ทำไมจึงควรเก็บค่าน้ำชลประทาน (ภาษีน้ำ) (จบ)

ทำไมจึงควรเก็บค่าน้ำชลประทาน (ภาษีน้ำ) (จบ)

จากบทความสองตอนที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องหาแนวทางใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะนโยบายค่าน้ำชลประทาน

เพราะที่ผ่านมาน้ำเป็นสาธารณะสมบัติถูกนำใช้ไปสร้างผลประโยชน์โดยไม่มีราคา แต่รัฐต้องลงทุนหลายหมื่นล้านบาทในระบบชลประทานเพื่อบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ

ข้อเสนอจากผู้เขียนต่อเรื่องนี้คือ รัฐบาลต้องเร่งจัดทำนโยบายจัดการด้านอุปสงค์หรือความต้องการใช้น้ำ โดยกำหนดนโยบายค่าชลประทานที่ชัดเจนและทบทวนค่าชลประทานใหม่ เร่งรัดให้มีการจัดทำแผนงานและมีการวางโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะต้องทำให้เสร็จก่อนที่จะสามารถจัดเก็บค่าชลประทาน จากชาวไร่ชาวนา

สำหรับนโยบายค่าชลประทานที่จะเก็บจากชาวไร่ชาวนาควรประกอบด้วยนโยบายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ในระยะสั้น รัฐบาลควรมีนโยบายให้กลุ่มผู้ใช้น้ำร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นจัดเก็บค่าชลประทานจากเกษตรกรผู้ใช้น้ำทุกรายเพื่อใช้บำรุงรักษาคูคลองชลประทานและคลองธรรมชาติ งานวิจัยของทีดีอาร์ไอ พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ยินดีจ่ายค่าชลประทานหากกลุ่มผู้ใช้น้ำเป็นผู้จัดเก็บและนำมาใช้บำรุงรักษาคูคลองเหมือนการซ่อมแซมท่อประปาในบ้าน (แต่จะไม่ยินดีจ่ายถ้ารัฐเก็บเงินค่าน้ำเข้าคลัง) การวิจัยยังพบว่าเกษตรกรยินดีจ่ายค่าน้ำไม่ต่ำกว่า 70 บาท/ไร่ ถ้าได้รับน้ำสม่ำเสมอ และถ้าน้ำมีคุณภาพดี เกษตรกรยินดีจ่ายค่าชลประทานถึง 175 บาท/ลบ.ม. ซึ่งสูงกว่าค่าชลประทาน 5 บาท/ไร่ ในกฎหมายชลประทานหลวงปี 2485 เงินก้อนนี้จะช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินที่ใช้ซ่อมบำรุงระบบชลประทาน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นเงินที่บริหารจัดการโดยกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพราะกลุ่มผู้ใช้น้ำจะใช้เงินมีประสิทธิภาพกว่าหน่วยงานราชการ (โดยมีข้อแม้ว่ากลุ่มผู้ใช้น้ำต้องสร้างระบบการบริหารจัดการที่ดีด้วย)

สำหรับนโยบายระยะยาว รัฐบาลจะต้องเริ่มจากการประกาศนโยบายค่าชลประทานสำหรับ การใช้น้ำเพื่อการเกษตรที่ชัดเจนตั้งแต่วันนี้ และมีนโยบายให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนงานและลงทุนทำโครงสร้างพื้นฐานที่จะปูทางไปสู่การจัดเก็บค่าชลประทาน รวมทั้งมีมาตรการจัดการด้านอุปสงค์ที่ไม่ใช่การเก็บค่าน้ำ

แผนงานสำคัญอันดับแรกๆ คือ การกำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้น้ำ ประชาชนและ ผู้ใช้น้ำในทุกภาคส่วนจะต้องมีสิทธิ์ที่จะได้รับน้ำขั้นต่ำ เพราะสิทธิ์ในการเข้าถึงน้ำสะอาดเป็น “สิทธิพื้นฐานของประชาชน” ภาระกิจถัดไป คือ การลงทุนในระบบมาตรวัดน้ำที่เกษตรกรแต่ละคนใช้คล้ายกับมิเตอร์น้ำประปา รัฐต้องสามารถให้หลักประกันแก่เกษตรกรได้ว่าถ้ามีการเก็บค่าน้ำ เกษตรกร ต้องได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ การกำหนดอัตราค่าชลประทานที่เหมาะสม (เช่น คุ้มกับค่าใช้จ่ายใน การบำรุงรักษาคู่ครองชลประทาน) การกำหนดให้ท้องถิ่นหรือคณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาย่อยเป็น ผู้จัดเก็บค่าชลประทานและมีหน้าที่ในการบริหารจัดการกับรายได้จากค่าน้ำ ฯลฯ

แผนงานที่ 2 คือ การสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อให้มีบทบาทในการจัดสรรน้ำร่วมกับกรมชลประทาน แนวทางที่สำคัญ คือ การให้องค์กรผู้ใช้น้ำจากต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำรวมตัวกันในระดับลุ่มน้ำสาขา และส่งตัวแทนเจรจาทำข้อตกลงเรื่องการจัดสรรน้ำกับผู้แทนจากลุ่มน้ำสาขาย่อยอื่นๆ โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนกลางและให้ข้อมูล งานวิจัยของศาสตราจารย์ออสตรอมผู้ได้รับรางวัลโนเบล และงานวิจัยจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ แสดงว่าแนวทางนี้จะทำให้การใฃ้น้ำมีประสิทธิภาพและความเป็นธรรม เปิดโอกาสให้องค์กรผู้ใช้น้ำสามารถนำสิทธิ์ในการใช้น้ำที่ตนได้รับจัดสรรไปแลกเปลี่ยนกับองค์กรผู้ใช้น้ำที่อยู่กลางน้ำ หรือปลายน้ำ การแลกเปลี่ยนสิทธิ์ในน้ำนี้จะทำให้เกิดราคาซื้อขายน้ำที่ตั้งอยู่บนฐานความสมัครใจและความเป็นธรรม

นอกจากนั้น รัฐก็ควรมีแผนงานและมาตรการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม โดยเฉพา

 


โดย... 

นิพนธ์ พัวพงศกร 

ผู้อำนวยการ ฝ่ายด้านพัฒนาอุตสาหกรรมและชนบท

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)