สรณะของผู้บริหารยุคบิ๊กดาต้า

สรณะของผู้บริหารยุคบิ๊กดาต้า

ใครจะบริหารอะไรได้ ต้องสามารถวัดเรื่องนั้นได้ จะบริหารการขายสินค้า ก็ต้องวัดให้ได้ว่าขายสินค้าใด ได้มากแค่ไหน ในวันใด ให้กับใคร

การบริหารโดยใช้การหยั่งรู้ของตนเอง โดยไม่ต้องมีการวัดอะไรเลยสักอย่าง ที่ฝรั่งเรียกว่า Intuitive นั้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ผู้บริหารควรเลิกลากันได้แล้วในวันนี้ ที่เราสามารถรับรู้สารพัดข้อมูลเกี่ยวกับการงานที่เราต้องทำ บางทีไม่ต้องวัดเองเสียด้วยซำ้ งานเดียวกับที่เราทำ กลับมีคนอื่นมาช่วยวัดให้เสียอีก วัดแทนเราแล้วก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ เอาไปป่าวประกาศให้สาธารณะได้ทราบทั่วกันเสียอีก 

ตัวอย่างชัดๆ ใกล้ตัวคนค้าขายคือ ส่วนแบ่งการตลาด ที่มีการเผยแพร่ให้ทราบทั่วกันอยู่เป็นประจำว่า สินค้านี้ใครมีส่วนแบ่งอยู่แค่ไหน โดยที่ไม่ต้องวัดกันเอง ใครที่ผู้คนชื่นชอบอยากให้เป็นผู้นำ ก็เห็นมีคนมาช่วยวัดกันอยู่เป็นประจำ เพียงแต่ว่าถ้าเราอาศัยมือไม้คนอื่นในการวัดเรื่องที่เราทำ ก็ต้องตระหนักไว้เสมอว่า บิ๊กดาต้า นั้น มาเร็ว มาเยอะ มาหลากหลายรูปแบบ และมาแบบจริงบ้างไม่จริงบ้าง จึงไม่ควรรีบร้อนนอนใจ ชื่นชมฝีมือของตนเอง ที่มาจากการวัดของคนอื่น

เครื่องมือรวบรวมข้อมูล ที่เก็บข้อมูลจำนวนมากๆ ได้อย่างรวดเร็วทันใจ มีให้ใช้กันแล้ว เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลที่มีปริมาณมากๆ ก็มีให้ใช้กันมากมาย หลายหน่วยงานก็ซื้อมาใช้กันแล้ว ด้วยราคาที่แพงแสนแพง แถมผู้ใหญ่ก็สั่งการแล้วว่า ต้องใช้ บิ๊กดาต้า กันนะท่านทั้งหลาย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีเครื่องมือแพงๆ เหล่านั้นอยู่ในมือจะใช้ บิ๊กดาต้า สร้างประโยชน์ให้กับการบริหารของตนเองได้ ในทางตรงข้าม คนที่มีแค่ซอฟท์แวร์ที่เป็นส่วนหนึ่งของชุดซอฟท์แวร์สำหรับสำนักงานที่มีการใช้กันอยู่ทั่วไป ไม่ได้เป็นซอฟท์แวร์ราคาแพงๆ กลับได้ประโยชน์จาก บิ๊กดาต้าได้ การใช้ประโยชน์ที่แท้จริงของ บิ๊กดาต้า เริ่มต้นจากตัวผู้บริหาร ที่ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงสำคัญในบางเรื่องเสียก่อน

ถ้าผู้บริหารยังเชื่อการตัดสินใจ ตามการหยั่งรู้ที่เกิดขึ้นในทันที โดยไม่ถามหาข้อมูลอะไรเลย ชอบสั่งการ ชอบบังคับ ชอบบัญชา บิ๊กดาต้าช่วยอะไรไม่ได้ เพราะการตัดสินใจในทุกเรื่องขององค์กรของท่าน เป็นไปตามการตัดสินใจ ตามการหยั่งรู้ของคนใหญ่คนโตในองค์กร ที่ฝรั่งเรียกว่า HIPPO ย่อมาจาก Highest Income Person Personal Opinion ซึ่งยุคก่อนสมัยก่อน ก็ชอบ ที่ต้องทำเช่นนั้นเพราะข้อมูลหายาก วัดยาก ดังนั้น คนที่อยู่ในตำแหน่งสูงๆ ย่อมเชื่อได้ว่าเคยตัดสินใจที่ถูกต้องและมีประสิทธิผลมามากกว่าคนอื่น ซึ่งก็จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง เพราะในบางองค์กรผู้บริหารไม่ได้ขึ้นมาด้วยฝีมือในการบริหาร แต่ขึ้นมาโดยวิธีการอื่นๆ

ดังนั้นถ้าอยากใช้ บิ๊กดาต้าให้ได้ผล ผู้บริหารต้องยอมรับให้ได้ว่า การหยั่งรู้ที่ตนเองเกิดขึ้นในเรื่องใด ที่อาจมาจากประสบการณ์ หรือความเชื่อที่ตนเองมีอยู่นั้น อาจจะถูกต้อง หรือไม่ถูกต้องก็ได้ ยอมรับกันก่อนว่า HIPPO มีทั้งถูกและผิด ไม่เปลี่ยนตรงนี้ อย่าลงทุนกับ บิ๊กดาต้า ถ้าเคยหยั่งรู้ว่าขายของริมคลองแล้วจะขายดี ต้องยอมรับก่อนว่า ขายของริมคลองก็เจ็งมาเยอะแล้วเหมือนกัน อย่ารีบร้อนเร่งรัดให้เปิดตลาดริมคลอง จากการหยั่งรู้ของตนเองโดยเด็ดขาด

ถ้าจะเป็นผู้บริหารในยุค บิ๊กดาต้า กันจริงๆ ต้องเริ่มต้นกับทุกงานที่จะทำว่า งานนี้ข้อมูลบอกอะไรเราบ้าง งานนี้เราจะวัดผลการดำเนินงานกันอย่างไร อยากรับคนเฒ่าคนแก่มาเรียนปริญญา ต้องถามก่อนว่า คนเฒ่าคนแก่ที่ยังสนใจจะเรียนปริญญา มีอยู่แค่ไหน ท่านเรียนไปแล้ว ท่านจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเพียงใด ท่านมีเงินทองพอจะเล่าเรียนได้หรือไม่ ไม่ใช่เริ่มต้นด้วยการหยั่งรู้ในทันทีว่า สังคมชราภาพ มีคนเฒ่าคนแก่เยอะ ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องหันมาสอนคนเฒ่าคนแก่ แทนคนหนุ่มคนสาวที่ลดลงไป ทั้งๆ ที่ไม่เคยทราบว่าคนเฒ่าคนแก่ ที่มีกำลังเศรษฐกิจที่พอจะจ่ายค่าเล่าเรียนได้นั้น เกินกว่า 80% จบปริญญากันมาแล้ว

บิ๊กดาต้าไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อาราธนามาได้เพียงแค่การกล่าวถึง บิ๊กดาต้าใช้ได้ผลกับทุกคน ในทุกที่ทุกเวลา หากยึดมั่นเป็นสรณะว่า งานนี้ข้อมูลบอกอะไรกับเรา งานนี้เราจะวัดผลการดำเนินการได้อย่างไร งานนี้HIPPOถูกได้และผิดได้เสมอ