แรงขับไล่ธุรกิจและบทบาทของบอร์ด

แรงขับไล่ธุรกิจและบทบาทของบอร์ด

ผลกระทบจากแรงขับไล่ธุรกิจ หรือ Disruption ซึ่งหมายถึงธุรกิจในรูปแบบเดิม กำลังถูกทดแทนด้วยธุรกิจในรูปแบบใหม่ที่สามารถให้บริการได้เหมือนกัน

แต่ให้คุณค่าแก่ผู้บริโภคได้มากกว่า ขณะนี้กำลังกระทบการทำธุรกิจทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดมาจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่ได้ถูกนำมาใช้ยกระดับคุณภาพสินค้า บริการในด้านการผลิต รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้บริโภคที่พึงพอใจใช้เทคโนโลยีมากขึ้นในชีวิตประจำวัน การเปลี่ยนแปลงทั้ง 2 ด้าน คือ ทั้งอุปสงค์และอุปทาน กำลังสร้างพื้นที่และโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่เอื้อต่อแนวคิดที่จะปฏิรูปการทำธุรกิจ โดยการใช้เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการสร้างตัวสินค้า บริการใหม่ การเจาะตลาดเดิมหรือตลาดใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ในเกือบทุกอุตสาหกรรม ที่มีโมเดลธุรกิจและสินค้าใหม่ที่สามารถขับไล่ธุรกิจของผู้ประกอบการเดิมให้เสียส่วนแบ่งตลาดหรือล้มหายตายจากไป เช่น กรณีธุรกิจการเงิน FinTech หรือธุรกิจบริการ เช่น Uber และ Airbnb ที่เข้ามาแข่งกับผู้ประกอบการเดิม ทั้งๆที่ไม่เคยเป็นคู่แข่งมาก่อน ปรากฏการณ์นี้ทำให้ธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมต้องปรับตัว เพื่อให้สามารถอยู่รอดและก้าวข้ามแรงกระทบเหล่านี้ ทำให้คนที่ทำได้ ปรับตัวได้ จะอยู่รอด ขณะที่คนที่ปรับตัวไม่ได้หรือไม่ปรับตัวก็อาจเสียธุรกิจหรือล้มหายตายจากไป

สำหรับคณะกรรมการบริษัท ในฐานะผู้นำองค์กรจึงต้องตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น และควรต้องมีบทบาทที่จะช่วยธุรกิจให้สามารถปรับตัวและก้าวข้ามความท้าทายและแรงกระทบเหล่านี้ ซึ่งหมายถึง บอร์ดจะต้องเข้าใจบริบทของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในแง่ของการเปลี่ยนแปลง สามารถมีข้อมูลที่จะติดตามวิเคราะห์ผลที่จะมีต่อธุรกิจของบริษัท และสามารถใช้ความรู้ความสามารถแนะนำฝ่ายจัดการร่วมสร้างยุทธศาสตร์ที่บริษัทจะปรับตัวต่อแรงขับไล่ เช่น นำแรงขับไล่เหล่านี้มาใช้เป็นประโยชน์ หรือรีบปรับตัวล่วงหน้าก่อนที่แรงขับไล่จะมากระทบอุตสาหกรรม หรือรีบกระจายธุรกิจออกไปในรูปแบบต่างๆมากขึ้น เพื่อลดแรงกระทบที่จะเกิดขึ้น

ดังนั้น บทบาทของคณะกรรมการจึงสำคัญต่อการอยู่รอดของบริษัท ที่ต้องเข้าใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น มีข้อมูลที่จะติดตามและวิเคราะห์ผลกระทบและแนวโน้มต่างๆ และร่วมกับฝ่ายจัดการกำหนดกลยุทธ์หรือแนวทางที่จะรองรับและปรับตัวต่อแรงกระทบ ถือเป็นจุดทดสอบสำคัญของการทำหน้าที่กรรมการ

เพื่อให้กรรมการบริษัทสามารถเข้าใจบริบทของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกธุรกิจขณะนี้ ในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ สถาบันกรรมการบริษัทไทย(ไอโอดี) จะจัดสัมมนาประจำปี ในหัวข้อ ลอยตัวเหนือแรงขับไล่ :สิ่งที่ต้องทำ (Rising above Disruptions : A Call for Action) เพื่อระดมความคิดของผู้รู้และวิทยากรทั้งในและต่างประเทศ รวม 24 ท่าน ร่วมกันวิเคราะห์และให้คำตอบในประเด็นเหล่านี้ โดยงานจะแบ่งเป็นสองภาค ในช่วงเช้าจะเป็นการพูดถึงแรงขับไล่ในธุรกิจภาคการเงินเป็นการเฉพาะ และช่วงบ่ายจะเจาะลึกประสบการณ์การปรับตัวของบริษัทธุรกิจในประเทศไทยต่อแรงขับไล่ที่กำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ เช่น ค้าปลีก โลจิสติกส์ น้ำมัน และการผลิต โดยมีผู้บริหารระดับสูงในภาคธุรกิจนั้นๆมาร่วมให้ความเห็น จากนั้น จะดูประสบการณ์การปรับตัวของบริษัททั่วโลกผ่านมุมมองของสถาบันกรรมการบริษัทจาก 5 ประเทศ คือ สหรัฐ อังกฤษ บราซิล แอฟริกาใต้ และฟิลิปปินส์ รวมถึงพูดถึงประเด็นการกำกับดูแลกิจการล่าสุดที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในระดับสากล ที่กรรมการบริษัทควรทราบ ซึ่งรวมถึงการจัดทำรายงานบริษัทแบบองค์รวม หรือ Integrated Reporting ที่กว่า 70% ของนักลงทุนสถาบันทั่วโลกต้องการเห็นให้มีการจัดทำโดยบริษัทจดทะเบียนที่ระดมทุนในตลาดทุนโลก

ในรายละเอียด งานในช่วงเช้า จะเริ่มต้นด้วยปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับความท้าทายในธุรกิจภาคการเงิน โดยได้รับเกียรติจากดร.วิระไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จากนั้น คุณแอนดรูว์ เชง จาก Asia Global Institute, the University of Hong Kong จะพูดเกี่ยวกับการควบคุมแรงขับไล่และโอกาสใหม่ต่างๆที่เกิดขึ้นในธุรกิจภาคการเงิน ต่อด้วยคุณรพี สุจริตกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะพูดเรื่องกฎระเบียบข้อบังคับเพื่อช่วยให้บริษัทธุรกิจลอยตัวเหนือแรงขับไล่ต่างๆ และจากนั้นจะเป็นการเสวนาผลที่มีต่อธุรกิจการเงินโดยนักธุรกิจชั้นนำด้านการเงินจาก แบล็คร็อค อิงค์ (BlackRock, Inc) ธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน) Anapix Capital Ltd. และอิมเพอร์วา (Imperva) ดำเนินการเสวนาโดยคุณเคน โคยานากิ จากนิเคอิ เอเชี่ยน รีวิว (Nikkei Asian Review)

ภาคบ่ายจะเป็นการเสวนาเพื่อรับฟังประสบการณ์การปรับตัวของบริษัทในประเทศไทยจากผู้บริหารระดับสูง ทั้งจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท แสนรู้ จำกัด บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) และจากประธานกรรมการชมรมกรรมการอิสระของสถาบันกรรมการบริษัทไทย ดำเนินการเสวนาโดยร้อยเอก นายแพทย์ ยงยุทธ มัยลาภ อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อด้วยปาฐกถาพิเศษจากกรรมการบริหารของ International Corporate Governance Network (ICGN) ที่เป็นองค์กรร่วมของนักลงทุนสถาบันทั่วโลก คือ คุณ Anne Molyneux ที่จะพูดเรื่อง การเปลี่ยนแปลงของการคาดหวังที่มีต่อการทำหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงมาก ตามด้วยการเสวนาของ Global Network of Director Institutes (GNDI) ซึ่งเป็นสถาบันตัวแทนของสถาบันกรรมการบริษัททั่วโลกที่ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 22 ประเทศ ที่จะเสวนาในประเด็นที่กำลังมีการพูดถึงกันมากในห้องประชุมคณะกรรมการบริษัททั่วโลกในบริบทของแรงกระทบที่กำลังเกิดขึ้น ผ่านมุมมองของ 5 สถาบันกรรมการบริษัทจากห้าประเทศ รวมถึงความสำคัญของการจัดทำรายงานบริษัทแบบองค์รวมหรือ Integrated Reporting โดยผู้บริหารของ International Integrated Reporting Council ซึ่งจะมีผมเป็นผู้ดำเนินการเสวนา

จึงอยากเชิญชวนทุกท่านให้มาร่วมงานกันมากๆ เพื่อรับทราบและร่วมแสดงความคิดเห็น งานจะจัดที่ห้อง คริสตัล ฮอลล์ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน เวลา 9.00 – 18.00 น. โดยเริ่มลงทะเบียนเข้างานตั้งแต่ 7.30 น. ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามและลงทะเบียนได้ที่ www.thai-iod.com หรือติดต่อ คุณสุทธินี เกิดช่วย ที่ 02-955-1155 เบอร์ต่อ 404 ก็หวังว่าจะได้พบกันวันพฤหัสบดีนี้