การยึดหรืออายัดเงินดิจิทัลตามมาตรฐานสากล

การยึดหรืออายัดเงินดิจิทัลตามมาตรฐานสากล

คริปโตเคอร์เรนซี หรือ “เงินดิจิทัล” คือหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกนำมาใช้แทน “เงินตรา” ในโลกดิจิทัล

เนื่องจากความไม่ไว้วางใจที่ผู้ใช้บริการทางการเงินมีต่อระบบสถาบันการเงินและรัฐบาลจากเหตุการณ์วิกฤตการณ์(แฮมเบอร์เกอร์) ทางการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2008 เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้การทำธุรกรรมทางการเงินต้องอาศัยตัวกลางอย่างสถาบันการเงินอีกต่อไป ผู้ใช้นามแฝงว่า “ซาโตชิ นากาโมโต้ (Satoshi Nakamoto)” จึงได้คิดนำเทคโนโลยี “บล็อคเชน (Blockchain)” มาใช้แทนสื่อกลางการแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัล หรือมาใช้แทนสถาบันการเงินนั่นเอง ลักษณะพิเศษของเทคโนโลยีบล็อคเชนนั้น ตัวตนของผู้ใช้เงินดิจิทัลจะถูกเก็บเป็นความลับโดยสมบูรณ์ และการแลกเปลี่ยนถ่ายโอนเงินดิจิทัลก็สามารถกระทำได้อย่างรวดเร็วเพียงชั่วเวลาวินาที

การใช้ แลกเปลี่ยนเงินดิจิทัล รวมถึงการมีเงินดิจิทัลไว้ในครอบครองเพื่อการเก็งกำไรได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายอย่างรวดเร็วไปทั่วทั้งโลก ในประเทศไทยเอง ก็ได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน มีการนำเงินดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือในการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือที่เราเรียกกันว่า Initial Coin Offerings (ICO) จนกระทั่งภาครัฐต้องตราพระราชกำหนดการ(พ.ร.ก.)ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อกำกับดูแลการระดมทุนด้วยวิธี ICO อันเป็นการระดมทุนที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง และจำเป็นต้องคุ้มครองผู้ลงทุน

ในอีกแง่มุมหนึ่ง มีการถกเถียงกันอย่างแพร่หลายว่า หากมีการกระทำผิดแล้ว จะถือว่าเงินดิจิทัลดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดที่จำเป็นต้องยึดหรืออายัดด้วยหรือไม่ และการยึดหรืออายัดดังกล่าวจะกระทำได้ด้วยวิธีใด เนื่องจากที่ผ่านมา มีการใช้เงินดิจิทัลในการกระทำความผิดอย่างแพร่หลาย ทั้งการฟอกเงิน การซื้อขายสิ่งผิดกฎหมาย หรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เพราะการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินดิจิตอลนั้นยากแก่การตรวจสอบและป้องกัน 

การยึดหรืออายัดเงินดิจิทัลตามมาตรฐานสากล

องค์กรระหว่างประเทศทั้งหลายเล็งเห็นความสำคัญ จึงได้ออกแนวปฏิบัติ (Guidance) และมาตรฐาน (Standards) เพื่อเป็นแนวทางให้แต่ละประเทศนำไปปรับใช้ในการตรากฎหมายอันเกี่ยวข้องกับการยึดหรืออายัดเงินดิจิทัล มาตรฐานสากลที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดคือมาตรฐานที่ออกโดย Financial Action Task Force (FATF)

โดยทั่วไปแล้ว มาตรฐานของ FATF กำหนดให้ทรัพย์สินที่ใช้ในการฟอกเงิน หรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการฟอกเงินต้องถูกยึดหรืออายัดทันทีโดยมิต้องคำนึงถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้สุจริตที่อาจได้รับผลกระทบจากการยึดหรืออายัดดังกล่าว มาตรฐานของ FATF ยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐในการ  (1) ระบุ ติดตาม และประเมินทรัพย์สินที่จะต้องยึดหรืออายัด (2) ดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้มีการยักย้าย เปลี่ยนมือ หรือจำหน่ายออกไปซึ่งทรัพย์สิน (3) ดำเนินการอย่างใด ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขัดขวางอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่ต้องการยึดหรืออายัด (4) ดำเนินการอย่างใด ๆ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ สอบสวนในเรื่องอันเกี่ยวด้วยการยึดหรืออายัดทรัพย์สิน

สำหรับกระบวนการในการยึดหรืออายัดเงินดิจิทัลนั้น สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime) ได้วางกรอบกฎหมายให้แต่ละรัฐรับไปเป็นแนวทางในการตรากฎหมายของตนไว้ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การตรวจสอบ (Investigation) เงินดิจิทัลประกอบด้วยโครงสร้างและหน่วยข้อมูลที่ซับซ้อน การยึดหรืออายัดได้ การอาศัยวิธีการตรวจสอบเงินดิจิทัลที่ใช้ในการก่ออาชญากรรมหรือได้มาจากการก่ออาชญากรรม จึงต้องอาศัยองค์ความรู้พิเศษ การตั้งหน่วยสืบสวนพิเศษเพื่อการยึดหรืออายัดเงินดิจิทัลจึงเป็นสิ่งจำเป็น และหน่วยสืบสวนพิเศษนี้ควรมีนักเข้ารหัส (Cryptographer) เป็นสมาชิกอยู่ด้วย

ขั้นต้อนที่ 2 การสืบทราบทรัพย์ (Asset Tracing)  การเริ่มต้นกระบวนการสืบทราบทรัพย์มักเกิดขึ้นจากการเห็นสัญญาณ “ธงแดง (Red Flags)” ซึ่งสำหรับเงินดิจิทัลนั้น สัญญาณธงแดงได้แก่สัญญาณดังต่อไปนี้

2.1 บัญชีธนาคารจำนวนมากอยู่ในครอบครองของผู้ให้บริการระบบเงินดิจิทั้ลเพียง 1 ราย หรือผู้ให้บริการการแลกเปลี่ยนเงินดิจิตอลเพียง 1 ราย  2.2 ผู้ให้บริการระบบเงินดิจิทัล หรือผู้ให้บริการการแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลซึ่งดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศหนึ่ง แต่มีบัญชีธนาคารอยู่ในอีกประเทศหนึ่ง 2.3 การเคลื่อนไหวไม่ปกติของเงินระหว่างบัญชีของผู้ให้บริการระบบเงินดิจิทัลหรือผู้ให้บริการการแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลรายหนึ่งกับผู้ให้บริการอีกรายหนึ่งที่อยู่คนละประเทศกัน

2.4 ปริมาณและความถี่ของการทำธุรกรรมทางการเงินของผู้ให้บริการระบบเงินดิจิทัลหรือผู้ให้บริการการแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัล หรือบุคคลที่ทำงานในบริษัทดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางเศรษฐศาสตร์ 2.5 ระบบเงินดิจิทัลที่มีระบบการลงทะเบียนที่ไม่ได้มาตรฐานหรือมีความไม่โปร่งใส หรือระบบเงินดิจิทัลที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้ก่ออาชญากรรม มาตรฐานข้อนี้เป็นแนวทางให้แต่ละรัฐบังคับให้ผู้ให้บริการระบบเงินดิจิทัลจะต้องมีระบบการลงทะเบียนตามที่รัฐกำหนด

ขั้นตอนที่ 3 การเข้าควบคุมทรัพย์สิน (Control of Assets) แนวทางการเข้าควบคุมทรัพย์สินที่เป็นเงินดิจิทัลนี้สามารถกระทำได้สองแนวทาง ได้แก่ 3.1 บังคับให้เจ้าของชื่อบัญชีของเงินดิจิทัล (Wallet Address) มอบชุดข้อมูลเกี่ยวกับชื่อบัญชี, กุญแจสาธารณะ (Public Key) และกุญแจส่วนบุคคล (Private Key) ซึ่งใช้ในการรับและจ่ายเงินออกจากบัญชี ของตนให้กับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเข้ายึดหรืออายัด อย่างไรก็ดี แนวทางนี้ย่อมกระทบถึงสิทธิส่วนบุคคลพื้นฐานของเจ้าของบัญชีอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ วิธีการนี้ยังไม่สามารถรับรองได้ว่า ชุดข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ได้รับมอบมาจะไม่ถูกทำสำเนาไว้ก่อนการส่งมอบ 3.2 ใช้กระบวนการถ่ายโอนเงินดิจิตอลตามระบบปกติ โดยให้เจ้าหน้าที่ผู้เข้ายึดหรืออายัดมีบัญชีเป็นของตนเองเพื่อรับการโอนเงินดิจิตอลที่ต้องการยึดหรืออายัด

ขั้นตอนที่ 4 การบรหารจัดการทรัพย์สิน (Management of Assets) เนื่องจากกรรมสิทธิ์เหนือเงินดิจิทัลที่ถูกยึดหรืออายัดนั้นยังเป็นของเจ้าของเดิม ไม่ได้ถูกโอนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐแต่อย่างใด รัฐจึงต้องมีการบริหารจัดการเงินดิจิทัลนั้นอย่างระมัดระวัง ภายใต้กรอบกฎหมายที่ให้อำนาจไว้อย่างเคร่งครัด และระหว่างที่เงินดิจิทัลอยู่ในความครอบครองของรัฐนี่เองที่เงินดิจิทัลอาจเกิดความผันผวนทางมูลค่าอย่างมีนัยสำคัญ หากภายหลังศาลมีคำพิพากษาว่าเงินดิจิทัลดังกล่าวไม่ได้ถูกใช้ในการก่ออาชญากรรมหรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการก่ออาชญากรรมไม่ว่าในทางใด การคืนเงินดิจิทัลจำนวนนั้นให้แก่เจ้าของเดิมจะคืนให้เป็นจำนวนเท่าไหร่เมื่อพิจารณามูลค่าที่เปลี่ยนแปลงไปของเงินดิจิทัลแต่ละหน่วย ประเด็นนี้ต้องมีบัญญัติไว้ในข้อบทกฎหมายให้ชัดเจนด้วย

จากแนวทางดังกล่าว ทำให้สามารถเห็นภาพร่างอย่างคร่าว ๆ ของแนวทางที่กฎหมายไทยสามารถใช้ในการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ว่าด้วยการยึดหรืออายัดเงินดิจิทัล เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และก้าวทันโลกอิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนารุดหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

 โดย... นางเขมฤทัย สุมาวงศ์

นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

[email protected]