ทำไมจึงไม่สามารถแก้โครงสร้างของระบบสาธารณสุขไทย

ทำไมจึงไม่สามารถแก้โครงสร้างของระบบสาธารณสุขไทย

ระบบสาธารณสุขภาครัฐและเอกชน ไม่ใช่สองนคราสาธารณสุข (ตามที่ ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร ว่าไว้) เนื่องจากทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถร่วมมือกันทำงาน

ในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้ แม้จะอยู่ต่างสังกัดระหว่างภาครัฐและเอกชน กล่าวคือผู้ป่วยใน รพ.เอกชน ก็จะขอมารับการรักษาจาก รพ.ของรัฐได้ ในกรณีที่ต้องการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ หรือผู้ป่วยใน รพ.ของรัฐ ก็ขอย้ายมารักษาใน รพ.เอกชนได้ ถ้าต้องการนอนห้องพิเศษ หรือต้องการการดูแลรักษาเป็นพิเศษ

 ทั้ง รพ.รัฐ-เอกชนไม่มีปัญหาใดๆ ระหว่างกันในการบริหารจัดการเรื่องการรักษาพยาบาลผู้ป่วย เนื่องจากประชากรกลุ่มเป้าหมายของ รพ.เอกชน คือผู้ป่วยที่มีทุนทรัพย์ที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ ตามอัตราค่าใช้จ่ายของ รพ.เอกชน ซึ่งยังไม่มีการกำหนดเพดานขั้นสูงในการคิดอัตราค่ารักษาพยาบาล ส่วนประชากรกลุ่มที่ต้องพึ่ง รพ.รัฐ ก็คือประชาชนที่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (30 บาท) ประชาชนในระบบสวัสดิการข้าราชการและประชาชนในกลุ่มประกันสังคม

ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบ รพ.รัฐ (ซึ่งมากกว่า 80% เป็น รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขนั้น) เกิดจากการที่ รพ.ทั้งหมดไม่ได้รับงบประมาณโดยตรงจากรัฐบาลในการมาดำเนินการตามภารกิจหน้าที่ของ รพ. มาใช้จ่ายในการดำเนินงานตรวจรักษาผู้ป่วย (หมายเหตุผู้เขียน : การตรวจรักษาผู้ป่วยในที่นี้หมายความถึง การดูแลรักษาแบบครบวงจร ตั้งแต่ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจวินิจฉัย รักษาและฟื้นฟูสุขภาพ)

ทำให้ รพ.ได้รับเงินค่ารักษาผู้ป่วยเท่ากับต้นทุนค่าใช้จ่ายจริง เกิดมีหนี้สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ รพ.ไม่มีเงินพอเพียงที่จะดำเนินการตรวจรักษาผู้ป่วย ไม่มีเงินซื้อยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ และไม่มีเงินจ่ายค่าตอบแทนการทำงานของบุคลากร

 ผู้บริหารสูงสุดของ รพ.ก็พยายามประหยัดเงินค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เช่น ไม่ยอมจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาของข้าราชการและลูกจ้าง (ไม่มีใครอยากทำงานนอกเวลาราชการ แต่มีผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลรักษาตลอด 24 ชม. ทั้ง หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่อื่นๆ ก็ต้องจำยอมเสียสละ อดทน ทำงานนอกเวลาราชการ แต่ไม่ได้รับค่าจ้างทันที ติดค้างกันเป็นหลายเดือนหลายปี) และแม้นายกรัฐมนตรีจะสั่งการให้รัฐมนตรีแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมานานเกิน 1 ปี 6 เดือนแล้ว รัฐมนตรีก็ยังนั่งเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่เร่งรัดให้เกิดกฎหมายหลักประกันสุขภาพฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จแต่อย่างใด

 ปัญหาในการปฏิรูปสาธารณสุข จึงต้องเริ่มต้นจากการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อป้องกัน/แก้ไข กวดขันผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขให้ดูแลรักษาคุณภาพมาตรฐานการตรวจรักษาผู้ป่วย และคุ้มครองสวัสดิภาพในการทำงานของบุคลากร ผู้บริหารคนใดไม่กระตือรือร้นที่จะแก้ไขปัญหาก็ควรจะถูกปลดออกจากตำแหน่งหน้าที่ทันที หาคนดี คนเก่งมาทำงานแทน เพราะปัญหาที่นอกจากจะขาดงบประมาณแล้ว ยังขาดกำลังคนที่เพียงพอในการตรวจรักษาผู้ป่วย (เนื่องจากข้อจำกัดของ กพ.) และยังขาดเตียงที่จะรองรับผู้ป่วย (ดังที่ทราบกันดี) ขาดเครื่องมือแพทย์ จนต้องมีการวิ่งขอเงินบริจาคเพื่อช่วยซื้อเครื่องมือแพทย์จากใต้จรดเหนือ ดังที่ทราบกันดี

ในขณะที่ รพ.เอกชนมีเตียงมากมาย แต่ทำไม รพ.เอกชนส่วนใหญ่จึงไม่รับรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาท?

 คำตอบก็ตรงไปตรงมานั่นคือ รพ.เอกชนไม่สามารถยอมรับค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าต้นทุนในการดำเนินการของเขาได้ แม้เพียงไม่กี่วัน ไม่สามารถทู่ซี้รับภาระหนี้สูญเป็นปีๆ แบบ รพ.สาธารณสุขได้

 ผู้บริหาร รพ.เอกชนไม่สามารถนั่งเฉยทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่สามารถรอให้ รพ.เจ๊งไปต่อหน้าต่อตาได้ เพราะเขาต้องรับผิดชอบเงินทุนในการทำงานของเขาเอง

ในด้านการบริหารของกระทรวงสาธารณสุขก็มีแต่โฆษณาชวนเชื่อว่า จะรักษาประชาชนทุกโรคโดยไม่มีข้อจำกัด ไม่มีการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสุขภาพตนเองและครอบครัว โฆษณา (เกินจริงเพื่อให้ประชาชนนิยมชมชอบ) ให้ประชาชนหวังพึ่งการรักษาฟรีทุกโรค จึงทำให้จำนวนผู้ป่วยมากขึ้นตลอดเวลา แต่งบประมาณรั่วไหล แล้วงบประมาณจะพอใช้ได้อย่างไร?

บุคลากรต้องรับภาระมาก (Over work) และค่าตอบแทนน้อยกว่า รพ.เอกชน ก็หลั่งไหลไปอยู่เอกชน เพราะงานไม่มากแต่ค่าตอบแทนมาก ทำให้บุคลากรที่เหลืออยู่ต้องทำงานมากขึ้น เพราะผู้ป่วยมิได้น้อยลง ในขณะที่บุคลากรกลับลดน้อยลง

จึงไม่แปลกที่ประชาชนจะหันไปซื้อประกันสุขภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อป่วยไข้จะได้ไปใช้บริการ รพ.เอกชน ไม่ต้องมาเสียเวลารอคอยเป็นวันๆ และไม่ต้องตระเวนหาเตียงใน รพ.รัฐ 

ผู้เขียนเห็นด้วยกับ ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร ว่าการจะแก้ไขโครงสร้างของระบบเป็นสิ่งสำคัญ การจะแก้ไขโครงสร้างของระบบสาธารณสุขของไทย ต้องหาคนที่เข้าใจปัญหามาแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้มีการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล แล้วแก้ไขการบริหารจัดการ รพ.ให้เหมาะสมในการจัดสรรงบประมาณ กำลังคน เครื่องมือยา และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้เหมาะสม และต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคให้ดีขึ้น เพื่อลดอัตราป่วย

  ผู้เขียนเชื่อว่า บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ยังปฏิบัติงานในการให้รักษาพยาบาลผู้ป่วยใน รพ.สาธารณสุข รวมทั้งรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ต่างก็รู้ซึ้งว่าอะไรคือรากเหง้าของปัญหาในระบบสาธารณสุข สุดท้ายเพื่อให้การวางแผนปฏิรูปได้เริ่มต้นจากการ ขจัดรากเหง้าแห่งปัญหาในปัจจุบัน” ให้สำเร็จเป็นรูปธรรม

เอกสารอ้างอิง

  1. http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/644832
  2. http://www.komchadluek.net/news/edu-health/219898
  3. https://www.thairath.co.th/content/508200
  4. http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/641589