ถึงเวลา...รัฐปกป้องเกษตรกรไทย

ถึงเวลา...รัฐปกป้องเกษตรกรไทย

แถลงการณ์กระทรวงเศรษฐกิจเม็กซิโก ตอบโต้สหรัฐด้วยมาตรการในระดับเดียวกับสหรัฐ โดยตั้งกำแพงภาษีสินค้าของสหรัฐมากกว่า 40 รายการ

 โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร ซึ่งเม็กซิโกระบุว่าเป็นการใช้สิทธิอันชอบธรรม หลังสหรัฐได้เรียกเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมในอัตรา 25% และ 10% ตามลำดับ ต่อเม็กซิโก แคนาดา และสหภาพยุโรป (อียู) ตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

งานนี้เม็กซิโกที่เป็นตลาดส่งออกเนื้อหมูใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ได้ตั้งกำแพงภาษีเนื้อหมู ตลอดจนผลิตภัณฑ์แปรรูปอย่างไส้กรอกและแฮมของสหรัฐที่ 20% ในระดับภาษีเดียวกันกับแอปเปิล องุ่น แครนเบอร์รี มันฝรั่ง และเนยแข็ง ส่วนชีสสดต้องเสียภาษีที่ 25% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับเทนเนสซี วิสกี้

นับเป็นมาตรการตาต่อตาฟันต่อฟัน ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

การที่สหรัฐกดดันให้รัฐบาลไทยเปิดรับเนื้อสุกรของสหรัฐ ที่ล่าสุดดำเนินการผ่านสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) ที่รับลูกสภาผู้ผลิตสุกรแห่งชาติของสหรัฐ ในอันที่จะพิจารณาทบทวนการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าไทย ด้วยเหตุผลว่า คุณสมบัติของไทยไม่เข้าข่ายของประเทศที่ได้รับสิทธิด้านการเปิดตลาดสินค้าให้กับสหรัฐอย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรม ซึ่งจะมีการประกาศผลการพิจารณาเรื่องนี้ภายในเดือน ต.ค.นี้

นับเป็นความพยายามในการผลักดันไทยยอมรับมาตรฐานการใช้สารเร่งเนื้อแดง Ractopamine ที่มีอยู่ทั่วไปในสหรัฐ ด้วยข้ออ้างว่าเป็นไปตามข้อกำหนดของคณะกรรมการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX Alimentarius Commission - CAC) ที่มีสหรัฐอยู่เบื้องหลังการผลักดันให้กำหนดค่าสูงสุดที่อนุญาตให้มีได้ เป็นที่มาของมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์ที่ 69/67 เสียง ในการกำหนดค่า MRL ของ Ractopamine ที่ 10 ppb ตั้งแต่ ก.ค.2555 เป็นต้นมา และมาตรฐานโคเด็กซ์นี้ได้เป็นหนึ่งในอาวุธทางการค้าที่สหรัฐนำมาใช้เจรจาเพื่อผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเปิดรับชิ้นส่วนสุกรสหรัฐ

จริงอยู่ว่าสารเร่งเนื้อแดงจะช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อและเพิ่มการเติบโตในสุกร แต่สารนี้มีฤทธิ์ในการกระตุ้นสมองและระบบการไหลเวียนของเลือด และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนที่บริโภคเข้าไป โดยเฉพาะกับเด็กและคนที่เป็นโรคหัวใจ โรคลมชัก และโรคเบาหวาน

ยิ่งการบริโภคของคนไทยที่รับประทานแทบจะทุกชิ้นส่วนของสุกร ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ หัว เครื่องใน หนัง รวมถึงมัน ฯลฯ และวัฒนธรรมการบริโภคที่มีทั้งแบบสุก ดิบ กึ่งดิบกึ่งสุก เช่น ลาบ ลู่ ต่างกับชาวยุโรปและอเมริกันที่รับประทานเฉพาะเนื้อ

ขณะที่การเลี้ยงสุกรของไทยกล่าวได้ว่ามีมาตรฐานในระดับเดียวกับสหภาพยุโรป จะเห็นได้จากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคกลางตอนบนเพื่อการค้า ออกมาระบุว่าที่ผ่านมาทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐโดยกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูและเกษตรกรผู้เลี้ยง ต่างร่วมกันรณรงค์ให้คนไทยเห็นถึงผลกระทบของสารเร่งเนื้อแดงที่มีต่อสัตว์เลี้ยง และสุขภาพของคนที่รับประทานเนื้อสัตว์ที่มีสารนี้ตกค้าง ควบคู่ไปกับการปราบปรามการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 20 ปี เพื่อไม่ให้สารนี้ก่อโทษภัยต่อคนไทย เป็นการสร้างความปลอดภัยในอาหารตลอดห่วงโซ่การผลิต

ในประเทศไทย การเห็นความร่วมมือโดยเฉพาะรูปแบบประชารัฐ ที่จะเห็นผลสัมฤทธิ์นี้เป็นเรื่องยาก อีกทั้งการประสาน บูรณาการก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลอยากให้เกิดขึ้น แต่กลายเป็นว่าทุกสิ่งที่ร่วมสร้างกันมาต้องสูญสลายไปอย่างน่าเสียดาย

หากเปิดทางให้มีการนำเข้าเนื้อสุกรสหรัฐจริง ก็เท่ากับเป็นการค้านกฎหมายไทย และไม่ต่างกับการนำเข้าระเบิดเวลามาทำลายสุขภาพและความปลอดภัยในอาหารของคนไทย

นอกจากนี้ยังเป็นการทำร้ายเกษตรกรไทย เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่มีอยู่ 1.95 แสนราย ต้องล้มหายตายจากไปกันหมด และยังส่งผลเป็นโดมิโนถึงเกษตรกรในห่วงโซ่การผลิต ทั้งผู้ปลูกพืชไร่ ภาคอาหารสัตว์ ตลอดจนเวชภัณฑ์สัตว์ ที่มีรวมกว่า 2 แสนราย ต้องได้รับผลกระทบไปด้วย

ถึงเวลาที่ภาครัฐต้องยืนหยัดเคียงข้างเกษตรกรไทย และผู้บริโภคชาวไทยแล้วกระมัง?

โดย...โชค สมมาส