‘Bitcoin’ ความท้าทายทางกม.สู่สังคมไร้เงินสด

‘Bitcoin’ ความท้าทายทางกม.สู่สังคมไร้เงินสด

ปัจจุบัน นอกเหนือจากการใช้จ่ายผ่านเงินสดและบัตรเครดิตแล้ว ยังมีเงินอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า “เงินดิจิทัล” (Digital money) ซึ่งว่ากันว่า

นี่คือเงินแห่งโลกอนาคตที่จะเข้ามาเปลี่ยนระบบการเงินของโลก Bitcoin เป็นอีกหนึ่งในสกุลเงินดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ โดยมีลักษณะเด่น คือ ไม่มีรูปร่างและไม่สามารถจับต้องได้เหมือนธนบัตรหรือเงินเหรียญ ทั้งนี้ Bitcoin ถูกสร้างขึ้นมาทั้งจากกลุ่มนักพัฒนาเล็กๆ กลุ่มหนึ่งตลอดจนบริษัทใหญ่ ๆ ทั่วโลก และถูกใช้งานโดยคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งานทั่วโลกภายใต้ระบบซอฟต์แวร์ในการถอดสมการคณิตศาสตร์

สำหรับในประเทศไทยนั้น ก็เริ่มตื่นตัวและให้ความสนใจเงินดิจิทัลมากขึ้น แต่ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่รองรับถึงสถานะของ Bitcoin ให้เป็น “ทรัพย์สิน” ตามความหมายของประมวลแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินหมายความรวมทั้งวัตถุมีรูปร่างและวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ แต่อย่างใด ในบทความนี้ผู้เขียน ขอนำเอาหลักกฎหมายทรัพย์สิน (Property Law) ของสหรัฐ มาเป็นเครื่องช่วยในการพิจารณา เทียบเคียงกับระบบกฎหมายไทย และชี้ให้เห็นถึงความท้าทาย หากมีการตีความว่า Bitcoin อาจมีสถานะทางกฎหมายเป็นทรัพย์สินได้

ศาลฎีกาแห่งสหรัฐได้อธิบายว่า สิทธิที่ได้รับการคุ้มครองในฐานะ “ทรัพย์สิน” มีหลายอย่างด้วยกัน โดยทั่วไปแล้วในส่วนที่เป็นวัตถุไม่มีรูปร่างมักเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม อย่างไรก็ตามในสหรัฐ สิทธิในทรัพย์สินไม่ได้ถูกก่อตั้งขึ้นด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ หากแต่เกิดจากกฎหมายของแต่ละมลรัฐที่จะกำหนดให้มีขึ้นดังนั้น กฎหมายในแต่ละมลรัฐจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดว่า bitcoin จะมีสถานะเป็นทรัพย์สินหรือไม่

กรณีของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็น 1 ใน 50 รัฐ ที่มีการก่อตั้งบริษัทเป็นฐานการดำเนินงานในอุตสาหกรรม cryptocurrency และมีจำนวนมากที่สุดในสหรัฐจนเป็นแบบอย่างของการพัฒนาที่ดีในประเด็นทางกฎหมายเกี่ยวกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยี มาเป็นตัวอย่าง โดยภายใต้กฎหมายแคลิฟอร์เนียนั้น การมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน คือสิทธิของบุคคลหนึ่งหรือหลายคนที่จะครอบครองและใช้โดยมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น ทั้งนี้ ศาลแคลิฟอร์เนียได้อธิบายเพิ่มเติมถึงคำจำกัดความของทรัพย์สินไว้เป็นแนวคิดอย่างกว้างว่า ทรัพย์สินให้หมายความรวมถึงวัตถุที่ไม่มีรูปร่าง และยังต้องครอบครองหรือจำหน่ายจ่ายโอนได้ ในปี ค.ศ.1992 ศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ ได้ใช้หลักเกณฑ์ 3 ข้อ ในการพิจารณาถึงสิทธิในทรัพย์สิน คือ (1) ต้องมีผลประโยชน์หรือมูลค่าโดยชัดแจ้ง (2) มีสิทธิผูกขาดในการใช้และครอบครองแต่ผู้เดียว (3) สิทธิผูกขาดแต่ผู้เดียวนั้นต้องชอบด้วยกฎหมาย

ในคดี Kremen v. Cohen, 2003. ศาลได้ตีความว่าชื่อ โดเมน อินเทอร์เน็ต เป็นรูปแบบของทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างภายใต้กฎหมายแคลิฟอร์เนีย ในการตีความดังกล่าวศาลได้ใช้ตัวชี้วัด 3 ข้อ ดังต่อไปนี้ คือ ประการแรก เช่นเดียวกันกับหุ้นของบริษัทหรือแปลงที่ดิน ชื่อโดเมนอาจมีผลประโยชน์หรือราคาอย่างชัดเจนได้ ประการที่ 2 ความเป็นเจ้าของเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะที่ผู้ลงทะเบียนโดเมนเป็นผู้ตัดสินใจว่า ควรมีอะไรอยู่บนหน้าเว็บไซด์บ้าง ประการที่ 3 มีการอ้างสิทธิ์ที่ชอบด้วยกฎหมายในเอกสิทธิ โดยกระทำการจดทะเบียนชื่อโดเมนและการลงทุนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและดูแลรักษาหน้าเว็บโดเมน

ศาลในคดีหลังๆ ได้ปรับใช้กฎหมายและได้ตีความว่า ข้อมูลธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์ รหัสคอมพิวเตอร์ ข้อมูลที่เป็นความลับเกี่ยวกับสัญญาทางการค้า แผนธุรกิจและแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ ก็ถือเป็นทรัพย์สิน แต่อย่างไรก็ดี ศาลได้ปฏิเสธว่าข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้จากโทรศัพท์ ตัวอย่างเช่น zipcodes, user location, and device identifier เป็นทรัพย์สินที่ไม่อาจจะประเมินราคาในการถูกละเมิดได้ และมิอาจครอบครองเป็นเจ้าของและควบคุมแต่ผู้เดียวได้

เมื่อพิจารณาหลักกฎหมายของไทย ศาลไทยได้เคยตีความปัญหาการเป็นทรัพย์สินของสิ่งที่ไม่มีรูปร่างไว้ในหลายคดี ตัวอย่างเช่น ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 877/2501 กระแสไฟฟ้าแม้มองไม่เห็นจับต้องไม่ได้ แต่ถือเอาเป็นทรัพย์สินที่มีค่าและราคาได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1850/2531 หุ้นในบริษัทจำกัดเป็นทรัพย์สิน แม้โอนกันโดยไม่สมบูรณ์แต่เมื่อผู้รับโอนได้ครอบครองมาเกิน 5 ปี ก็ได้กรรมสิทธิ์ในหุ้นเหล่านั้นไปเพราะครอบครองปรปักษ์ หรือกรณีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1880/2542 โทรศัพท์เป็นวิธีแปลงเสียงพูดให้เป็นกระแสไฟฟ้าแล้วส่งกระแสไฟฟ้าให้กลับเป็นเสียงพูดอีกครั้งหนึ่ง สัญญาณโทรศัพท์จึงเป็นกระแสไฟฟ้าที่แปลงมาจากเสียงพูด เคลื่อนที่ไปตามสายลวดตัวนำจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง การที่จำเลยลักเอาสัญญาณโทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์แห่งประเทศไทยไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เช่นเดียวกับการลักกระแสไฟฟ้า

ผู้เขียนอยากชี้ให้เห็นความท้าทายที่สำคัญ ในการตีความ Bitcoin ว่าเป็นทรัพย์สินหรือไม่ โดยมีข้อสังเกต 4 ประการด้วยกัน กล่าวคือ ประการแรก ด้วยลักษณะเฉพาะตัวของ Bitcoin ซึ่งสามารถใช้นามแฝงหรือการไม่เปิดเผยตัวตนในการเป็นเจ้าของ จะทำให้ผู้นั้นมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่ ประการที่สอง Numerus clausus เป็นแนวคิดของกฎหมายทรัพย์สินซึ่งจำกัดจำนวนชนิดของสิทธิที่ศาลจะยอมรับว่ามีลักษณะของ “ทรัพย์สิน” โดยคู่สัญญาถูกจำกัดสิทธิอย่างเคร่งครัดไม่ให้สร้างสิทธิใหม่ ๆ ขึ้นได้ ประการที่สาม ผู้ถือจำนวนมากไม่เก็บ Bitcoin ด้วยตัวเอง แต่ต้องใช้บุคคลหรือบริษัทภายนอกเพื่อทำเก็บรักษาไว้แทน และประการสุดท้าย ระบบ blockchain ต้องการคนรับรองความถูกต้องในการโอน ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าอำนาจในการควบคุมทรัพย์สินเป็นของใคร และระบบภายในยังคงไม่เอื้อต่อการตรวจสอบว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

กล่าวโดยสรุป ผู้เขียนมีความเห็นว่า ระบบกฎหมายของไทยควรพัฒนาให้เอื้อต่อการรองรับเงินดิจิทัลว่าเป็นทรัพย์สินอีกประเภทหนึ่ง เพื่อเป็นอีกหนทางหนึ่งในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมในอนาคตต่อไป

โดย... 

ดร.ณัชชา สุขะวัธนกุล

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์