เศรษฐกิจโลกและไทยครึ่งปีหลัง

เศรษฐกิจโลกและไทยครึ่งปีหลัง

ช่วงงานสัมมนาประจำปีของสถาบันกรรมการบริษัทไทย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา(21 มิ.ย.) ที่หารือกันเรื่อง แรงขับไล่ธุรกิจจาก disruption

และสิ่งที่ควรดำเนินการ ก็มีผู้สื่อข่าวมาขอความเห็นเรื่องเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังพอสมควร ซึ่งผมก็ได้ให้ความเห็นไป วันนี้ก็เลยอยากจะเขียนเรื่องนี้เพื่อแชร์ความเห็นของผมที่ได้ให้ไปให้แฟนคอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ

ช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจโลกจะมีความเสี่ยงสำคัญ เรื่องที่ต้องระมัดระวังและเป็นประเด็นที่นักลงทุนต้องจับตาใกล้ชิด

1.ความไม่แน่นอนของนโยบาย โดยเฉพาะมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐที่กลับมาเป็นความไม่แน่นอนอีกครั้ง หลังประธานาธิบดีทรัมป์ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ให้เจ้าหน้าที่การค้าสหรัฐเตรียมแผนขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐจากจีนในวงเงิน 2 แสนล้านดอลล่าร์ ถ้าจีนตอบโต้มาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐที่ประกาศเมื่อวันที่ 15 และ 16 มิ.ย. ก่อนหน้า ที่มุ่งลดการนำเข้าสินค้าจากจีนในวงเงิน 1 แสนล้านเหรียญ ซึ่งตลาดการเงินรับข่าวนี้เชิงลบ ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลงต่อเนื่องถึงวันที่ 20 มิ.ย. มาตรการกีดกันการค้าระหว่าง 2 ประเทศใหญ่ คือ จีนและสหรัฐเป็นเหมือนแรงขับไล่ที่  disrupt ความเป็นเสรีของตลาดการค้าโลก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลก เพราะถ้าเกิดขึ้น จะทำให้การค้าโลกปีนี้ขยายตัวลดลง ส่งผลต่อประเทศที่มีการส่งออก เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น ไทย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และประเทศอื่นในอาเซียน ที่ส่งออกสินค้าวัตถุดิบชั้นกลางไปจีนเพื่อผลิตเป็นสินค้าส่งออกขายให้สหรัฐ มาตรการกีดกันการค้าดังกล่าวเป็นช็อคต่อการค้าระหว่างประเทศ ที่จะกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคและเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

  1. นโยบายการเงินของสหรัฐที่กำลังปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เป็นปกติมากขึ้นซึ่งล่าสุด มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐคงจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อยอีก ครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง ที่ผ่านมา การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐได้ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐและประเทศตลาดเกิดใหม่แคบลง ส่งผลให้เงินทุนต่างประเทศไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่กลับเข้าสหรัฐ การไหลออกดังกล่าวสร้างแรงกดดันต่อประเทศที่มีหนี้ต่างประเทศมากที่ภาระชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ค่าเงินอ่อนลง เกิดปัญหาสภาพคล่องในประเทศ และทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง จนหลายประเทศต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ และในบางประเทศ การไหลออกของเงินทุนได้สร้างความเสี่ยงมากต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ เช่น กรณีอาร์เจนตินา ดังนั้น ถ้าธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง เงินทุนก็จะไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ต่อเนื่อง และสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ สำหรับกรณีของไทย การไหลออกของเงินทุนต่างประเทศคงจะเกิดขึ้นเช่นกัน สร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาท ทุนสำรองทางการ และสภาพคล่องในประเทศ

3.ปัญหาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยุโรป โดยเฉพาะอิตาลี สเปน และกรีซ ที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็งตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อสิบปีก่อน ล่าสุด ความสามารถในการแก้ปัญหากำลังถูกบั่นทอนโดยความไม่เป็นเอกภาพของสถานการณ์การเมืองในประเทศ ทำให้การดำเนินนโยบายที่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาอาจไม่สามารถเดินหน้าต่อได้อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปชะงักงัน และกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ที่น่าห่วงที่สุดก็คือ ถ้ารัฐบาลใหม่ในอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ เลือกที่จะใช้การออกจากเงินสกุลยูโรเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหา ความยุ่งเหยิงต่างๆก็จะยิ่งตามมามากมาย เป็นความเสี่ยงอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก 

ทั้ง 3 ประเด็น คือ ความเสี่ยงที่จะสร้างผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลัง สร้างความไม่แน่นอนในตลาดการเงินโลกให้มีมากขึ้น ทำให้ต้นทุนการเงินปรับสูงขึ้น และเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ 

สำหรับเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจครึ่งปีแรกอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ อัตราการขยายตัวไตรมาสแรกอยู่ที่ 4.8% ทำให้หลายฝ่ายมองว่าปีนี้เศรษฐกิจอาจขยายตัวได้ระหว่าง 4.5-5% อย่างไรก็ตาม ความต่อเนื่องของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังเป็นปัญหา จากที่การขยายตัวยังค่อนข้างกระจุกตัว ไม่กระจาย เป็นการขยายตัวที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ประโยชน์ เพราะการขยายตัวถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยภายนอก คือ การส่งออกและการท่องเที่ยว ทำให้รายได้ที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจค่อนข้างกระจุกตัว ไม่กระจาย และคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้อานิสงส์จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ดูดีขึ้น กำลังซื้อของภาคครัวเรือนยังอ่อนแอ มีผลให้การใช้จ่ายในประเทศไม่เข้มแข็ง ผลคือ อัตราเงินเฟ้อในประเทศยังไม่เร่งตัวมาก แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวดีขึ้น และประเทศก็มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง สะท้อนการใช้จ่ายในประเทศที่ยังไม่เร่งตัว ความอ่อนแอนี้ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินพูดถึงความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ในระบบเศรษฐกิจ และไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวจะทำให้ เงินทุนต่างประเทศไหลออกจากตลาดทุนในประเทศต่อเนื่อง กดดันให้ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนลง 

มองไปข้างหน้า ความเสี่ยงจากต่างประเทศต่อเศรษฐกิจไทยจะมีมากขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะต่อการส่งออก ทำให้ครึ่งปีหลัง ภาวะแวดล้อมต่อเศรษฐกิจอาจไม่เอื้ออำนวยเหมือนช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งจะกระทบโมเมนตัมของเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่แรงกดดันต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจก็จะมีมากขึ้นจากเงินทุนที่จะไหลออกต่อเนื่อง ตามการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ภาวะดังกล่าวทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินต้องให้ความสำคัญต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจมากขึ้นในการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ย เทียบกับที่ผ่านมาที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างเดียว ทำให้เราจะเห็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเริ่มปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี สอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินโลกที่เป็นขาขึ้น 

ดังนั้น เท่าที่มองช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยคงจะหวือหวาน้อยลงเทียบกับครึ่งปีแรก เพราะความเสี่ยงในเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้น แต่เสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศและเสถียรภาพของเศรษฐกิจน่าจะอยู่ในเกณฑ์ดีต่อไป เพราะนโยบายการเงินจะเริ่มให้ความสำคัญกับเสถียรภาพเศรษฐกิจมากกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ