พร้อมหรือยัง กับการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคพลังงานอัจฉริยะ

พร้อมหรือยัง กับการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคพลังงานอัจฉริยะ

ทุกวันนี้ เราอยู่ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เทคโนโลยีได้เข้ามาตอบสนองความต้องการทางด้านไลฟ์สไตล์

และปัจจัย4ได้อย่างไร้รอยต่อ ทำให้ชีวิตทั้งดีขึ้นและง่ายขึ้น เดี๋ยวนี้ เพียงมีมือถือเครื่องเดียวก็สามารถออกจากบ้านได้ โดยแทบไม่ต้องพกกระเป๋าเงินหรือบัตรเครดิต และหากมองในภาพใหญ่แล้ว ก็จะเห็นว่าเทคโนโลยีและสมาร์ทคอนเซ็ปต์เข้ามามีส่วน ทั้ง “พัฒนา” และ “แก้ไข” ปัญหาของเมืองใหญ่หลายเมืองทั่วโลก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างในญี่ปุ่น ที่นำระบบสมาร์ทเอ็นเนอร์จี เข้ามาช่วยรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงานจากเหตุภัยพิบัติ ส่วนสิงคโปร์เน้นการนำข้อมูลมาใช้(open data) เพื่อมาต่อยอดให้เกิดนวัตกรรม มาช่วยจัดระเบียบสังคมและเอาชนะข้อจำกัดเรื่องทรัพยากรและพื้นที่ไปได้ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่สุด คือ การรู้เท่าทันความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของความต้องการที่แท้จริงของสังคม ประเทศของตน

การนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรมสำหรับประเทศไทยเอง ก็ยังมีหลายแง่มุมที่สามารถนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาส่งเสริมการพัฒนาประเทศได้ เช่น จุดแข็งของเราในด้านเกษตรกรรม หากต้องการตอบสนองอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร และปริมาณทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ปัจจุบันเกษตรกรหลายกลุ่มได้นำแนวคิดการเกษตรแม่นยำสูง(Precision Agriculture)เข้ามาใช้ทำให้การผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในต้นทุนที่น้อยลง ได้ผลผลิตที่ดีขึ้นและมากขึ้น การนำเซ็นเซอร์มาช่วยในการตรวจวัดสภาพแวดล้อม ไปจนถึงประหยัดทรัพยากรด้วยการใช้เทคโนโลยีระบบน้ำหยด(Drip Irrigation System)แทนการรดน้ำแบบเดิมๆ หากหันมามองตัวเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ ที่ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นเมืองที่มีรถติดมากที่สุดในเอเชียนั้น การวิเคราะห์ข้อมูลBig Dataบนท้องถนน สามารถนำมาช่วยชี้ถึงต้นเหตุของปัญหารถติดได้ นำไปสู่แผนการบริหารการจราจรมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะเห็นได้ว่าในทุกๆ บริบทของปัญหา หากเราเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม ก็สามารถนำไปสู่การพัฒนาและแก้ไขอย่างเหมาะสมได้

พร้อมหรือยัง กับการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคพลังงานอัจฉริยะ

โซลูชั่นพลังงานอัจฉริยะ

หนึ่งความต้องการขั้นพื้นฐานในทุกภาคส่วนก็คือการใช้พลังงาน ซึ่งแน่นอนว่าปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถเข้ามาช่วยจัดการให้การผลิตและถ่ายโอนพลังงานไปสู่ผู้ใช้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากขึ้น เช่น ในกรณีของระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งนอกจากปัจจุบันจะมีราคาที่เหมาะสม มีความเสถียร เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและทุกที่สามารถเริ่มต้นติดตั้งแล้วผลิตได้ทันที รวมถึงพลังงานทดแทนอื่นๆ ทั้งนี้ หากเรานำเอาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมาใช้ควบคู่กับระบบ EMS: Energy Management System และ ESS: Energy Storage System จะช่วยให้การบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งทางฝั่งผู้ผลิตและผู้ใช้และหากผลิตเหลือก็สามารถกักเก็บพลังงานที่ผลิตได้ไว้ในแบตเตอรี่เพื่อใช้ในเวลาที่ผลิตไม่ได้หรือนำมาใช้สำรอง สร้างความอุ่นใจให้กับผู้ใช้พลังงานได้อย่างต่อเนือง จึงถือเป็นการนำเทคโนโลยีมาต่อยอดการผลิตพลังงานสะอาด เพื่อช่วยผลักดันประเทศให้ก้าวไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ปัจจัยสำคัญคือการสร้างแผนการผลิตไฟฟ้าที่สมดุลระหว่างพลังงานทดแทนและพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปเพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด

บล็อกเชนกับวงการพลังงาน  

เทคโนโลยีอย่าง ‘บล็อกเชน’ปัจจุบันสามารถเข้ามามีบทบาทได้อย่างมากเพื่อรองรับหลากหลายแง่มุมของชีวิตประจำวัน หลังจากที่ได้สร้างกระแสฮือฮาในวงการฟินเทคมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทำธุรกรรมการเงินที่ทำได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง หรือการทำธุรกรรมในอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมาย เช่น รองรับการซื้อขายหลักทรัพย์ สินเชื่อ รวมทั้งการจัดเก็บเอกสารและข้อมูลสำคัญต่างๆ ด้วยศักยภาพในการยกระดับทั้งความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ และเสถียรภาพของระบบต่างๆ ผ่านหลักการการเก็บข้อมูลโดยกระจายให้กับทุกคนที่อยู่ในระบบเชนเดียวกัน (Distributed Ledger) โดยการบันทึกข้อมูลจะเป็นไปอย่างโปร่งใส ภายใต้การรับทราบและให้ความยินยอมของทุกคนในระบบ นอกจากนี้ บล็อกเชนยังเป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายรูปแบบและสถานการณ์ ตรงกับปัญหา (Pain Points) ของคนในพื้นที่

เมื่อมาคิดต่อว่าเทคโนโลยี ‘บล็อกเชน’ จะนำมาพัฒนาให้วงการพลังงานมีความอัจฉริยะมากขึ้นอย่างได้อย่างไรบ้าง จะเห็นได้ว่าบล็อกเชน เป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญ ความปลอดภัยขั้นสูงซึ่งพ่วงมากับ ‘บล็อกเชน’ สามารถนำมาใช้ในการประมวลผลธุรกรรมว่าแต่ละบ้านขายไฟฟ้าให้แก่กัน ณ เวลาไหน ในราคาเท่าไร ซึ่งการประมวลผลธุรกรรมซื้อขายไฟฟ้านั้นถือว่าเหมาะกับ‘บล็อก เชน’มากเพราะเป็นงานเก็บสะสมธุรกรรมไปเรื่อยๆ เพื่อให้เกิดความเชื่อถือในการไหลของข้อมูล และเป็นการยืนยันว่าประวัติการผลิตหรือซื้อขายไฟฟ้าที่ผ่านมานั้นถูกต้อง ไม่ถูกแก้ไข เพื่อให้การนำผลธุรกรรมไปคิดเงินนั้นเป็นไปอย่างโปร่งใส การนำ‘บล็อกเชน’มาใช้จึงเป็นวิธีการที่ดีกว่าการมีคนกลางมาจดบันทึกมาก และรวมถึงระบบที่ซับซ้อนอย่างการคิดคาร์บอนเครดิตหรือการอุดหนุนค่าพลังงานสะอาด ก็สามารถบันทึกได้ใน‘บล็อกเชน’เช่นเดียวกัน

การเปลี่ยนผ่านไปใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นสมาร์ทซิตี้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในเมือง 

พร้อมตอบรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อม เพียงแต่ต้องใช้เวลาและการสนับสนุนจากทุกส่วนทั้งภาครัฐและหลายฝ่ายในสังคมเพื่อผลักดันให้ทุกภาคส่วนก้าวไปถึงจุดเปลี่ยนโดยพร้อมเพรียงกัน

โดย... 

กนกวรรณ จิตต์ชอบธรรม 

กรรมการผู้จัดการ บริษัท บ้านปู อินฟิเนอร์จี จำกัด