“รายงานสาธารณะสถาบันไอโอดี”

“รายงานสาธารณะสถาบันไอโอดี”

ปลายเดือนที่แล้ว สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (ไอโอดี) มีการประชุมสมาชิกสามัญประจำปี 2561 เพื่อรายงานผลการดำเนินงาน

ของสถาบันในปีที่ผ่านมาให้สมาชิกทราบ เปิดโอกาสให้สมาชิกซักถามเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับงานของสมาคม และเลือกกรรมการแทนผู้ที่ครบวาระ การประชุมผ่านได้ด้วยดี มีสมาชิกเข้าร่วมประชุม 81 คน จากสมาชิกสถาบันทั้งหมด 4,035 คน วันนี้จึงอยากเขียนถึงงานของสถาบันไอโอดีในปีที่ผ่านมา เพื่อให้สมาชิกที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ในวันนั้นรับทราบ ถือเป็นการรายงานสาธารณะของสถาบันไอโอดีให้ประชาชนทั่วไปทราบพร้อมกันไปด้วย

พันธกิจหลักของสถาบันไอโอดี คือ พัฒนาและสนับสนุนกรรมการบริษัทเพื่อการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยมุ่งยกระดับกรรมการบริษัทในประเทศไปสู่ความเป็นมืออาชีพ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของบริษัท ในการบรรลุพันธกิจนี้สถาบันได้ทำหน้าที่ใน 4 ด้าน  1.อบรมให้ความรู้และพัฒนาทักษะกรรมการเพื่อการทำหน้าที่ 2.วิจัย เผยแพร่แนวปฏิบัติ และประเมินการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท 3.เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นของกรรมการเพื่อสร้างความเข้าใจ และความตระหนักรู้ในประเด็นที่กระทบการทำหน้าที่ของกรรมการ และ 4.ขับเคลื่อนโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต เพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้นในภาคธุรกิจไทย

การปฏิบัติหน้าที่ของสถาบันในปี 2560 ประสบความสำเร็จด้วยดี ปี 2560 เป็นปีแรกในแผนงาน 3 ปีของสถาบันที่มุ่งให้เกิดผลต่อการกำกับดูแลกิจการที่ดีในทางปฏิบัติ (Impactful) ผ่านการขับเคลื่อนใน 3 ช่องทาง

ช่องทางแรก สร้างองค์ความรู้และเผยแพร่องค์ความรู้เพื่อขับเคลื่อนการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้นในวงกว้าง ทั้งในบริษัทธุรกิจและองค์กรไม่แสวงหากำไร ผ่านการทำหน้าที่ของกรรมการ การพัฒนาองค์ความรู้ทำทั้งในระดับกรรมการบริษัทที่ประเด็นด้านธรรมาภิบาลจะต้องทันต่อพัฒนาการในสังคมธุรกิจโลก และในระดับทั่วไป ที่เน้นให้แนวคิดพื้นฐานเรื่องกำกับดูแลกิจการ เป็นที่รับรู้ เป็นที่เข้าใจ และเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ 

ช่องทางที่ 2 สร้างเครือข่ายผลักดันการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้นกว้างขวาง เพราะการขับเคลื่อนการกำกับดูแลกิจการที่ดี ไม่สามารถเป็นภาระเพียงขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ต้องมาจากการขับเคลื่อนของทั้งภาคธุรกิจ โดยผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศน์ของภาคธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้นจริงจัง ซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัทธุรกิจ หน่วยงานกำกับดูแล องค์กรอิสระ องค์กรวิชาชีพ นักลงทุน และภาคประชาสังคม เน้นการสร้างเครือข่ายและกิจกรรมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดี ในรูปของโครงการ การแลกเปลี่ยนความรู้ และการจัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งสำหรับสถาบันไอโอดีก็คือ การทำงานร่วมกับเครือข่ายเหล่านี้ เพื่อผลักดันการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดเป็นผล

ช่องทางที่ 3 ปรับปรุงระบบการทำงานภายในของสถาบัน เพื่อให้สถาบันมีระบบงาน ระบบไอที บุคลากร วิทยากร สถานที่ และทรัพยากรที่จะสนับสนุนการทำหน้าที่ของสถาบัน รวมถึงลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตามแผนงานที่ได้วางไว้

สำหรับปี 2560 งานด้านการพัฒนากรรมการ มีการปรับปรุงเนื้อหาและนำเสนอหลักสูตรใหม่ ที่เป็นประโยชน์ต่อกรรมการ เช่น ด้านกลยุทธ์ (strategy) ความเสี่ยงและการเงิน มีการกระจายความรู้ในรูปการจัดตั้งห้องสมุดและตอบคำถาม online ให้ผู้ที่สนใจเรื่องการกำกับดูแลกิจการ สามารถเข้าถึงและหาข้อมูลได้ มีการขยายการเรียนการสอนไปสู่กรรมการในบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ ธุรกิจครอบครัว และบริษัทในต่างประเทศที่สถาบันไปจัดหลักสูตรอบรมกรรมการ เช่น พม่าและลาว ในปี 2560 สถาบันมีหลักสูตรอบรมกรรมการ 23 หลักสูตร จัดอบรม 119 ครั้ง มีผู้เข้าอบรม 3,381 คน สนับสนุนโดยวิทยากร 91 ท่านที่ทุ่มเทให้กับงานด้านพัฒนากรรมการของสถาบัน

ด้านการวิจัยและการออกแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับกรรมการ สถาบันไอโอดีได้ร่วมงานมากขึ้นกับมหาวิทยาลัย บริษัทวิชาชีพด้านการตรวจสอบ (audit firms) และสมาชิกในการออกแนวปฏิบัติสำคัญๆ เพื่อเป็นหลักในการทำหน้าที่ของกรรมการ มีการระดมความเห็นจากสมาชิกเกี่ยวกับร่างระเบียบหรือกฎหมายใหม่ๆ ที่จะกระทบการทำหน้าที่ของกรรมการเพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้ออกนโยบาย และให้ความเห็นในเวทีสาธารณะ ในประเด็นธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียน

ปี 2560 จำนวนสมาชิกของสถาบันเพิ่มขึ้น 13.9% สมาชิกเป็นฐานสำคัญของสถาบันในการแลกเปลี่ยนและระดมความเห็น เพื่อขับเคลื่อนการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมถึงเป็นกระบอกเสียงสำคัญที่ส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการของประเทศ ในปี 2560 สถาบันจัดงานสัมมนาให้สมาชิก 21 ครั้ง และได้ประโยชน์จากการมีส่วนร่วมของสมาชิก ทั้งในฐานะวิทยากรและผู้สนับสนุนกิจกรรมของสมาคม ทำให้มีบริษัทและหน่วยงานทั้งในและนอกประเทศสนับสนุนกิจกรรมของสมาคมเป็นจำนวนมาก

ในปี 2559 คณะกรรมการสถาบันได้อนุมัติงบประมาณส่วนหนึ่งจากเงินสะสมสำหรับการลงทุนเพื่อปรับปรุงสถานที่ ปรับปรุงระบบงานไอที และกระบวนการทำงานของสมาคม ซึ่งในปีที่ผ่านมาสถาบันได้ปรับปรุงสถานที่ทำงานของสมาคมที่นอร์ธปาร์ค เริ่มโครงการลงทุนในระบบไอที และการจัดหาพื้นที่ในเขตธุรกิจใจกลางเมือง เพื่อเป็นสถานที่พบปะและใช้ประโยชน์ของสมาชิก ทั้งหมดก็เพื่อสนับสนุนการสร้างเครือข่ายและการให้บริการต่อสมาชิก

ผลของงานดังกล่าวทำให้การกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทเอกชนไทยมีความก้าวหน้าต่อเนื่อง คะแนนประเมินเฉลี่ยการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียน 620 บริษัท ในปี 2560 ที่สถาบันไอโอดีประเมินเพิ่มสูงขึ้นเป็น 80% ขณะที่ความมุ่งมั่นของบริษัทในประเด็นธรรมาภิบาลธุรกิจ เช่น การต่อต้านการทุจริตก็มีความเข้มแข็งต่อเนื่อง โดยบริษัทที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทย ในการต่อต้านการทุจริตหรือ CAC เพิ่มสูงขึ้นเป็น 894 บริษัท และมี 314 บริษัทที่ผ่านการรับรองว่าบริษัทมีนโยบายและแนวปฏิบัติต่อต้านการทุจริตครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด แสดงถึงความมุ่งมั่นของบริษัทที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา และพร้อมแสดงตนที่จะทำในสิ่งที่แตกต่าง

ด้านการเงิน ฐานะการเงินของสถาบันอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ ในปี 2560 สถาบันมีรายได้ 164.9 ล้านบาท มีรายจ่าย 141.3 ล้านบาท มีรายได้มากกว่ารายจ่าย 23.6 ล้านบาท

ในฐานะกรรมการผู้อำนวยการของสถาบัน ก็ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการสถาบัน ผู้บริหาร พนักงาน สมาชิก และผู้ให้การสนับสนุนทุกท่าน ทุกบริษัท ที่ได้ช่วยให้งานของสถาบันมีความก้าวหน้าด้วยดี ตามพันธกิจและเป้าประสงค์ของสถาบัน