จะรู้ได้อย่างไรว่าเรามองภาพใหญ่อย่างตรงไปตรงมาหรือเปล่า?

จะรู้ได้อย่างไรว่าเรามองภาพใหญ่อย่างตรงไปตรงมาหรือเปล่า?

บทความวันนี้ขอพักเรื่องตลาดหุ้นซักตอน กลับมาย้อนมองอะไรที่นักลงทุนต้องเจออยู่ทุกวันกันหน่อยนะครับ

ข้อคิดสำคัญอย่างหนึ่งที่ผมได้จากนักลงทุนมืออาชีพที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนก็คือ “จงมองตลาดด้วยใจที่เป็นกลาง” เพราะเมื่อปราศจากอคติ แน่นอนว่า จะทำให้เราสามารถเห็นความเป็นไปของกลไกตามความเป็นจริง และวิเคราะห์รวมถึงกำหนดกลยุทธ์การลงทุนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัยเลย

แต่พอจะเริ่มมองตลาดด้วยใจเป็นกลาง ก็เกิดปัญฆาขึ้นทันทีว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ณ ตอนที่เรากำลังได้รับข้อมูลใหม่ๆมานั้น ใจเราเป็นกลางแล้วหรือยัง?

ผมไปอ่านเจอเรื่อง Common thinking biases and how to overcome them ในเว็ปไซส์ https://www.innerdrive.co.uk น่าสนใจ และน่านำไปฝึกใช้ในการลงทุน รวมถึงการงานต่างๆก็สามารถเอาไปปรับใช้ได้ เรามาลองดูกันครับ ว่ามีอะไรบ้าง

Confirmation Bias เป็นลักษณะของอคติที่เกิดจากการที่เราเลือกที่จะยอมรับฟัง หรือรับรู้ข้อมูลที่สอดคล้องกับความเห็นในใจของเราอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราฟังความเห็นของนักวิเคราะห์คนหนึ่ง บอกว่า ตลาดหุ้นจะยังคงมีอนาคตสดในในช่วงที่เหลือของปีนี้ ถ้าสิ่งนี้คือสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้น แน่นอนว่า เราจะคิดในใจว่า เห็นไหม นักวิเคราะห์คนนี้ก็คิดเหมือนเราเลย แปลว่า ตลาดหุ้นจะขึ้นแน่นอน ซึ่งการสรุปรวบรวมไปเลยว่า ตลาดหุ้นจะขึ้นแน่นอนด้วยกระบวนการนี้ ถือเป็น Confirmation Bias นะครับ นักลงทุนต้องระวังเลย

วิธีแก้ก็คือ ลองหาข้อมูลอีกข้างเพื่อโต้แย้งความคิดของเรา หรือฟังความเห็นรอบด้านให้มากขึ้นก่อนด่วนสรุป ก็จะช่วยให้เราไม่รีบตัดสินใจเร็วเกินไปได้ครับ

Halo Effect เป็นลักษณะอคติที่เกิดจากการที่ความประทับใจเมื่อแรกพบ (First impression) จะด้วยสาเหตุเพราะ เขาหน้าตาดี หรือเพราะเขาน่าเชื่อถือ หรือเพราะเขาอ่านทิศทางตลาดแม่นมากในครั้งแรกที่เราเจอ ตรงนี้สำคัญนะครับ เพราะมีโอกาสสูงมากที่พอเราชอบเขาไปแล้ว เขาพูดอะไรเราก็จะเชื่อหลังจากนั้นไปเลย เพราะเราติดสินเขาไปแล้วตั้งแต่แรกว่า ‘เก่ง’ หรือ อาจตัดสินไปตั้งแต่แรกไปแล้วว่า ‘ห่วย’ ก็เถอะ

วิธีแก้คือ ให้ระลึกไว้เลยว่า ความประทับใจแรกที่เราเห็น อย่าเอามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเราเป็นอันขาด เอาไปใช้กับความรักอาจจะพอได้ แต่เอามาเป้นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์การลงทุน ถือว่าอันตรายมากครับ เพราะ การเจอกันเพียง 1 ครั้ง ไม่ได้การันตีผลลัพทธ์อะไรในระยะยาวให้กับเราได้เลย

The Hawthorne Effect เป็นลักษณะอคติที่เกิดจากการที่ผู้ให้ข้อมูลแก่เรา รู้ว่ากำลังถูกจับตาและถูกสังเกตการณ์โดยผู้มีอำนาจอยู่ จริงๆชื่อ The Hawthorne Effect มาจากชื่อของโรงงานแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ที่ตอนนั้นเขาอยากรู้ว่าพนักงานมีประสิทธิภาพในการทำงานมากน้อยแค่ไหน จึงจับตาดูเป็นพิเศษ แต่พอหัวหน้างานเลิกจับตาดูเท่านั้น ผลผลิตก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น การไปถามความเห็นเพียงหนึ่งครั้งในขณะที่ผู้ถูกถามมี The Hawthorne Effect อยู่ ขอให้รู้ว่า ความเห็นนั้นอาจมีอคติเจือปนอยู่

วิธีการแก้ไขก็คือ ให้หน่วงเวลาในการตัดสินใจของเราออกไป และเพิ่มจำนวนตัวอย่างของข้อมูล (ถามความเห็นให้มีจตำนวนครั้งมากขึ้น ในเวลาที่แตกต่างกัน เพราะเราไม่รู้ว่า ใครที่จับตาเขาอยู่บ้างนะครับ

Bandwagon Effect เป็นลักษณะของอคติที่เกิดจากการที่เราเห็นใครหลายๆคนทำในสิ่งเดียวกัน แล้วเราก็ไปเหมารวมว่าสิ่งนั้นน่าจะเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกต้องแล้ว ถ้ายกตัวอย่างในโลกการลงทุน ที่ชัดๆก็เช่น การ Panic Sell หรือ Panic Buy ของนักลงทุนหลังจากมีข่าวร้าย หรือ ข่าวดีออกมาให้เรารับรู้ พอเราเห็นแรงขายหรือแรงซื้อมากๆเข้า เราก็เหมาไปว่า คนอื่นเขาแย่งกันขนาดนี้ แสดงว่า เรากำลังจะเจอกับขอจริงนี่นา ดังนั้น ตามเขาไปก่อนปลอดภัยกว่า

วิธีแก้ก็คือ ถ้าสงสัยพฤติกรรมหมู่อะไรขึ้นมา ให้กลับมาวัดที่ความรู้สึกตัวเองตรงๆเลยว่า ถ้าไม่เห็นสิ่งที่คนอื่นกำลังทำอยู่ ณ ตอนนี้ เราจะทำในสิ่งที่ต่างออกไป มันเป็นไปได้หรือเปล่า วิธีการนี้ ก็จะทำให้เราวิเคราะห์ข้อมูลจากสิ่งที่เกิดขึ้น โดยไม่เอาอารมณ์ตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องได้ครับ

The Ikea Effect เห็นชื่อแล้วไม่ต้องตกใจครับ เพราะมันว่าอิเกียจริงๆ อคติข้อ 5. นี้ ตั้งชื่อตามร้านขายเฟอร์นิเจอร์เจ้าใหญ่ของสวีเดนที่โด่งดังไปทั่วโลก เพราะเกิดจากการที่เราให้ความสำคัญกับความเห็นที่เราเป็นผู้ริเริ่มด้วยตัวเองมากกว่าความเห็นของคนอื่น ส่วนที่ชื่อว่า Ikea effect ก็เพราะ ผู้ซื้อที่ซื้อเฟอร์นิเจอร์ของอิเกีย นอกจากเพราะราคาถูกแล้ว ยังเป็นเพราะ ได้ประกอบและติดตั้งด้วยตัวเองเลยมีความภูมิใจเล็กๆเกิดขึ้นครับ

วิธีแก้ก็คือ แค่รู้ไปตรงๆเลยครับว่า แค่เพราะมันเป็นไอเดียของเรา ไม่ได้หมายความว่ามันจะถูกต้องที่สุดแล้ว จงไปหาข้อมูลเพิ่มเติมซะ

นี่คือ 5 อคติในหลายๆข้อที่นักลงทุนน่าจะพบเจอแทบจะตลอดเวลาในการลงทุนนะครับ หวังว่า เมื่อรู้แล้ว หลังจากนี้ เราจะสามารถวิเคราะห์ได้อย่างเป็นกลางมากขึ้น และแน่นอนว่า อคติมันไม่มีวันหมดไปหรอกครับ แต่แค่เรารู้ทัน ประสิทธิภาพในการลงทุนของเราก็เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน