ขนมจีนน้ำปลา

ขนมจีนน้ำปลา

อาหารกลางวันของเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านท่าใหม่ ต.ประสงค์ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี วันนี้ไม่ใช่ขนมจีนคลุกน้ำปลาอีกแล้ว

 แต่พวกเด็กๆ ได้กินราดหน้าทะเล และเนื้อหมู มีทั้งกุ้งตัวโต ลูกชิ้น ผักคะน้า ถูกตามหลักโภชนาการ และยังมีของหวานเป็นลอดช่อง น้ำกะทิ เด็ก ๆ กินกันอย่างเอร็ดอร่อยหมดเกลี้ยงทุกคน

สำหรับประเทศไทย มีนักเรียน 5 ล้านคน ที่ควรเข้าถึงสิทธิการกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการกระทรวงมหาดไทย ได้จัดสรรงบให้ท้องถิ่นดูแลค่าอาหารกลางวัน แก่นักเรียนหัวละ 20 บาทต่อหัวต่อวัน เงินจำนวนนี้ ถือว่าเพียงพอถ้าบริหารจัดการที่ดี ทำให้เด็กได้กินอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอ

ผมขอยกตัวอย่างการจัดการอาหารกลางวันที่ดี และควรเป็นต้นแบบ เมื่อ จงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้จัดการโครงการเด็กไทยแก้มใส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พามาดูตัวอย่างเทศบาลเมืองน่าน กับโปรแกรม Thai school lunch

โครงการนี้ นำร่องด้วยการว่าจ้างบุคลากรที่จบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร มาเป็น นักโภชนาการท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่ให้ความรู้ทั้งด้านโภชนาการ และสุขาภิบาลอาหาร-สิ่งแวดล้อม แก่ครู แม่ครัว ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รวมถึงโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดเทศบาล และโรงเรียนในสังกัด

การจัดอาหารกลางวันในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2 แห่ง โรงเรียนในสังกัดเทศบาล 3 แห่ง รวมเด็กกว่า 2,000 คน ได้อย่างมีคุณภาพ โดยมีโปรแกรม Thai school lunch ช่วยคำนวณคุณค่าทางโภชนาการ ภายใต้การดูแลเฝ้าระวังของนักโภชนาการท้องถิ่น ให้มีแหล่งวัตถุดิบที่ได้คุณภาพ สะอาด ปลอดภัย จากในชุมชนที่อยู่รอบๆ ศูนย์หรือโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็น ผัก ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ ปลา

เด็กอิ่มท้องอย่างปลอดภัย เกษตรกรในชุมชนมีรายได้ เป็นการเกื้อหนุนกันเป็นอย่างดี

โครงการนี้ถ้าจะได้ผลดีต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างผู้บริหาร ครู ชุมชน และต้องมี นักโภชนาการท้องถิ่น

นับเป็นภาระหนัก และที่สำคัญคือการปรับพฤติกรรมเด็กให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่สามารถทำได้ภายในวันเดียว แต่ที่จ.น่าน ทำได้สำเร็จ ทำอย่างไรถึงให้โรงเรียนทั่วประเทศได้นำเอาแนวทางนี้ไปใช้ ฝากผู้หลักผู้ใหญ่กระทรวงศึกษาธิการ รับไปพิจารณา ครับ