วิจารณ์ ร่างพรบ.จัดการขยะแห่งชาติ พ.ศ......(ตอน 1)

วิจารณ์ ร่างพรบ.จัดการขยะแห่งชาติ พ.ศ......(ตอน 1)

ปัญหาขยะเป็นเรื่องสำคัญระดับชาติสำหรับกาลปัจจุบัน ถึงขนาดที่รัฐบาลคสช.ได้ประกาศเป็นนโยบายหลักนโยบายหนึ่งที่จะแก้ปัญหานี้ให้ได้ในเร็ววัน

และสืบเนื่องจากนั้นก็ได้มีการร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการขยะแห่งชาติ พ.ศ.....ขึ้นมา ซึ่งร่างนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว และปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

เรา ผู้ซึ่งมีส่วนในการให้การศึกษาและข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมแก่ทั้งนักศึกษาและสังคม จะขอทำหน้าที่แทนคนไทยในการให้ข้อคิดเห็นต่อร่างพรบ.ฯนี้ ก่อนที่สนช.จะสรุป และประกาศออกมาบังคับใช้กับประชาชนและหน่วยราชการรวมทั้งเอกชน เพราะหากประกาศออกไปแล้วการที่จะมาปรับปรุงแก้ไขพรบ.ใหม่อีกครั้งเป็นเรื่องที่ยากแสนยากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้ในเร็ววัน เป็นข้อๆ ดังนี้

1.ขยะติดเชื้อ:- ในร่างพรบ.ฉบับนี้ได้กล่าวถึงขยะติดเชื้อ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมาจากโรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ ทว่าขยะติดเชื้อนี้มิใช่ขยะทั้งหมดที่มาจากกระบวนการทำงานด้านสาธารณสุข มันยังมีขยะอื่นที่เป็น“ขยะการแพทย์” หรือ Medical Waste อยู่ด้วย เช่น ยาหมดอายุ กากสารเคมีจากห้องปฏิบัติการ พยาธิวิทยา ของมีคม เป็นต้น ซึ่งขยะพวกนี้สามารถก่อให้เกิดปัญหาทางสาธารณะ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างมากเช่นกัน ดังนั้นประเด็นนี้จึงควรใส่เข้าไปในพรบ.ฉบับนี้ด้วยเสียตั้งแต่ในร่างฯนี้

2.ขยะชุมชน ขยะอันตราย:- ขยะอันตรายมีพิษมากกว่าขยะชุมชน เรื่องนี้ไม่ต้องเน้นย้ำใครๆก็รู้ แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่(อาจจะเกือบทุกคน)ไม่รู้ คือ ขยะชุมชนก็เป็นขยะพิษหรือขยะอันตรายได้ เพราะในการทิ้งของที่ไม่ใช้แล้วในบ้านเราไปเป็นขยะ ให้รถขยะมารับไปนั้น เราไม่ได้ทิ้งเพียงเศษอาหาร เศษกระดาษ เศษผ้าขี้ริ้ว ฯลฯ แต่เรายังทิ้งถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่นาฬิกา แบตมือถือ กระป๋องยาฆ่าแมลง (ที่ยังมีน้ำยาหลงเหลืออยู่) ยาหมดอายุ หลอดไฟ ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ ฯลฯ ไปกับขยะจากบ้านจากชุมชนด้วย ดังนั้นถ้าจะว่าไปแล้วไม่มีขยะชุมชนใดเลยที่เป็นขยะที่ปราศจากสารพิษ แต่ในร่างพรบ.ฉบับนี้ยังคิดในกระบวนทัศน์เดิมๆ คือ ขยะชุมชนก็คือขยะชุมชน มิใช่ขยะที่มีสารอันตรายปะปนอยู่ ซึ่งเมื่อตั้งธงไว้ไม่ตรงทิศเช่นนี้ มาตรการใดๆที่ตามมาจะทำให้ถูกต้องตรงทิศก็คงยาก แล้ววัตถุอันตรายต่างๆที่มากับขยะชุมชนก็จะกลับมาทำร้ายสังคมและประชาชนได้ในโอกาสต่อไป เราจึงเห็นว่าควรมีการแก้ไขปรับปรุงร่างพรบ.ฉบับนี้ให้ครอบคลุมและรัดกุมประเด็นนี้มากกว่านี้

3.กองทุน:- ในร่างพรบ.ฉบับนี้ได้มีการเอ่ยถึงกองทุน โดยให้หมายความว่า “กองทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม” ซึ่งก็ถูกต้องแล้วที่จะใช้งบประมาณจากกองทุนนี้มาดำเนินการ ศึกษาวิจัย ปรับปรุง ฟื้นฟู ฯลฯ อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับขยะ เพราะขยะก็คือปัญหาหนึ่งของสิ่งแวดล้อม แต่ที่ต้องขอท้วงติงไว้ ณ ที่นี้ก็คือ กองทุนสิ่งแวดล้อมนี้มีเงินทุนอยู่น้อยมาก เท่าที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบันก็แทบจะไม่พอใช้ หากเอาปัญหาขยะในมิติใหม่ของการจัดการระดับชาติตามร่างพรบ.ฉบับนี้ไปฝากไว้กับกองทุนสิ่งแวดล้อม ก็ดูจะเป็นปรากฎการณ์ “เตี้ยอุ้มค่อม” เสียมากกว่า เราจึงอยากจะเสนอให้มีการกำหนดการหาแหล่งทุนเพิ่มมาป้อนให้กับกองทุนสิ่งแวดล้อม โดยอาจจะหมายหูหรือ earmarked ไว้ให้ใช้กับปัญหาขยะโดยเฉพาะด้วยก็ได้ แม้วิธีการนี้อาจมีข้อด้อยและข้อถกเถียงอยู่บ้างก็ตาม

4.การร่วมมือและประสานงาน:- ในการจัดทำแผนแม่บทของการจัดการขยะแห่งชาตินี้ ในร่างพรบ.ได้กำหนดให้มีการเสริมสร้างความร่วมมือและประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐกับภาคเอกชน (หมวด ๒ มาตรา ๑๙) แต่ไม่มีการเอ่ยถึงการบูรณาการระหว่างหน่วยงานราชการด้วยกัน และด้วยอำนาจหน้าที่ของแต่ละกรมกองที่แตกต่างกันและมีเป็นของตัวเอง อันทำให้เกิดการทำงานในลักษณะแท่งใครแท่งมันและไม่ประสานงานกัน ยกตัวอย่างเช่น ปัญหามลพิษอากาศในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะฝุ่นจิ๋ว (PM2.5) ซึ่งเกินมาตรฐานอยู่เกือบ 2 เดือน ในช่วงปลายปีต่อต้นปีที่ผ่านมา (2561) โดยไม่มีใครจัดการกับมันได้ เพราะตำรวจก็ไม่จับรถควันดำ กทม.ก็ไม่ประกาศเขตห้ามรถเข้า มหาดไทยก็ไม่สั่งห้ามเผาในที่โล่ง รัฐบาลก็ไม่ประกาศการใช้รถวันคู่วันคี่ ฯลฯ ดังนั้นหากปล่อยให้การทำงานเป็นไปในรูปแบบเดิม ปัญหาก็คงไม่ได้รับการแก้ไขได้อย่างสมบูรณ์และเบ็ดเสร็จ ร่างพรบ.นี้จึงควรกำหนดให้ชัดเจนถึงการที่หน่วยงานของรัฐต่างต้องร่วมกันบูรณาการกันให้งานสำเร็จลุล่วงไป หากจะรอให้กรรมการจัดการขยะชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานมาสอดส่องและสั่งการ ก็เชื่อหัวไอ้เรืองได้ว่าไม่ทันการณ์ และไม่สำเร็จ หรือมิฉะนั้นก็ต้องมีบทลงโทษที่ชัดเจน นอกเหนือไปจากการสั่งปลดหรือย้ายออกจากตำแหน่ง ซึ่งเท่าที่ดูมามาตรการนี้ค่อนข้างด้อยประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างมาก

5.การมีส่วนร่วม:- ประเด็นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นเรื่องที่ดีและไม่มีไม่ได้ แต่ประเด็นอยู่ที่ระดับของการมีส่วนร่วม ในร่างพรบ.นี้กำหนดให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรภาคเอกชน มีสิทธิในการเสนอแนะ การแสดงความคิดเห็น การมีส่วนร่วมตัดสินใจ การตรวจสอบ และการเรียกร้อง (มาตรา ๓๖ (๔)) ซึ่งเราเห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรกำหนดหรืออนุญาตให้มีในทุกข้อข้างต้น ยกเว้นข้อการมีส่วนร่วมตัดสินใจ เพราะหากยอมให้เป็นเช่นนั้นได้เราก็ไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้อำนวยการกอง อธิบดี ปลัดกระทรวง ไปจนถึงรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี เพราะคนกลุ่มนี้ก็จะไม่จำเป็นต้องตัดสินใจอะไร และจะมีแต่รอผลการประชุมร่วมของภาคีว่าจะตัดสินใจอย่างไร แล้วก็ดำเนินการไปตามนั้น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงเมื่อเกิดเหตุใดขึ้นมาในภายหลังเราก็จะหาคนที่รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เลย เราจึงเห็นว่าภาครัฐและรัฐบาลซึ่งเป็นหน่วยงานหรือองค์กรที่มีหน้าที่ ภารกิจ และพันธกิจในการบริการสังคมและสาธารณะเป็นการเฉพาะ เขาเหล่านั้นก็ควรทำหน้าที่นั้นอย่างเต็มภาคภูมิ เต็มศักดิ์ศรี และเต็มความรับผิดชอบ แต่หากต้องการจะให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจจริง เราก็อยากจะเห็นการทำประชามติในประเด็นนั้นๆของพื้นที่นั้นด้วย

6.ภาษีติดลบหรือ negative tax :- ประเด็นนี้เราหมายความว่าใครหรือองค์กรใดที่ทำได้ดีกว่าที่กฎหมายกำหนด แทนที่เขาจะต้องจ่าย“ภาษี”ให้รัฐ เขากลับต้องเป็นผู้ที่ได้รับ“ภาษีติดลบ”นี้กลับคืนจากรัฐมาเป็นรางวัล นั่นคือ หากชุมชนใดหรือองค์กรใดสามารถทำ 4R (Reject, Reduce, Reuse, Recycle) กับขยะของตัวเองได้จนเหลือขยะน้อยมากหรือเป็นศูนย์ นั่นหมายความว่าเขากำลังทำคุณประโยชน์ให้กับชาติอย่างมหาศาล ซึ่งนอกเหนือจากการเป็นตัวอย่างที่ดี ที่ทำได้จริง ให้คนอื่นเอาไปทำตามในวงกว้างแล้ว เขายังสามารถลดภาระงานและงบประมาณจากภาครัฐได้ งบประมาณส่วนที่รัฐและอปท.ประหยัดได้จึงควรส่งกลับไปยังพวกเขา ที่แน่นอนต้องเป็นชุมชนเข้มแข็งอยู่แล้ว ให้เขาทำดีอย่างอื่นยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งนี้นอกเหนือจากการได้ลดค่าธรรมเนียมค่าขยะเพียงอย่างเดียวตามที่กำหนดไว้ในร่างพรบ.นี้

7.ส่งขยะกลับคืน:- ปัจจุบันไทยกำลังเผชิญปัญหาการนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอันตราย ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่าได้ไม่คุ้มเสีย กับการที่เราจะปล่อยให้ลูกหลานต้องเผชิญกับปัญหาขยะพิษที่เมื่อกระจายไปสู่สิ่งแวดล้อมในวงกว้างแล้วก็แทบจะหาทางแก้ไขฟื้นฟูไม่ได้เลย เหตุที่เกิดขึ้นที่กองขยะแพรกษา(ไฟไหม้)หรือที่หมู่บ้านคลิตี้(ปัญหาตะกั่วปนเปื้อน)ย่อมเป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดการที่ไม่ดี ในร่างพรบ.ขยะนี้ (มาตรา ๔๕) เรายังไม่เห็นมีการเอ่ยถึงมาตรการการส่งขยะที่เราไม่ต้องการนี้กลับคืนไปยังประเทศต้นทางที่ทำได้อย่างเป็นจริง(ไม่ใช่เพียงในกระดาษ) มีประสิทธิภาพ และหาคนมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายนี้ รวมทั้งลงโทษกลุ่มคนที่ทำร้ายประเทศไทยเช่นนี้ได้อย่างเห็นผลทันตา เราคิดว่าประเด็นนี้สำคัญและควรถูกแทรกไว้ให้ชัดเจนในพรบ.ฉบับนี้

8.ขยะเป็นพลังงาน:- โครงการ Waste to Energy (W2E) หรือการเอาขยะหรือของทิ้งแล้วมาใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นแหล่งพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซและไฟฟ้า ได้รับการยอมรับและความนิยมในต่างประเทศทั้งยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น จีน ฯลฯ มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว(หมายเหตุ: สหรัฐอเมริกามีประมาณ 120 แห่งยุโรปตะวันตกมี 400 แห่ง และเอเชียมีมากกว่า 300 แห่ง) เพราะนอกจากจะเป็นการกำจัดขยะอย่างค่อนข้างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์แล้ว ยังสามารถก่อให้เกิดรายได้ขึ้นมาด้วย แน่นอนที่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่คนร่างพรบ.ฉบับนี้ย่อมรู้อยู่แล้ว แต่เราคิดว่าเรื่องนี้สำคัญและใหญ่เกินกว่าที่จะไปอยู่ในระดับกฎกระทรวง และมาตรการ W2E นี้ควรอยู่ในระดับพรบ.ที่เรากำลังช่วยกันหาคำตอบให้สิ้นสุดกันอยู่ ณ ขณะนี้ เราจึงขอเสนอมาเพื่อสนช.กรุณาพิจารณา

ข้อสังเกตรวมทั้งข้อวิจารณ์ต่อร่างพรบ.ฉบับนี้ยังไม่หมด ยังมีต่ออีก 8 ข้อ โปรดติดตามตอนต่อไป

โดย... 

ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดนยภรณ์ พรรณสวัสดิ์

สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม

มหาวิทยาลัยรามคำแหง