SDGs กับพลังของคนรุ่นใหม่

SDGs กับพลังของคนรุ่นใหม่

ประเทศต่างๆ ทั่วโลกล้วนให้ความสำคัญกับ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals - SDGs

 และยกให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งการพัฒนาของโลก ล่าสุดเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายทางออกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network: SDSN) ได้จัดทำรายงาน “SDGs Index and Dashboards ประจำปี 2561” ชี้ถึงผลจากการวัดสถานะความพร้อมและความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายภายในปี 2573

การวัดผลการพัฒนาอย่างยั่งยืนล่าสุดนี้พบว่า ประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ใน อันดับที่ 59” โดยตกอันดับจากปีที่แล้วซึ่งอยู่อันดับที่ 55 จากประเทศที่สำรวจทั้งหมด 156 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถือเป็นการปลุกเตือน (Wake up call) ครั้งสำคัญให้ทุกภาคส่วนตื่นขึ้นมาร่วมมือร่วมแรงกันเพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติต่างๆ ของประเทศไทย

เมื่อดูในรายละเอียดแต่ละด้าน พบว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ประเทศไทยกำลังดำเนินไปได้ดี จัดอยู่ใน ระดับสีเขียวมีอยู่ 2 เป้าหมาย ได้แก่ เรื่องการขจัดความยากจนและการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนและพร้อมใช้สำหรับทุกคน

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ประเทศไทยยังมีความชะงักงัน จัดอยู่ใน ระดับสีส้มยังมีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน ได้แก่ เรื่องการศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม ความเท่าเทียมกันทางเพศ การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาเมืองและถิ่นฐานมนุษย์ที่ยั่งยืน การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศบนบก ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ ผลการประเมินยังชี้ว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ประเทศไทยยังไม่มีแนวโน้มว่าจะบรรลุได้ทันเวลาและยังคงต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน หรือจัดอยู่ใน ระดับสีแดงมี 7 เป้าหมาย ได้แก่ การขจัดความอดอยาก สร้างความมั่นคงทางอาหาร การลดความเหลื่อมล้ำ เรื่องการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชาชน การพัฒนาอุตสาหกรรม นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล รวมถึงเรื่องสังคมที่สงบสุข ยุติธรรมและไม่แบ่งแยก

SDG Dashboard สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและใต้

ผลการจัดอันดับล่าสุดดังกล่าวชี้ว่าอันดับการขับเคลื่อนงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ของประเทศไทยยังไม่ค่อยดีนัก และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งพัฒนากลไกต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

หากเราพิจารณาความพยายามและทิศทางการขับเคลื่อน พบว่า ในปัจจุบัน รัฐบาลได้ยึดแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศตามหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” (Sufficiency Economy Philosophy for Sustainable Development Goals) หรือ “SEP for SDGs” และเร่งการขับเคลื่อนภายใต้ภาคีเครือข่ายประชารัฐ เน้นการผนึกกำลังทุกภาคส่วน ตลอดจนการปรับเปลี่ยนหลักคิดของคนและปรับกระบวนทัศน์ในการพัฒนาให้ถูกทาง เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ Thailand 4.0

นอกจากการขับเคลื่อนในระดับนโยบายแล้ว ล่าสุด เราเริ่มเห็นทิศทางการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะ คนรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อน SDGs ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ดังเช่น การจัดงาน “SDGs Hackathon” ครั้งสำคัญที่สุดในประเทศไทย  ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นคนรุ่นใหม่ในหลากหลายวงการ ที่ได้มาร่วมกันสร้างสรรค์ “นวัตกรรม” เพื่อตอบโจทย์ SDGs แบบมาราธอนตลอด 30 ชั่วโมง ใน 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ สังคมที่เข้าถึงทุกคนไม่ทอดทิ้งคนกลุ่มใด การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และ การบริโภคและผลิตอาหารที่ยั่งยืน

โดยเมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)” ได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน SDGs Hackathon ครั้งที่ 1 จ.เชียงใหม่ ซึ่ง “SDGs Hackathon” นับเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนการมีส่วนร่วมภายใต้โครงการ Youth Co:Lab Thailand โดย Thailand Social Innovation Platform และ “UNDP ประเทศไทย” คนรุ่นใหม่ที่ร่วมงาน SDGs Hackathon ได้ให้ความสนใจใช้ความคิดสร้างสรรค์ ออกแบบนวัตกรรมดีๆ ที่น่าสนใจ ผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เพื่อตอบโจทย์ที่หลากหลายทั้งเรื่องผู้สูงอายุ ผู้พิการ การศึกษา สุขภาพ ท่องเที่ยว ชุมชน และภาคเกษตร

“กลุ่ม We share Wheelchair” ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ เล็งเห็นถึงปัญหา “ผู้พิการด้านการเคลื่อนไหว” ที่ต้องนั่งรถเข็นวีลแชร์ ไม่มีโอกาสใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกนัก เพราะ “ขาดข้อมูล” ที่บ่งบอกสิ่งอำนวยความสะดวกของสถานที่ต่างๆ จึงได้เสนอทำ Google map สำหรับคนพิการหรือผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางการเคลื่อนไหว ซึ่งจะสร้างผลกระทบทางสังคม (Social Impact) ให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้นอย่างน้อยกว่า 1 ล้านคน ไอเดียของกลุ่มคือการสร้างแผนที่เดินทาง online และระบุสิ่งอำนวยความสะดวก โดยใช้ข้อมูลและมุมมองจากคนพิการ (user generating data) เพื่อเป็นการส่งเสริมการเข้าถึง การสร้างข้อมูล และเร่งกระบวนการพัฒนาอารยสถาปัตย์ (Universal Design)

สำหรับงาน SDGs Hackathon ยังจะมีต่อเนื่องอีกที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร ในเดือนสิงหาคมและกันยายนนี้ เราได้เห็นถึงพลังการเปลี่ยนแปลงสำหรับอนาคตของประเทศและเครือข่าย Change Agent ที่จะสร้างอนาคตที่ดีให้กับสังคมไทยต่อไปอย่างมีพลัง ซึ่งพลังของคนรุ่นใหม่นี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับนานาประเทศต่อไป

โดย... 

ประกาย ธีระวัฒนากุล และธราธร รัตนนฤมิตศร

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation