คิดสร้างสุข (ต่อ)

คิดสร้างสุข (ต่อ)

การปล่อยวางจะเปิดโอกาสให้ได้วิเคราะห์ความเป็นจริงของปัญหา

ข้อคิดสร้างสุขที่เกริ่นไว้ในคอลัมน์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว 3 ข้อคือ การคิดทบทวนตัวเองทุกวันว่ามีอะไรที่เราทำดีและไม่ดีบ้างหากเป็นเรื่องดีก็ต้องคิดต่อว่าเราสามารถทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีกได้อย่างไร ต่อด้วยการพยายามถ่ายทอดสิ่งที่ดีที่เกิดขึ้นนั้นให้กับคนรอบข้าง เพราะยิ่งเขาเก่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้องหรือเพื่อนร่วมงานและลูกน้องก็ยิ่งทำให้เราใช้ชีวิตได้สบายมากขึ้น และข้อที่ 3 คือต้องมีความพออกพอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในทุก ๆ วันไม่ว่าจะผิดหวังหรือสมหวังก็ตาม เพราะในบางครั้งแม้สิ่งที่เกิดขึ้นจะไปเป็นไปอย่างที่ใจคิดแต่เราก็ต้องพอใจกับความพยายามและความทุ่มเทที่ได้ทำลงไป

ยิ่งกับลูกน้องที่อาจทำงานไม่ได้ดั่งใจ แต่ในความเป็นจริงแล้วเราก็จะพบว่าเขามีความขยันและตั้งใจทำงานอยู่มาก แม้จะมีปัญหาเกิดขึ้นให้เราต้องลงมือจัดการด้วยตัวเองบ้างแต่นั่นก็เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นตลอดและปัญหา ก็เป็นสิ่งที่มีไว้ให้เราแก้ไขเสมอ ในแต่ละวันเราจึงควรทบทวนว่ามีใครบ้างที่เราควรให้กำลังใจเขา เพราะการยกย่องเขาจะเป็นการให้กำลังใจให้กับทั้งตัวเขาและตัวเราต่อไปได้เป็นอย่างดี

ต่อกันในข้อที่ 4 นอกจากยกย่องคนอื่นแล้วก็ต้องกลับมายกย่องตัวเองด้วยว่าในแต่ละวันมีอะไรบ้างที่เราได้ทำสำเร็จ และสร้างมูลค่าให้กับตัวเองหรือองค์กรอย่างไรบ้าง เพราะการยกย่องและให้เกียรติตัวเองจะเป็นก้าวแรกในการที่จะทำให้เราตระหนักในการให้คุณค่ากับผู้อื่นด้วย

ที่สำคัญการคิดทบทวนถึงคุณค่าของตัวเองจะเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเราได้มองถึงรากฐานในการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพราะความสำเร็จก้าวเล็กๆ ในแต่ละวันจะกลายเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ได้ในอนาคต แต่หากทบทวนดูแล้วยังไม่เห็นแววสำเร็จใด ๆ ก็อาจทำให้รู้ว่าเราอาจไม่เหมาะกับงานที่ทำอยู่

ข้อที่ 5 ต้องกล้าตั้งเป้าหมาย อย่าปล่อยให้ทีมงานของเราต้องเดินทางไปโดยมีทิศทางเลือนรางเพราะไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน การประชุมทุกครั้งควรจบลงด้วยเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวที่ชัดเจน พร้อมรายละเอียดว่าต้องการทรัพยากรสนับสนุนอย่างไร และผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นอย่างไรเมื่อสำเร็จ

อย่าออกจากห้องประชุมโดยทุกคนเห็นด้วยกับสิ่งที่เรานำเสนอ ทุกคนบอกว่าดี แต่ไม่รู้ว่าเป้าหมาย เป็นอย่างไร และจะต้องทำอย่างไรต่อไป เพราะสุดท้ายจะไม่มีใครทำอะไรทั้งสิ้น ตรงกันข้ามกับการที่ให้ทุกคน มีส่วนร่วมกับเป้าหมาย พร้อมระบุชัดเจนว่าใครต้องทำอะไรในอีก 3 เดือนข้างหน้า และผลที่จะได้คืออะไร

เป้าหมายนั้นจึงต้องเป็นไปได้และไม่เป็นก้าวที่ใหญ่จนเกินไป เพราะเรามีสิทธิ์ที่จะฝันใหญ่ได้แต่เป้าหมายต้องไม่ใหญ่เกินตัว แต่ซอยเป็นเป้าหมายในระยะต่างๆ ที่สอดคล้องสภาพแวดล้อมในการแข่งขันรวมถึงศักยภาพ ของทีมงานด้วย

ข้อที่ 6 รู้จักปล่อยวาง เพราะการหมกมุ่นอยู่กับปัญหาไม่สามารถช่วยให้เราหาทางออกที่ดีที่สุดได้ และหลาย ๆ คนก็เลือกที่จะจมอยู่กับปัญหาและจัดการทุกอย่างไปพร้อมๆ กันซึ่งมักจะทำให้สถานการณ์แย่ลง เพราะแก้ไม่ถูกจุด

การปล่อยวางจึงไม่ได้หมายถึงทิ้งปัญหาที่อยู่เบื้องหน้า แต่เป็นการถอยออกมาหนึ่งก้าวเพื่อมองภาพรวมที่เกิดขึ้น โดยต้องมองปัญหาให้ออกและแยกเป็นประเด็นต่างๆ เพื่อให้เราสามารถจัดการแต่ละส่วนได้โดยไม่ทำให้ ทุกอย่างยุ่งยากเพิ่มขึ้น

การปล่อยวาง จะเปิดโอกาสให้เราได้วิเคราะห์ความเป็นจริงของปัญหา และกลับมาเผชิญหน้ากับปัญหา ที่เล็กลงเพราะได้แบ่งมันออกเป็นส่วนต่าง ๆ ให้ค่อย ๆ ได้จัดการไปทีละข้อๆ จนครบทั้งหมด โดยวิธีนี้จะทำให้ทีมงานไม่รู้สึกกดดันที่ต้องเจอกับปัญหาก้อนใหญ่ ๆ จนอาจท้อถอยไปเสียก่อน

ทุกคนล้วนอยากเปลี่ยนความหวังให้กลายเป็นความสำเร็จ แต่การปล่อยให้ความกดดันเป็นตัวขับเคลื่อนพลังในตัวเองมากๆ ก็อาจสร้างความอ่อนล้าให้กับตัวเองได้เรื่อยๆ ดังนั้นจำเป็นต้องกลับมาคิดให้ดีว่า สิ่งที่ทำอยู่มาจากความรักและความชอบจริงหรือไม่ เพราะงานใดๆ ก็ตามที่ทำด้วยความสุข มีความสนุกอยู่ในใจจะยิ่งทำให้ทำงานนั้นๆ ด้วยใจที่คิดบวก มีความสุขกับสิ่งที่ทำ และความสุขจากการทำงานจะทำให้เราสนุกที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา รวมถึงมีแรงบันดาลใจให้แสวงหาความสำเร็จใหม่ๆ อยู่เสมอ