อาร์เจนตินากลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง

อาร์เจนตินากลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อในยุโรปและอเมริกานำเหตุการณ์ในอาร์เจนตินามาพาดหัวข่าวหลายครั้ง ซึ่งบางอย่างดูเหมือนจะต่างเรื่องกัน

เช่น ชาวอาร์เจนตินายังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ ค่าเงินเปโซของอาร์เจนตินาตกลงมาอย่างรวดเร็ว อาร์เจนตินาขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 60% รัฐบาลอาร์เจนตินาลดจำนวนรัฐมนตรีลงมาครึ่งหนึ่ง และอาร์เจนตินาไปปรึกษาไอเอ็มเอฟ แต่พาดหัวข่าวเหล่านี้มีที่มาเดียวกัน นั่นคือ เศรษฐกิจของอาร์เจนตินาประสบปัญหาสาหัสอีกครั้งและรัฐบาลกำลังต่อรองกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เรื่องเงินกู้ ผู้ติดตามเรื่องราวของอาร์เจนตินาย่อมทราบดีแล้วว่า ปัญหาของประเทศซึ่งเคยร่ำรวยกว่าแคนาดาและเยอรมนีนี้มีที่มาจากการเริ่มใช้นโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายเมื่อปี 2459 อย่างไรก็ดี มีบางประเด็นที่ขอนำมาเน้นย้ำอีกครั้งเนื่องจากอีกไม่นานจะมีการเลือกตั้งในเมืองไทยและพรรคการเมืองเล็กใหญ่จะเสนอการต่อยอดนโยบายประชานิยมแนวของอาร์เจนตินาซึ่งถูกนำเข้ามาใช้ในเมืองไทยเมื่อปี 2544

ในเบื้องแรก นโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายที่เสนอให้ของเปล่าแก่ประชาชนมีลักษณะของยาเสพติด เมื่อเริ่มเสพแล้วเลิกยาก ในกรณีของอาร์เจนตินา นักการเมืองหัวใสนำเข้าไปใช้เมื่อปี 2459 ตั้งแต่นั้นมา ชาวอาร์เจนตินาก็เสพติด ย้อนไปในยุคโน้น อาร์เจนตินาปกครองด้วยระบบรัฐธรรมนูญแนวเดียวกับของสหรัฐ ยกเว้น 2 มาตราคือ ห้ามมีทาสและศาสนาประจำชาติต้องเป็นโรมันคาธอลิค เนื่องจากเศรษฐีที่ดินมีพลังทางการเงินสูง พวกเขาจึงเข้าคุมอำนาจรัฐได้และใช้อำนาจรัฐเพิ่มความร่ำรวยให้กลุ่มของตนส่งผลให้ชนชั้นแรงงานไม่พอใจ เมื่อพรรคการเมืองใหม่ของนักการเมืองหัวใสเสนอนโยบายที่พวกเขาจะได้ประโยขน์สูงจากรัฐบาล ชนชั้นแรงงานก็เทคะแนนให้พรรคนั้น

บางฝ่ายไม่พอใจในนโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองใหม่ รวมทั้งผู้นำบางคนในกองทัพ ความไม่พอใจนั้นคุกรุ่นอยู่นานและเมื่อทหารยึดอำนาจ วงจรอุบาทว์ระหว่างการยึดอำนาจของทหารสลับกับการเลือกตั้งก็เกิดขึ้น แต่ทุกรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศไม่สามารถยกเลิกนโยบายประชานิยมได้ เนื่องจากประชาชนกดดันให้ดำเนินงานต่อ ซ้ำร้ายยังขยายให้เข้มข้นและกว้างขวางขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึง ความเข้มข้นและกว้างขวางของนโยบายนำไปสู่การใช้จ่ายสูงจนเงินสำรองกองมหึมาหมด นำไปสู่การใช้เงินกู้และการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มจนเกินฐานทางเศรษฐกิจ นโยบายเลวร้ายในวงจรอุบาทว์นั้นดำเนินอยู่ 40 ปีก่อนที่ อาร์เจนตินาจะเดินเข้าสู่ภาวะล้มละลายและไปกู้เงินฉุกเฉินจากไอเอ็มเอฟ จากนั้นมา อาร์เจนตินาก็ล้มลุกคลุกคลานและพึ่งเงินกู้จากไอเอ็มเอฟเกือบ 10 ครั้ง

ประเด็นที่ 2 ไม่ว่าผู้นำจะมาจากการเลือกตั้ง หรือจากการยึดอำนาจ ไม่มีใครใช้คำว่า “ประชานิยม” ในนโยบายของตน ทุกคนมักประดิษฐ์วาทกรรมงามหรูออกมากล่อมประชาชนว่าจะได้รับประโยชน์สารพัดโดยไม่บอกว่าจะหาเงินมาจากไหนเพื่อใช้ดำเนินนโยบายจำพวกให้ของเปล่าเหล่านั้น จากมุมมองนี้ จึงพอสรุปง่ายๆ ได้ว่า ผู้นำที่ใช้นโยบายประชานิยมจะไม่โกหกและไม่บิดเบือน หรือปิดบังความจริงไม่มี

ประเด็นที่ 3 ประชานิยมแบบเลวร้ายจะนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงถึงขั้นล้มละลาย หรือหายนะ ในช่วงนี้ไม่มีแต่เฉพาะอาร์เจนตินาเท่านั้นที่เป็นข่าวใหญ่ สืบเนื่องมาจากเรื่องการใช้นโยบายประชานิยม กรีซและเวเนซุเอลาก็เป็นข่าวซึ่งคอลัมน์นี้กล่าวถึงแล้ว กรีซเพิ่งก้าวพ้นภาวะล้มละลาย แต่คงต้องใช้เวลาอีกนานจึงจะกลับมาเหมือนเดิม ส่วนเวเนซุเอลากำลังประสบปัญหาอย่างน่าเวทนาที่สุด ประชาชนจำนวนมากอดอาหารถึงกับซมซานเดินทางเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ประเทศนี้มีทรัพยากรน้ำมันปิโตรเลียมมากที่สุดในโลกและมีภูมิอากาศเหมาะแก่การผลิตอาหารเอง

ขอยกมาเท่านี้ ทั้งที่มีประเด็นอีกมาก หากคนไทยยังหลงลมปากนักการเมือง หรือผู้นำกำมะลอต่อไปรวมทั้งการประโคมว่าเมืองไทยจะก้าวพ้นความยากจนในไม่ช้า จะพัฒนาเลยหน้าสิงคโปร์และจะเป็นศูนย์กลางของหลายอย่างในโลก ก็จงเตรียมดูโศกนาฏกรรมรอบกายไว้ให้พร้อม อาจไม่เข้มข้นเหมือนของเวเนซุเอลา แต่จะคล้ายของอาร์เจนตินาเนื่องจากเมืองไทยยังผลิตอาหารได้เพียงพอ หวังว่าคนไทยจะไม่หลงลมปากผู้นำกำมะลอ ตรงข้าม จะทำให้เมืองไทยเป็นสังคมแรกที่เสพประชานิยมแล้วไม่ติด