สี่เลี่ยงสามเลียน

สี่เลี่ยงสามเลียน

Damian Ma นักวิจัยด้านจีนศึกษาของโรงเรียนธุรกิจ Kellogg มหาวิทยาลัย Northwestern ได้อธิบายไว้อย่างน่าคิดว่า หน่วยวิจัยของรัฐบาลจีน

มักชอบยกตัวอย่างประสบการณ์ของประเทศต่างๆ มาใช้ในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล

โดยท่านสรุปว่า รัฐบาลจีนใช้หลัก สี่เลี่ยงสามเลียน (Four Avoids and Three Imitates) นั่นคือหลีกเลี่ยงไม่ให้ซ้ำรอยความล้มเหลวของประเทศอื่นใน 4 เรื่อง และพยายามลอกเลียนแบบความสำเร็จของประเทศอื่นใน 3 เรื่อง

สี่เรื่องที่ต้องหลีกเลี่ยง มีดังนี้ครับ

หนึ่ง หลีกเลี่ยงการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แบบในสหภาพโซเวียต ระบบการเก็บข้อมูล และการนำเสนอข่าวของพรรคคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียตเป็นระบบปิดทำให้เจ้าหน้าที่ของพรรคและรัฐบาลขาดข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม รับฟังแต่ข้อมูลด้านเดียวของพรรค จนไม่สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างเหมาะสม สุดท้ายจึงเกิดวิกฤติและล่มสลายในที่สุด

จีนนั้นเป็นระบบเผด็จการพรรคเดียวก็จริง แต่ก็พยายามจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบาย ทั้งยังมีการทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชน รวมทั้งประมวลความเห็นในโซเชียลมีเดีย ทำให้นักวิชาการฝรั่งบางคนมองว่ารัฐบาลจีนเป็นเผด็จการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน (responsive authoritarianism) แตกต่างจากเผด็จการทั่วไปในประเทศอื่น ซึ่งมักมีปัญหาขาดการเชื่อมโยงและขาดความเข้าใจความต้องการของประชาชน

สอง หลีกเลี่ยงประชาธิปไตยที่ยุ่งเหยิงแบบในอินเดีย จีนต้องการเลี่ยงปัญหาของเผด็จการแบบโซเวียต แต่จีนก็ไม่ต้องการแก้ไขปัญหาด้วยการใช้ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง โดยวงวิชาการจีนฝ่ายอนุรักษ์นิยมเมื่อต้องการอภิปรายถึงปัญหาของระบบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ก็มักจะยกตัวอย่างอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่และประชากรจำนวนมากเช่นเดียวกับจีน

แม้อินเดียจะเป็นประชาธิปไตย แต่กลับไม่สามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ รวมทั้งความขัดแย้งในสังคมยิ่งรุนแรงจากการต่อสู้ทางการเมือง ทำให้รัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สาม หลีกเลี่ยงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจแบบญี่ปุ่น เศรษฐกิจญี่ปุ่นเคยเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงก่อน ค.ศ. 1990 จนก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ ในช่วงนั้น (ปัจจุบันจีนแซงหน้ามาครองอันดับนี้แล้ว) แต่ภายหลัง ค.ศ. 1990 เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับเข้าสู่ช่วง “ทศวรรษมืด” (The Lost Decade) ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

นักวิชาการตะวันตกมักคาดหมายว่าจีนจะเดินซ้ำรอยญี่ปุ่น คือ โตเร็วในช่วงหนึ่ง แต่สุดท้ายก็จะชะลอตัวและหยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่ในวงเศรษฐศาสตร์ของจีน การศึกษาปัญหาและประสบการณ์ความล้มเหลวของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษมืดนับเป็นหัวข้อวิจัยยอดนิยม และมีความคิดเห็นหลากหลายมาก นักวิชาการหลายคนที่เรียกร้องให้รัฐบาลจีนปฏิรูปเศรษฐกิจไม่ว่าในเรื่องใด ก็มักจะอ้างว่าจีนต้องรีบปฏิรูป เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยญี่ปุ่น

ที่เห็นชัดเจนตอนนี้ก็คือ รัฐบาลจีนพยายามป้องกันความเสี่ยงในระบบการเงิน และป้องกันปัญหาฟองสบู่แตก เพราะในญี่ปุ่น จุดเริ่มต้นของทศวรรษมืด ก็คือ ฟองสบู่แตกในช่วงปี ค.ศ. 1990 นั่นเอง นอกจากนั้น จีนยังเผชิญความเสี่ยงเนื่องจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยซ้ำรอยญี่ปุ่น แต่จีนก็พยายามลงทุนเต็มที่ในเรื่อง A.I. โดยหวังว่าในอนาคตที่แรงงานลดน้อยลง จะสามารถใช้โรงงานหุ่นยนต์แทนที่ได้

สี่ หลีกเลี่ยงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจชนิดฉับพลันแบบในลาตินอเมริกา ปัญหาเศรษฐกิจของหลายประเทศในลาตินอเมริกา เกิดจากการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจแบบฉับพลัน โดยมักแปรรูปรอบเดียวจบ แต่เนื่องจากรัฐวิสาหกิจดำเนินการอย่างไร้ประสิทธิภาพมาอย่างยาวนาน สุดท้ายพอแปรรูปแล้ว กลับล้มละลายกันหมด เศรษฐกิจพังกันทั้งประเทศ คนตกงานจำนวนมหาศาล จากนั้น รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกลับเลือกใช้นโยบายประชานิยมเอาใจฐานเสียง แต่ไม่มีนโยบายเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ส่วนความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบทก็กว้างขึ้นเรื่อยๆ เพราะกลุ่มชนชั้นสูงที่ครองอำนาจเน้นพัฒนาเมือง แต่ไม่สนใจชนบท

รัฐบาลจีนจึงเน้นปฏิรูปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเน้นปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอาจไม่จำเป็นต้องแปรรูปเป็นเอกชนก็ได้ นอกจากนั้น รัฐบาลจีนยังเน้นพัฒนาชนบท และกระจายความเจริญให้กว้างขวางขึ้น

ส่วนสามเรื่องที่ต้องเลียนแบบ ได้แก่

หนึ่ง เลียนแบบประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและพลังอำนาจด้านการทหารของสหรัฐฯ ในด้านเศรษฐกิจ จีนสนับสนุนให้มีการแข่งขัน ยกระดับเทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจอย่างต่อเนื่อง คิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ โดยเน้นพลังสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการและกฎระเบียบที่เอื้ออำนวย ซึ่งเป็นจุดเด่นของระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน จีนก็เริ่มลงทุนพัฒนากองทัพเพื่อก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางการทหารด้วย

สอง เลียนแบบรัฐสวัสดิการของยุโรป ฝ่ายซ้ายในวงวิชาการจีนมักต้องการให้จีนเดินหน้าในเรื่องรัฐสวัสดิการ (ให้สมชื่อพรรคคอมมิวนิสต์) ซึ่งในด้านนี้ ยุโรปทำได้ดีกว่าสหรัฐฯ มาก ในช่วงที่ผ่านมา จีนมีการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการรักษาโรค การศึกษา การช่วยเหลือผู้สูงอายุและคนยากจน

สาม เลียนแบบเผด็จการที่มีคุณภาพอย่างสิงคโปร์ ปัญหาใหญ่ที่กัดกร่อนจีนก็คือ ปัญหาคอร์รัปชันที่รุนแรง และปัญหาการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพและกฎระเบียบที่ยุ่งเหยิงของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจีนพยายามอ้างว่าสามารถปฏิรูปได้ภายใต้ระบบเผด็จการแบบพรรคเดียว ดังที่สิงคโปร์ทำได้มาแล้ว

นี่คือ สี่เลี่ยงสามเลียน ของจีนครับ คือเลี่ยงความล้มเหลวและเลียนความสำเร็จของประเทศอื่น (อันนี้เป็นภาพใหญ่และความตั้งใจนะครับ แต่จีนทำได้จริงแค่ไหน ก็ต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป)

แล้วไทยเราล่ะครับ บางทีเราก็เลี่ยงและเลียนไม่น้อยเหมือนกัน แต่ที่กลัวคือ เราชอบเลี่ยงความสำเร็จและเลียนความล้มเหลวของประเทศอื่นน่ะสิครับ