มังกรไฮเทค (จบ)

มังกรไฮเทค (จบ)

มิติใหม่ของการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมกับการบริหารประเทศ

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีนที่เราเห็นผ่านบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ทั้งอาลีบาบา หัวเว่ย และโดยเฉพาะเทนเซ็นต์ที่ผมเขียนถึงในตอนที่แล้ว ทำให้เราเห็นบทบาทของจีนที่พร้อมจะเติบโตในเวทีโลกอย่างเต็มที่

นอกเหนือไปจากความเป็นผู้นำด้านธุรกิจแล้ว ยักษ์ใหญ่อย่างเทนเซ็นต์ก็ยังพยายามใช้เทคโนโลยีเพื่อสังคมอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างที่ผมเห็นคือ การใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกประมวลผลเพื่อสร้างภาพของบุคคลที่สูญหายในอดีต แล้วประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้สูญหาย

การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อเอื้อให้คนทั่วไปมีส่วนร่วมในการช่วยตามหาผู้สูญหายได้ ซึ่งในอดีตถือเป็นเรื่องยากมาก เช่นผู้สูญหายเป็นเด็กอายุ 5 ขวบที่หายออกจากบ้านไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว หากนับถึงปัจจุบันก็จะกลายเป็นเด็กอายุ 10 ขวบ แต่รูปภาพที่ใช้ติดตามตัวเป็นรูปเมื่อตอนอายุ 5 ขวบ โอกาสที่จะได้พบตัวจึงน้อยมาก

เทนเซ็นต์ใช้เทคโนโลยีอิมเมจโปรเซสซิ่งเพื่อคาดการณ์ว่าเด็กอายุ 5 ขวบคนดังกล่าว เมื่อเติบโตขึ้นเป็น 10 ขวบแล้วจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร โดยอิงจากโครงหน้าเดิมกับข้อมูลของครอบครัวเช่นพ่อและแม่ แล้วจึงใช้ภาพนั้น ในการประชาสัมพันธ์ตามหาเด็กหายซึ่งมีโอกาสพบเจอมากกว่าเดิมหลายเท่า

เทคโนโลยีนี้จำลองใบหน้าของผู้สูญหายได้หลากหลายรูปแบบ หากหายตัวไปตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว จนปัจจุบันมีอายุ 25 ปีก็สามารถสร้างภาพจำลองขึ้นมาได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมาก เช่นเดียวกับผู้สูญหายที่หายตัวไปตอนอายุมากแล้ว เช่น 40-50 ปีจนปัจจุบันอายุ 60-70 ปีก็ยังจำลองภาพได้เช่นกัน

เทนเซ็นต์พยายามประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ตนเองมีอยู่เพื่อสังคมเพราะมองเห็นว่ายังมีช่องว่างในสังคมอีกมากที่สามารถนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยยกระดับให้คนในสังคมมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ และเทคโนโลยีนี้ก็ยังช่วยให้คนในสังคมมีโอกาสทำดีด้วยการสอดส่องดูแลผู้คนรอบข้างเพื่อช่วยหาผู้สูญหายได้อีกด้วย

นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานอีกมากที่ต้องการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิต รวบไปถึงผู้พิการในรูปแบบต่าง ๆ แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ซึ่งพลังของผู้ใช้โซเชียลมีเดียนั้นมีมากมายมหาศาลกว่าที่คนทั่วไปคาดคิด

เทนเซ็นต์ใช้สื่อโซเชียลมีเดียที่ตัวเองมีเพื่อเปิดรับบริจาคจากผู้ใช้ทั่วประเทศเพียงคนละ 1 หยวนซึ่งคิดเป็นเงินไทยก็เพียง 5 บาท แต่ฐานผู้ใช้โซเชียลมีเดียของเทนเซ็นต์นั้นมีมากเกือบ 2 พันล้านคน การบริจาคแต่ละครั้งจึงได้เงินเป็นจำนวนมากมายหลายร้อยล้านหลายพันล้านทุกครั้ง

มูลนิธิที่เทนเซ็นต์เข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนเงินบริจาคจึงมีมากมาย ทั้งผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ตามแต่ละมณฑลและแต่ละเมือง ซึ่งผู้ใช้วีแช็ตและคิวคิวสามารถเลือกบริจาคให้หน่วยงานที่ต้องการได้ตามใจชอบ และการบริจาคครั้งละ 5 บาทก็ถือว่าไม่ได้เป็นภาระมากมายนัก แต่พลังงานสังคมที่รวมกันหลายร้อนหลายล้านคนต่างหากที่อาจสร้างสิ่งยิ่งใหญ่ได้

การเติบโตของเทนเซ็นต์จึงไม่ได้มีแค่มิติของธุรกิจที่ใช้โซเชียลมีเดียและการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกมาต่อยอดให้กลายเป็นธุรกิจต่าง ๆ เช่นธนาคารวีแบงค์ แต่ยังหมายความรวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อมีส่วนร่วมกับสังคมด้วยโครงการต่าง ๆ มากมาย

พลังของข้อมูลที่เทนเซ็นต์ได้จากลูกค้าจึงนำไปใช้ได้อีกมากมายเกินกว่าที่เราจะจินตนาการได้ การใช้งานของลูกค้าซึ่งระบุตำแหน่งของตัวเองเอาไว้จึงทำให้เทนเซ็นต์เช็คความหนาแน่นของประชากรในช่วงเวลาต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์

ข้อมูลนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการพัฒนาระบบขนส่ง เพราะสามารถพยากรณ์ได้ว่าช่วงไหนคนจะเดินทางไปจุดไหนมากเป็นพิเศษ ความต้องการใช้งานรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูงจึงบริหารจัดการได้และเทนเซ็นต์ก็เข้าไปช่วยทำแอพพลิเคชั่นเพื่อช่วยลดคิวในการซื้อตั๋วลงได้

เช่นเดียวกับผู้ทำโครงการอสังหาริมทรัพย์เพราะทำให้ได้เห็นว่าผู้คนใช้เวลากลางวันทำงานที่ไหน และกลับไปบ้านหรือคอนโดมีเนียมในละแวกไหน นำไปสู่การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ทั้งของภาครัฐและเอกชน สะท้อนให้เห็นมิติใหม่ของการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมกับการบริหารประเทศได้อย่างแท้จริง