เค้าโครงเศรษฐกิจของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (2) ***

เค้าโครงเศรษฐกิจของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (2) ***

จากบทความ เรื่อง "เค้าโครงเศรษฐกิจของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (1)" (http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645265)

เมื่อวันศุกร์ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ขออนุญาตนำผู้อ่านได้ติดตามต่อเนื่อง กับเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจของ ท่านปรีดี พนมยงค์ ในตอนที่ 2 นะครับ 

Esping-Anderson (1990) เห็นว่าระบบรัฐสวัสดิการสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ โดยจัดตามกรอบความคิดแบบกว้างๆ เพื่อให้เกิดความง่ายในจัดกลุ่ม มีรายละเอียดดังนี้ [2]

  1. กลุ่มประเทศที่ใช้ระบบสวัสดิการแบบเสรีนิยม (Liberal Regimes)มีลักษณะเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่อยู่ในภาวะขัดสนโดยแท้จริง ระบบสวัสดิการแบบนี้จะเข้าไปช่วยเหลือบุคคลผู้ประสบความยากลำบากในการดำเนินชีวิต มีความแร้นแค้นทางเศรษฐกิจและครอบครัวไม่อยู่ในฐานะที่ดูแลได้ ระบบสวัสดิการแบบนี้แนวทางการจัดระบบสวัสดิการแบบนี้จะให้ความสำคัญกับกลไกตลาดมากกว่าบทบาทของรัฐบาล จึงต้องการให้ภาคประชาชนมีบทบาทสำคัญในการจัดสวัสดิการ ส่วนรัฐบาลจะเข้าไปจัดการเฉพาะส่วนที่ประชาชนดูแลตัวเองไม่ได้ ระบบแบบนี้ใช้ในสหรัฐอเมริกา
  2. กลุ่มประเทศที่มีระบบสวัสดิการแบบวิสาหกิจ (Corporate Regimes)เป็นระบบสวัสดิการที่จัดบนพื้นฐานของการทำงานและลูกจ้างและผู้ใช้แรงงานต้องมีส่วนร่วมในการจ่ายเงินสมทบผู้ที่ได้รับสวัสดิการต้องอยู่ในระบบการทำงานที่ร่วมจ่ายเงินสมทบ
  3. กลุ่มประเทศที่มีระบบสวัสดิการแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democratic Regimes)เป็นระบบที่รัฐจะทำหน้าที่ในการจัดสรรบริการทางสังคมและระบบสวัสดิการสังคมให้กับประชาชนทุกคน รัฐไม่สนใจว่าจะยากจนหรือช่วยเหลือตัวเองได้หรือไม่ ประเทศที่ใช้ระบบนี้จะเก็บภาษีในอัตราสูง ประชากรไม่มากและมีระบบเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า เช่น ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ประเทศเยอรมัน เป็นต้น

ประเด็นที่หนึ่ง แนวคิดในเค้าโครงสมุดปกเหลือง ที่มองว่าด้วยเหตุแห่งความไม่เที่ยงแท้แห่งการดำรงชีวิต เช่น การเจ็บป่วยหรือพิการทำงานไม่ได้ ทำให้ราษฎรทุกคนควรได้รับการประกันความสุขสมบูรณ์ จากรัฐบาล ตั้งแต่เกิดจนสิ้นชีพ ว่าจะได้ปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต สอดคล้องกับ การที่รัฐจะจัดระบบสวัสดิการตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงเสียชีวิต แต่ก็จะเกิดคำถามในปัจจุบันว่า รัฐจะเอาเงินมาจากไหน? จะมีความยั่งยืนทางการเงินการคลังของระบบสวัสดิการต่างๆหรือไม่? แนวคิดที่ต้องการจัดระบบสวัสดิการตามอุดมคติในเค้าโครงเศรษฐกิจ อาจต้องมีการเก็บภาษีเพิ่ม ระบบการเมืองและระบบราชการต้องโปร่งใสกว่านี้และประชาธิปไตยต้องมั่นคงและเข้มแข็งกว่านี้ อุดมคติในเค้าโครงสมุดปกเหลืองจึงเกิดขึ้นจริงดั่งในหนังสือโลกพระศรีอาริย์ที่ท่านปรีดี พนมยงค์ เขียนเอาไว้

ประเด็นที่ 2 เค้าโครงเศรษฐกิจเขียนถึงการประกันความสุขสมบูรณ์ ต้องออกพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจ่ายเงินให้ราษฎรทุกคนเป็นจำนวนพอที่จะแลกเปลี่ยนสิ่งที่ต้องการในการดำรงชีวิต (มีการเขียนรายละเอียดในเค้าร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร) การที่รัฐบาลจ่ายเงินเดือนเพื่อประกันความสุขสมบูรณ์ให้ราษฎรนั้น จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง (มีการเขียนรายละเอียดในเค้าร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการประกอบการเศรษฐกิจ) และมีข้อยกเว้นให้เอกชนประกอบการเศรษฐกิจกรณีได้รับสัมปทานจากรัฐบาล ทั้งนี้เนื่องจาก ราษฎรไม่มีทุนและที่ดินเพียงพอ “แรงงานเสียไปไม่ได้ใช้เต็มที่” (ชาวนาทำงานปีหนึ่งไม่เกิน 6 เดือน ทำให้เวลาที่เหลือสูญเสียไป)

ประเด็นที่ 3 ในเค้าโครงเศรษฐกิจเขียนไว้ว่า “การปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำ จะทำให้ใช้แรงงานสิ้นเปลืองกว่าการรวมกันทำ และหากรัฐประกอบการเศรษฐกิจโดยนำเครื่องจักรกลมาใช้จะส่งผลดีไม่ส่งผลเสีย ดังเช่นให้เอกชนประกอบการที่การนำเครื่องจักรกลนำมาใช้จะส่งผลให้คนไม่มีงานทำ หากรัฐประกอบการเองจะสามารถสร้างงานอื่นให้กับผู้ไม่มีงานทำได้”แนวทางนี้จะสนับสนุนบทบาทของสหกรณ์และบทบาทของรัฐทางเศรษฐกิจเนื่องจากเห็นจุดอ่อนและความล้มเหลวของกลไกตลาด

ในเค้าโครงเศรษฐกิจยังคงเสนอ วิธีการจัดหาที่ดิน แรงงาน และทุน เพื่อใช้ในการประกอบการเศรษฐกิจของรัฐ เช่น ที่ดิน รัฐบาลจะซื้อที่ดินกลับคืนจากเจ้าของที่ดิน (เฉพาะที่ดิน ที่นา ที่ใช้ประกอบการเศรษฐกิจ ไม่รวมที่อยู่อาศัย) รัฐบาลอาจออกใบกู้ให้เจ้าของที่ดินตามราคาที่ดิน และรัฐบาลกำหนดให้เงินผลประโยชน์แทนดอกเบี้ย โดยเจ้าของที่ดินยังมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน การซื้อที่ดินกลับมานี้เป็นวิธีที่ต่างกับวิธีริบทรัพย์ของคอมมิวนิสต์ เมื่อรัฐบาลได้ที่ดินกลับคืนมา จะได้สามารถวางแผนการใช้ที่ดิน การใช้เครื่องจักรกล การทำคูน้ำทำได้ง่ายและประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก

แรงงาน รัฐบาลให้ราษฎรที่อยู่ในวัยแรงงาน (18 ปี ขึ้นไป) เป็นข้าราชการเพื่อให้แรงงานใช้ประโยชน์ได้ตลอดปี รัฐบาลกำหนดให้ราษฎรทำงานตามคุณวุฒิและความสามารถ เงินเดือนแตกต่างกันตามคุณวุฒิแต่กำหนดเงินเดือนขั้นต่ำสุดที่พอเพียงแก่การดำรงชีพ และยกเว้นให้บางคนไม่ต้องรับราชการ เมื่อแสดงให้เห็นว่าสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้แนวคิดนี้อยู่เป็นหลักการเดียวกับระบบประกันการว่างงานแต่มีรายละเอียดดำเนินการที่แตกต่างกัน

ทุน รัฐบาลจัดหาทุน โดยไม่ริบทรัพย์ของเอกชน แต่จะหาทุนโดยวิธีอื่น ได้แก่ การเก็บภาษี เช่น ภาษีมรดก ภาษีรายได้ หรือภาษีทางอ้อม การออกสลากกินแบ่ง การกู้เงิน และการหาเครดิตการมีนโยบายให้ประชาชนและกิจการขนาดเล็กเข้าถึงสินเชื่อและทุนในการประกอบอาชีพและประกอบกิจการในปัจจุบันและในช่วงที่ผ่านมาก็สอดคล้องกับแนวคิดที่เสนอไว้ในเค้าโครงเศรษฐกิจในเรื่อง “ทุน”

แนวคิดบางประการได้นำมาปรับใช้ในปัจจุบัน ส่วนแนวทางบางอย่างก็มิได้เกิดขึ้นเนื่องจากขัดแย้งกับแนวคิดแบบเสรีนิยมซึ่งเป็นกระแสหลักในปัจจุบัน

ประเด็น ในเค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบการเศรษฐกิจ ได้เสนอการจัดให้มีธนาคารแห่งชาติ โดยเอาเงินทุนสำรองและรัฐบาลและเงินกู้จากเอกชนมาเป็นทุนของธนาคารแห่งชาติ ซึ่งต่อมาก็ได้มีการจัดตั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ในสมัยนั้นถูกมองว่าเป็นแนวความคิดแบบสังคมนิยม

[1] รายงานทีดีอาร์ไอ ฉบับที่ 87 เดือนตุลาคม 2553 ทางเลือกของสวัสดิการสังคมสำหรับคนไทย

[2] เอื้อมพร พิชัยธนิช นโยบายเศรษฐกิจว่าด้วยสวัสดิการสังคม : บทวิเคราะห์ประสบการณ์ในประเทศตะวันตก โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2552

*** ชื่อเต็ม: 

เค้าโครงเศรษฐกิจของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ 

สู่ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน​(2)