ยุบทิ้ง Business School

ยุบทิ้ง Business School

จำความได้ว่า สมัยที่ผมเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย เมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว

บัณฑิตที่จบสายอุดมศึกษา (ป.ตรี) ส่วนมาก มักนิยมเข้าเรียนต่อในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หรือคณะบริหารธุรกิจ ที่เป็นเจ้าของหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต หรือ MBA (Master of Business Administration) ซึ่งในปัจจุบัน มักเรียกว่า สถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจ หรือ Business School ตามสมัยนิยม เพราะเชื่อว่า จะเป็นใบเบิกทางหรือช่วยเพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในงาน สู่ตำแหน่งผู้จัดการ และผู้บริหารระดับสูงในองค์กร

เร็วๆ นี้ ได้ไปสะดุดตากับหนังสือเล่มหนึ่ง ที่เพิ่งวางจำหน่ายสดๆ ร้อนๆ เมื่อเดือนที่แล้ว ชื่อว่า “Shut Down the Business School: What's Wrong with Management Education" ซึ่งเขียนโดย ศ.มาร์ติน พาร์กเกอร์ ผู้คร่ำหวอดการสอนด้านบริหารธุรกิจมากว่า 20 ปี ในสถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยวอริก มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ มหาวิทยาลัยคีล โดยปัจจุบันสอนอยู่ที่ภาควิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยบริสตอล ในสหราชอาณาจักร

หนังสือเล่มนี้ ได้วิพากษ์หลักสูตรของบรรดาสถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก ที่มีอยู่กว่า 16,000 แห่ง จากการสำรวจของสมาคมเพื่อการพัฒนาวิทยาลัยบริหารธุรกิจ (the Association to Advance Collegiate Schools of Business: AACSB) ว่ามีเนื้อหาไม่ต่างกัน อ้างอิงมาจากตำราทุนนิยมเล่มเดียวกัน

ในวิชาการเงิน ทำอย่างไรจึงจะหาประโยชน์จากทุน (เงิน) ที่ตนเองครอบครอง การสร้างความมั่งคั่ง ทั้งจากทุนของตนเอง และที่เป็นของผู้อื่น รวมทั้งการใช้สูตรทางคณิตศาสตร์และกลไกทางกฎหมาย ที่ช่วยทวีคูณสินทรัพย์ ตลอดจนวิธีการเพิ่มขีดความสามารถในการหาผลตอบแทนสูงสุดในระยะเวลาที่สั้นสุด เป็นต้น

ในวิชาการจัดการทรัพยากรบุคคล มีการใช้ทฤษฎี อัตนิยมเชิงความเป็นเหตุเป็นผล” (rational egoism) เพื่ออธิบายถึงการกระทำอันเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล และนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการบริหารบุคลากร เสมือนเป็นทรัพยากรจำพวกหนึ่ง (ขาดมิติความเป็นมนุษย์) รวมถึงการใช้การจัดการทรัพยากรบุคคลในทางกลยุทธ์เพื่อสนับสนุนการเปิด-ปิดโรงงานหรือสำนักงานสาขาตามที่ฝ่ายบริหารต้องการ ตลอดจนการมีมุมมองในเรื่องของการรวมกลุ่มหรือสหภาพว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการจัดการทรัพยากรบุคคล เป็นต้น

เช่นเดียวกับเนื้อหาที่ใช้สอนในวิชาการบัญชี การตลาด ธุรกิจระหว่างประเทศ นวัตกรรม โลจิสติกส์ ฯลฯ ล้วนมุ่งเน้นที่บรรทัดสุดท้าย (bottom line) ของการประกอบการ นั่นคือ ประโยชน์หรือผลกำไรสูงสุดขององค์กร จากการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (ทำน้อย-ได้มาก)

แม้จะเพิ่มหัวข้อการสอนในเรื่องความรับผิดชอบ (ต่อสังคม) ความหลากหลาย หรือความยั่งยืน แต่ก็เป็นไปเพื่อการแต่งหน้าทาปาก หรือเพียงเสริมภาพให้หลักสูตรดูดีเลอค่า

ปัญหาของสถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจ หรือ Business School ยังเกิดจากการจัดการหลักสูตรของวิทยาลัยเอง ทั้งในเรื่องคุณภาพของการจัดการศึกษา และเรื่องธรรมาภิบาล มีการมุ่งเน้นการหารายได้จากหลักสูตร เนื่องจากเป็นสินค้าที่ทำเงินให้แก่คณะและมหาวิทยาลัย (โดยเฉพาะหลักสูตรภาคพิเศษหรือนอกเวลา) อาจารย์ตามใจผู้เรียนในฐานะลูกค้าของหลักสูตร นักศึกษาทำวิทยานิพนธ์หรือสารนิพนธ์ให้มีส่ง เพื่อให้ได้วุฒิตามหลักสูตร (จ่ายครบ-จบแน่)

ท้ายที่สุด มหาบัณฑิตส่วนใหญ่ที่จบจากหลักสูตรเหล่านี้ ก็มิได้มีคุณสมบัติที่จะสามารถพัฒนาให้เป็นผู้บริหารระดับสูงที่ดีในองค์กรได้

ด้วยความที่ปัญหาเหล่านี้ ได้หมักหมมและฝังลึกในสถาบัน และความพยายามในการแก้ปัญหาที่ผ่านมา ไม่ได้แตะที่รากเหง้าของปัญหา ยังคงยึดโยงอยู่กับการสอนเรื่องการจัดการองค์กรในรูปแบบเดียว (one form of organising คือ market managerialism) เพียงแต่กลบเกลื่อนหรือใช้คำสวยหรู เช่น จริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม ห่อหุ้มเป็นบรรจุภัณฑ์ โดยสินค้าที่อยู่ภายใน ไม่ได้เปลี่ยนแปลง

หนังสือเล่มนี้ จึงเสนอให้ยุบ Business School ทิ้ง หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ให้ยุติการสอนในแบบที่เป็นอยู่ และปรับรื้อแนวความคิดของการจัดการด้านธุรกิจและตลาดเสียใหม่ อาทิ ไม่มีผู้นำองค์กรประเภทพระเอกขี่ม้าขาวที่สามารถแก้ไขได้ในทุกปัญหา หรือวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้เรื่องการภาษี ไม่ได้เป็นไปเพื่อการเลี่ยงภาษี หรือการสร้างให้เกิดความอยากหรือตัณหา ไม่ใช่ความมุ่งประสงค์ของวิชาการตลาด ฯลฯ โดยมีศาสตร์แห่งการจัดการองค์กรในหลายรูปแบบ (different forms of organising)

ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจ (แนวใหม่) ดำรงบทบาทในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการจัดการธุรกิจที่ถูกต้องเหมาะสม และสามารถผลิตบัณฑิตและมหาบัณฑิตให้เป็นที่ต้องการของสังคมได้อย่างแท้จริง