรมและวิธีการเรียนรู้อย่างไร และเพื่อให้เป็นข้อมูลจากมุมมองของคนรุ่นใหม่จริงๆ ข้อมูลทั้งหมดในสัปดาห์นี้จึงได้รวบรวมมาจากการนำเสนอของนิสิตที่คณะ

คนช่วงอายุ 18-22 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีความมั่นใจในตนเอง มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ชอบความสนุกสนาน ชอบค้นหาความท้าทายใหม่ๆ ชอบประสบการณ์ ชอบสังคม การปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้ความสำคัญกับการกระทำมากกว่าเพียงแค่การมีความรู้ อีกทั้งมีความรับผิดชอบต่อสังคม และที่สำคัญคือให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์หรือสถานะในโลกออนไลน์ของตนเอง

สำหรับคนรุ่นนี้คอมพิวเตอร์ไม่ใช่เทคโนโลยีอีกต่อไป แต่เป็นเสมือนอุปกรณ์ เครื่องใช้อย่างหนึ่ง คนรุ่นนี้จะมองว่าความล้มเหลวเป็นวิธีการที่รวดเร็วที่สุดที่จะได้เรียนรู้ ขณะเดียวกันการทำหลายสิ่งไปพร้อมๆ กัน (ที่เรียกว่า Multitasking) เป็นเรื่องปกติในชีวิต แต่สิ่งที่คนรุ่นนี้จะทนไม่ได้คือระบบ ขั้นตอน และความล่าช้า

จากคุณลักษณะและพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ข้างต้น จึงส่งผลทำให้พฤติกรรมในการเรียนรู้ของคนรุ่นนี้เปลี่ยนแปลงไป สำหรับคนรุ่นนี้แล้วพวกเขามองพฤติกรรมการเรียนรู้ของตนเองว่า.........

ต้องการที่จะได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองอยากที่จะรู้ ไม่ใช่การได้รับการยัดเยียดในสิ่งที่ตนเองไม่ได้อยากที่จะรู้ เนื่องจากคนรุ่นนี้เน้นในเรื่องของการปฏิบัติได้มากกว่าความรู้ที่มี ดังนั้นความรู้ที่ตนเองอยากจะรู้และมีประโยชน์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ขณะเดียวกันความรู้ใดก็ตามที่เกิดมีความจำเป็นในอนาคต ก็สามารถที่จะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วผ่านปลายนิ้วสัมผัส

ต้องการที่จะเรียนรู้ผ่านประสบการณ์มากกว่าการท่องจำแบบในอดีต โดยการเรียนรู้จากการทำงานร่วมกับผู้อื่นและผ่านทางการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีศึกษา หรือ ตัวอย่างต่างๆ มากกว่าเพียงแค่การอ่าน หรือ การฟัง

ต้องการที่จะได้รับข้อแนะนำหรือ Feedback อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ต้องรอจนสอบเสร็จถึงจะทราบว่าผลงานของตนเองเป็นอย่างไร เนื่องจากคนรุ่นใหม่เติบโตมาในความเป็นดิจิทัล ดังนั้นพวกเขาจะอยู่บนโลกออนไลน์ตลอดเวลา ดังนั้นการได้รับ feedback ในสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ จึงเป็นสิ่งที่คนรุ่นนี้คาดหวัง

ต้องการที่จะมีรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างจากไปจากห้องเรียนเดิมๆ ที่มีมานานนับศตวรรษ คนรุ่นนี้พร้อมที่จะเรียนรู้ผ่านทางรูปแบบใหม่ๆ หรือ การนำเอาสื่อสังคมออนไลน์เข้ามาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างให้เกิดการเรียนรู้ นอกจากนี้คนรุ่นนี้ยังเติบโตมาพร้อมกับการอ่านหนังสือผ่านหน้าจอมือถือมากกว่าการอ่านผ่านตำราเรียนแบบดั้งเดิม

ต้องการที่จะมีรูปแบบใหม่ๆ ในการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับตนเองมากขึ้น ลองนึกภาพว่าถ้าสามารถผสมผสานระหว่างการเรียนรู้และการเล่มเกมเข้าด้วยกัน ในลักษณะของ Gamification และมีป้ายขึ้นบอกเป็นระยะๆ ว่าใครเป็นผู้นำในเกมหรือผู้นำในการเรียนรู้ จะทำให้เกิดการกระตุ้นและจูงใจที่จะเรียนรู้ และตรงกับจริตของคนรุ่นนี้มากขึ้น

เนื้อหาข้างต้นทั้งหมดได้รับมาจากการนำเสนอของนิสิตในหลักสูตร BBA ของคณะที่นำเสนอให้กับผู้บริหารของสถานศึกษาแห่งหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่ได้ครอบคลุม พฤติกรรมและวิธีการในการเรียนรู้ของคนรุ่นนี้ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ดี ความยากทั้งหมด ไม่ใช่การออกแบบการเรียนการสอนให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่ แต่เป็นการเปลี่ยนระบบในการเรียนการสอนที่มีมาเป็นร้อยๆ ปี และเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้สอนที่เติบโตมาในอีกยุคต่างหาก