Brexit จะจบเมื่อไหร่ & แรงสุดแค่ไหน

Brexit จะจบเมื่อไหร่ & แรงสุดแค่ไหน

เรียกว่ามาแรงแบบเรื่อยๆ ชนิดเกาะกระแสฟุตบอลโลกจนเบียดมากับ Trade War สำหรับ Brexit

บทความนี้ จะขอตอบคำถามถึงการสิ้นสุดและผลกระทบจาก Brexit โดยบทสุดท้ายในรูปแบบต่างๆของ Brexit ว่าจะดำเนินต่อไปในปีหน้าจนถึงปี 2020 อย่างไรบ้าง มีดังนี้

หนึ่ง ไม่มีข้อตกลง Brexit ใดๆเกิดขึ้น’ หรือ No Deal ประเด็นอยู่ที่ไอร์แลนด์เหนือ ว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ ที่อังกฤษเจรจากับอียู จะใช้กับอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือหรือไม่ โดยหากยังไม่สามารถตกลงกันได้ภายในสิ้นปีนี้ จะทำให้ต้องเกิดการตั้งด่านเก็บภาษีและการตรวจตราเอกสารต่างๆ ทั้งสินค้าและบริการตรงเขตแดนระหว่างอังกฤษและไอร์แลนด์ รวมถึงเขตแดนกับยูโร จะทำให้กระบวนการ Brexit ต้องชะงักงัน ในมิติทางการเมือง จะเกิดการถกเถียงกันในกลุ่ม Brexiteer และ Remainer ส่วนด้านผลกระทบเชิงธุรกิจ จะทำให้เกิดแผนฉุกเฉินเพื่อรองรับช่วงเปลี่ยนผ่านนี้

สอง ‘Hard Brexit หลังจากเปลี่ยนผ่านหากการเจรจาระหว่างอังกฤษและยุโรป ไม่สามารถตกลงกันได้ โดยเฉพาะประเด็นการให้สินค้าและบริการเพียงบางส่วนตามที่อังกฤษต้องการเป็นส่วนที่สามารถค้าขายโดยเสรี (Cherry-Picking) จะเกิดข้อตกลงที่คล้ายกับยุโรปทำกับแคนาดาที่เรียกกันว่า Canada Comprehensive Economic and Trade Agreement (CETA) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สามารถค้าขายระหว่างกันเพียงบางส่วน ซึ่งอังกฤษน่าจะถือว่าออกจากยูโรแบบชัดเจนในกรณีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของบริการทางการเงิน

สาม เกิด Customs Union หลังช่วงเปลี่ยนผ่าน กรณีนี้ น่าจะถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ Remain Camp ต้องการ โดยอังกฤษจะค่อยๆ ตกลงถอนตัวออกจากยุโรป หลัง มี.ค. 2019 จากนั้น อังกฤษจะเซ็นสัญญาข้อตกลงการค้าเสรีและ Customs Union กับยุโรปในปี 2020 โดยยังสามารถค้าขายได้กับไอร์แลนด์เหนืออย่างเสรีเหมือนเดิม ในมิติทางการเมือง กลุ่ม Brexiteer ยังบ่นว่าทำให้อังกฤษไม่สามารถตกลงและเซ็นสัญญาการค้ากับต่างประเทศเนื่องจากยังอยู่ใน Customs Union ส่วนธุรกิจในส่วนของบริการด้านการเงินถือว่าเสียเปรียบกว่าเซกเตอร์อื่น

สี่ ให้เกิดการคิดภาษีกับยูโรเฉพาะสินค้าและบริการบางกลุ่ม’ ดีลแบบนี้คือสิ่งที่นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษต้องการ ทว่านักการเมืองฝั่ง Brexiteer บ่นว่าเป็นแค่ Brexit เพียงแต่ชื่อ โดยชาวอังกฤษและยุโรปยังสามารถเดินทางระหว่างอังกฤษและยุโรปได้อย่างเสรีและรัฐบาลยังมีการแบ่งปันงบประมาณกับยูโรเหมือนเดิม โดยธุรกิจในส่วนของบริการด้านการเงินถือว่าเสียเปรียบกว่าเซกเตอร์อุตสาหกรรมและเกษตร

ท้ายสุด ‘European Economic Agreement’ (EEA) โดยดีลแบบนี้คล้ายกับที่นอรเวย์ทำกับยูโรในปัจจุบัน ซึ่งถือว่ายังสามารถค้าขายกับยูโรได้อย่างค่อนข้างเสรีและเกือบทุกฝ่ายพึงพอใจยกเว้นกลุ่ม Brexiteer ที่ชาตินิยม โดยนักวิชาการส่วนใหญ่จะชื่อชอบทางเลือกนี้ เนื่องจากยังสามารถค้าขายกับประเทศในยุโรปได้อย่างค่อนข้างเสรี

หากถามว่าผลกระทบของการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ จะมีผลต่อจีดีพีและตลาดหุ้นของอังกฤษ รวมทั้งของไทยอย่างไร รวมถึงเงินปอนด์จะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร จะขอตอบคำถามดังกล่าว ดังนี้

เมื่อพูดถึงประมาณการของจีดีพีที่ลดลงจากการเกิด Brexit คงต้องมองไปที่หน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือของประเทศได้แก่กระทรวงการคลังของอังกฤษ ว่าประมาณการผลกระทบของ Brexit ไว้เท่าไหร่ ตัวเลขที่กระทรวงการคลังอังกฤษได้คำนวณไว้คือจีดีพีลดลง 7.8% ในระยะยาว โดยคำนวณจากปริมาณการค้ากับต่างประเทศที่จะลดลงเมื่ออังกฤษเกิด Brexit ขึ้นมา

จากนั้น ผลกระทบที่เกิดจากปริมาณการค้าที่ลดลง จะส่งผลต่อระดับผลิตภาพของปัจจัยการผลิตของประเทศ จนกระทั่งนำเข้าไปวิเคราะห์กับแบบจำลองแบบดุลยภาพ จนได้อัตราการเจริญเติบโตของจีดีพีที่ลดลงของอังกฤษปรากฏว่าจีดีพีเติบโตลดลง 7.8% ในระยะยาว สำหรับในระยะสั้นนั้น ทางLondon School of Economicsได้คำนวณไว้ว่าจะลดลงราว 1.3-2.6% ใน 1-2 ปีแรก

หากอ้างอิงจากงานศึกษาของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย จะพบว่าเมื่อจีดีพีของอังกฤษลดลง 1% จะส่งผลให้กำไรของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ลดลงประมาณ 0.72% จากอัตราการเติบโตของจีดีพีที่ลดลงในระยะสั้น ทำให้สามารถประเมินได้ว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนจะลดลงประมาณ 0.9% และเมื่อค่า P/E ของดัชนี FTSE100 ที่ประมาณ 16.7 จะทำให้ตลาดหุ้นของอังกฤษตกลงประมาณ 14% จากการ Brexit

ทีนี้ถ้ายังจำกันได้ สมัย Grexit หรือกรีซทำท่าจะออกจากยูโรในปี 2011 ตลาดหุ้นยุโรปหล่นฮวบลงประมาณ 30% และทำให้ตลาดหุ้นไทยตกลง สิริรวมทั้งสิ้นประมาณ 7% หากเป็นเช่นนี้ ด้วยแรงส่งของ Brexit น่าจะส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยโดยรวมให้ลดลงประมาณ 3-4% จากเหตุการณ์ Brexit แบบรุนแรง 

เมื่อพิจารณารายอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจาก Brexitในตลาดหุ้นอังกฤษ ที่หนักสุดน่าจะได้แก่ ภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลอนดอน ที่มีหุ้น 2 ตัวหลัก อย่างBritish LandและLand Securitiesที่จะดิ่งลงอย่างหนัก

หากพิจารณาจากเหตุการณ์ค่าเงินยูโรที่ลดลงราว 7% ในระยะเวลา 1 เดือน และ 15% ในเวลา 6 เดือนในช่วงวิกฤติกรีซแรงสุดเมื่อ 3 ปีก่อน แม้ท้ายสุด กรีซจะไม่ออกจากยูโรก็ตาม เมื่อพิจารณากรณี Brexit หากเกิดแบบแรงๆ ผมคิดว่าค่าเงินปอนด์น่าจะลดต่ำลงไม่น้อยกว่าระดับค่าเงินยูโรที่ลดลงในช่วง Grexit จากเหตุการณ์ Brexit แบบรุนแรงครับ 

หมายเหตุ : ผู้ที่สนใจเข้ารับการอบรมเรื่อง “เจาะลึก Trade War & Brexit” พบกับมุมมอง Macro และการลงทุน ในครึ่งปีหลัง 2018 ในวันเสาร์ที่ 4 ส.ค. 2018 ติดตามรายละเอียดได้ที่ LINE ID: MacroView MacroViewblog.com และ facebook.com/ MacroView ครับ