ทำงานตามเส้นทางหัวใจ

ทำงานตามเส้นทางหัวใจ

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ความเจริญของเศรษฐกิจทำให้เกิดธุรกิจอุตสาหกรรมใหม่ๆอาชีพใหม่ ๆ เป็นทางเลือกหลากหลายให้คนรุ่นใหม่สรรหางานที่อยากทำได้

กระนั้นก็ตามยังมีอีกหลายคนที่ไม่สามารถทำในสิ่งที่ใจรักได้เพราะปัจจัยของครอบครัวและปัจจัยของโอกาสที่ได้รับไม่เท่าเทียมกันในเรื่องการได้การแนะแนวการศึกษาและอาชีพ ต้องยอมรับว่าประสิทธิภาพความพร้อมของครูอาจารย์ในสถานศึกษาทั่วโลกยังไม่ก้าวหน้าเที่ยงตรงมากพอที่จะรองรับจำนวนของเด็กนักเรียนนิสิตนักศึกษา อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาเพื่อประเมินทัศนะคติและความถนัดก็ยังสูงเกินกว่าที่หลายคนจะจ่ายได้

ระบบการแนะแนวที่มีการโค้ชเยาวชนให้ก้าวตามฝันของเขาได้อย่างมีประสิทธิผลจึงยังเป็นสิ่งสุดเอื้อมสำหรับเยาวชนทั่วโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่ตามองค์กรต่างๆมีพนักงานที่ไม่ได้เป็น “คนที่ใช่” ของนายจ้าง และงานที่พนักงานทำก็ไม่ได้เป็น “งานที่ใช่” ของเขาเช่นกัน

มีหลักจิตวิทยาที่จะจำแนกตนเองโดยเป็นผลงานของนักจิตวิทยามีชื่อเก่าแก่คือ ไมเคิล มาโคบี้ ที่ทำการวิเคราะห์บุคลิกภาพของคนเราโดยใช้ปัจจัย 4 ประการ ก็คือ เป้าหมายของชีวิต (Life goals) แรงจูงใจ (Motivation) อัตลักษณ์ของตนเอง (Self-image) และความสัมพันธ์กับผู้อื่น (Relations with others) จากปัจจัย 4 ประการนี้ มาโคบี้จำแนกบุคลิกภาพของคนเราออกเป็น 4 แบบ ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีความสนใจและความถนัดในการประกอบอาชีพต่างกัน บุคลิกภาพ 4 แบบนี้ได้แก่ ช่างฝีมือ (Craftsman)  นักรบป่า (Jungle fighter) มนุษย์บริษัท (Company man) และนักเล่นเกมส์ (Gamesman) มาศึกษากันถึงรายละเอียดที่คนแต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไรเลยค่ะ

ช่างฝีมือ ชื่อก็บ่งบอกอยู่แล้วเป็นผู้ที่ทักษะความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ เป็นผู้ที่เชื่อมั่นในค่านิยมขนบธรรมเนียมประเพณี ยึดมั่นในจริยธรรม มีความเคารพให้กับผู้อื่น เน้นเรื่องคุณภาพ ความประณีตของผลงาน ตัวอย่างของคนที่มีบุคลิกภาพสไตล์การทำงานแบบช่างฝีมือก็คือ ศิลปินในทุกแขนง วิศวกร สถาปนิก นักวิทยาศาสตร์ที่อุทิศตนให้กับการสร้างงานที่เยี่ยมยอด บุคคลเหล่านี้ให้ความสำคัญกับรายละเอียดของกระบวนการทำงาน เขาเป็นผู้ที่ชอบการสร้างงาน เวลาที่เขามองเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชาหรือลูกน้อง สิ่งที่เขามองหาจากบุคคลเหล่านี้ก็คือคนเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยหรือขัดขวางเขาในการที่จะสร้างงานฝีมือของเขา คนแบบช่างฝีมือถ้าแสดงออกในด้านดีจะเป็นผู้ที่สร้างสรรค์งานที่ยิ่งใหญ่ให้กับองค์กร ความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเป็นเลิศจะทำให้งานของเขาผงาดในตลาด แต่ถ้าคนแบบช่างฝีมือแสดงออกซึ่งบุคลิกภาพในด้านลบ เขาจะเป็นคนที่ทำทุกอย่างให้งานเขาสำเร็จในแบบที่เขาต้องการโดยไม่สนใจว่าเป้าหมายขององค์กรคืออะไร และอาจไม่ยอมปรับเปลี่ยนวิธีทำงานเสียด้วย ดื้อเอาเรื่องเลยทีเดียว

นักรบป่า เป็นผู้ที่ต้องการอำนาจ มุมมองของเขาต่อชีวิตและสภาพแวดล้อมในองค์กรที่ทำงานก็เปรียบเสมือนการใช้ชีวิตอยู่ในป่าที่ต้องรู้จักรักษาตัวเองให้ปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง ประมาณว่าถ้าไม่ถูกฆ่าหรือถูกกินก็ต้องฆ่าหรือกินคนอื่น ผู้ชนะคือผู้ที่แข็งแรงกว่า ผู้แพ้คือคนอ่อนแอที่ต้องถอยออกไปถ้าไม่พร้อม เมื่อทำงานในองค์กร นักรบป่ามีแนวโน้มที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ตนเองและแผนกของตนก้าวหน้าชนะแผนกอื่น มุมมองที่เขามองพนักงานแผนกอื่นก็คือ ถ้าไม่ได้เป็นผู้ที่มีอุดมการณ์ร่วมกับเขา ก็ย่อมเป็นคู่แข่งหรือศัตรู อย่างไรก็ตาม มาโคบี้ยังจัดแบ่งนักรบป่าออกเป็น 2 แบบย่อยอีกคือ เป็นสิงโตหรือสุนัขจิ้งจอก ถ้าเป็นนักรบป่าแบบสิงโต จะมีพฤติกรรมชอบยึดครอง เช่น ขยายอาณาจักรธุรกิจกลายเป็นกลุ่มบรรษัทขนาดยักษ์ ส่วนนักรบป่าแบบสุนัขจิ้งจอกจะสร้างรังที่มั่นอยู่กับตำแหน่งในองค์กร เป็นนักการเมืองมีชั้นเชิง ถ้าออกแนวร้ายจะมีเล่ห์เหลี่ยมพราว โดยภาพรวมถ้าองค์กรรู้จักใช้นักรบป่าในเชิงบวก พวกเขาจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้องค์กรกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวขององค์กรอื่น พวกสิงโตจะช่วยขยายอาณาจักรธุรกิจ เพราะมีจิตวิญญาณของความเป็นเถ้าแก่สูง ส่วนสุนัขจิ้งจอกไม่น่าคบเท่าไร เพราะสนใจแต่ประโยชน์ของตนเอง ทั้งนี้ข้อควรระวังก็คือคนแบบสิงโตและสุนัขจิ้งจอกออกจะมีศัตรูมากอยู่เพราะความที่ชอบแข่งขันเอาชนะ ดังนั้นอาจโดนศัตรูทั้งในและนอกองค์กรกำจัดได้ทุกเมื่อ

มนุษย์บริษัท เป็นคนที่แสวงหาความมั่นคงปลอดภัย หาที่พักพิง ดังนั้นการเป็นสมาชิกขององค์กรใดองค์กรหนึ่งจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สร้างความมั่นคงให้กับเขา บุคลิกส่วนดีของมนุษย์บริษัทเมื่อเขามีความเข้มแข็งที่สุดคือการที่เขามีความสนใจดูแลคนอื่นๆในองค์กร มีความรักองค์กรและพยายามสร้างชื่อเสียงศักดิ์ศรีให้กับองค์กร เขาเป็นคนที่สร้างความสมัครสมานสามัคคี ประสานงานสิบทิศได้ดี แต่ถ้าเกิดสถานการณ์ที่ทำให้เขารู้สึกกลัวหรือไม่มั่นคง พลังงานด้านลบของเขาจะส่งผลให้กลายเป็นคนที่ไม่กล้าลุกขึ้นต่อสู้ ปลีกตัวหาความสงบ ไม่อยากและไม่ยอมมีเรื่องกับใคร หนีปัญหา

นักเล่นเกมส์ มองว่าอาชีพและชีวิตการทำงานเป็นเหมือนการเล่นเกมส์ที่ต้องคอยมองหาจังหวะและโอกาสในการทำคะแนน ว่องไวในการสังเกตเห็นโอกาสและความเสี่ยง และมีความสามารถในการคำนวณค่าความเสี่ยง เก่งในการพลิกแพลงเทคนิคในการทำงานเหมือนเล่นเกมส์ได้บ่อยๆ หากมีคนแบบนี้ทำงานอยู่ในทีม เขาจะเป็นตัวจุดพลังให้คนอื่นๆด้วยความกระตือรือร้นมีพลังของเขาเอง สิ่งที่ทำให้เขาแตกต่างจากนักรบป่าก็คือนักเล่นเกมส์ไม่ได้สนใจการทำสงครามเพื่อขยายอาณาเขตหรืออาณาจักรธุรกิจ สิ่งที่เขาต้องการก็คือชื่อเสียง เกียรติยศ ความรู้สึกว่าเป็นผู้ชนะ และกลัวที่จะเป็นผู้แพ้

ถึงแม้ว่ามาโคบี้จะจำแนกสไตล์การทำงานออกมาเป็น 4 แบบ แต่เขาอธิบายว่าผู้นำและพนักงานในองค์กรอาจจะไม่ได้มีบุคลิกอย่างใดอย่างหนึ่งที่ชัดเจนเต็มตัว อาจจะเป็นแบบผสมกันไป ยกตัวอย่างเช่นผู้นำที่มีความเป็นนักเล่นเกมส์ผสมกับมนุษย์บริษัท ความเป็นนักเล่นเกมส์ของเขาจะทำให้เขาพุ่งสู่ตำแหน่งสูงๆอย่างรวดเร็วและในเวลาเดียวกันความเป็นมนุษย์บริษัทจะทำให้เขาสนใจและเก่งในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับลูกทีม เขาจะนำทีมสู้กับคู่แข่งในการช่วงชิงตลาด สร้างนวัตกรรมใหม่ เพราะสนุกกับการแข่งขันในเกมส์ธุรกิจของเขา

องค์กรแต่ละองค์กรล้วนต้องการคนทุกแบบที่กล่าวมาให้มาทำงาน เพราะงานแต่ละชนิดและสถานการณ์แต่ละแบบต้องการสไตล์การทำงานที่ต่างกัน ผู้บริหารจึงต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจว่าพนักงานแต่ละคนมีจุดเด่น จุดด้อยอย่างไรและเลือกใช้คนให้ตรงกับงานและสถานการณ์ นอกจากนั้นยังต้องคอยบริหารจัดการรักษาสภาพแวดล้อมขององค์กรให้มีบรรยากาศการทำงานที่ดีส่งเสริมให้พนักงานทำงานได้เต็มศักยภาพในทางบวกของเขา อย่างไรก็ตามผู้นำก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ตลอดเวลา แต่อย่างน้อยก็ควรรู้ว่าเมื่อสถานการณ์ไม่ดีควรเรียกพนักงานบุคลิกแบบใดมาแก้ไขให้ดีขึ้น และมีความตระหนักในตัวเองว่าควรจะแสดงพฤติกรรมอย่างไรจึงจะเหมาะสม