จากอาร์เจนติน่าสู่ตุรกี ได้เวลาเริ่มวิกฤต EM ?

จากอาร์เจนติน่าสู่ตุรกี ได้เวลาเริ่มวิกฤต EM ?

คงไม่ต้องสงสัยว่าวิกฤตตลาดเกิดใหม่หรือ (Emerging market) EM ได้เกิดเป็นจุดๆในโลกเรียบร้อยแล้ว รอแต่ว่าจะจุดติดเป็นวิกฤตเชิงระบบหรือไม่

จากอาร์เจนติน่าสู่ตุรกี ได้เวลาเริ่มวิกฤต EM ?

เริ่มจาก อาร์เจนติน่าถือว่า เข้าขั้นโคม่าวิกฤตแบบใน Textbook

มีปัญหาการขาดดุลการคลังจากสมัยรัฐบาลก่อน อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน มัวริซิโอ มาคริไม่สามารถลดโครงการที่ให้เงินกับประชาชนโดยไม่ได้รับผลตอบแทนที่ดีหรือ Subsidy ได้ตามที่เคยกล่าวไว้เมื่อตอนหาเสียง ทำให้วินัยการคลังของอาร์เจนติน่ายังคงหย่อนยานเหมือนเดิม เกิดการขาดดุลการคลังแบบบานเบอะ ถึง 6% ต่อจีดีพี โดยเป็นส่วนดอกเบี้ยถึง 2% ต่อจีดีพี ในขณะที่หนี้ต่างประเทศขึ้นจาก 9 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็น 1.42 แสนล้านดอลลาร์ภายใน 3 ปี โดยปัจจัยหลักที่ทำให้อาร์เจนติน่าเกิดวิกฤตในรอบนี้ ชนิดหักปากกาเซียนที่เคยเชื่อมือผู้นำใหม่โปรไฟล์ดี คือการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง จากการที่อุปสงค์ของจีนลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง จึงส่งผลให้รายได้หลักจากการส่งออกของอาร์เจนติน่า ลดฮวบลงจนขาดดุลการชำระเงินหนักขึ้นจาก 2% ต่อจีดีพี เมื่อตอนปี 2015 ช่วงที่ผู้นำใหม่ท่านนี้เข้ามารับตำแหน่ง มาเป็นขาดดุล 5% ต่อจีดีพีในปัจจุบัน รวมถึงเงินสำรองต่างประเทศลดลงจาก 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์เหลือ 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในตอนนี้ นอกจากนี้ ชาวอาร์เจนติน่ายังมีประสบการณ์ที่เลวร้ายกับไอเอ็มเอฟมาหลายครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2002 ที่มีหลายคนต้องชักหน้าไม่ถึงหลัง จากแพ็คเกจการรัดเข็มขัดของไอเอ็มเอฟในตอนนั้น

โดยภาพรวมเชิงมหภาคของอาร์เจนติน่า ถือว่า ‘เข้าขั้นโคม่า’ แบบที่นายมาคริ ต้องตรงดิ่งไปขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ แม้ประชาชนชาวอาร์เจนติน่าจะพากันร้องเสียงยี้ก็ตาม เนื่องจากเข็ดแล้วกับประสบการณ์ในอดีต

แล้วตุรกีกำลังเกิดวิกฤตได้อย่างไร?

ความจริงแล้ว พรรค AKP ของประธานาธิบดี ตุรกี รีเซบ ธายิป เออร์โดแกน เมื่อกว่า 10 ปีก่อน ช่วงที่ได้มาเป็นรัฐบาลตุรกีครั้งแรก ได้เข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินนโยบายการคลังแบบเข้มงวด จนเมื่อ 8 ปีก่อน หลายคนยังมองว่าเศรษฐกิจตุรกีจะขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศของกลุ่มชั้นนำในยุโรป

ทว่าจากการเป็นผู้นำที่ค่อนข้างจะเผด็จการของนายเออร์โดแกน ทำให้ตุรกีก็อาจจะกล่าวได้ว่าเริ่มเกิดวิกฤตการเงินเข้าจนได้ แม้จีดีพีของตุรกีในตอนนี้จะเติบโตถึง 7% กว่าๆ เมื่อปีที่แล้ว ทว่าการที่กลัวเศรษฐกิจจะหดตัวจากความไม่เชื่อมั่นของต่างชาติหลังเกิดความพยายามรัฐประหารรัฐบาล เมื่อปี 2015 นายเออร์โดแกน จึงตัดสินใจกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยแพ็คเกจที่ค่อนข้างแรงจึงทำให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นมาราว 13% เมื่อปลายปีที่แล้ว อีกทั้งเกิดการขาดดุลการชำระเงินอย่างหนัก จากการที่เศรษฐกิจร้อนแรงเกินเหตุ ด้วยการที่นายเออร์โดแกนเป็นผู้นำเผด็จการ ทำให้ไม่มีกุนซือคนไหนกล้าทักท้วง หากเขาเชื่ออะไรฝังใจสักอย่าง 

โดย ‘นายเออร์โดแกนมองว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่เหมือนปีศาจร้าย’ ถึงขนาดที่ไปโชว์เหนือแบบผิดๆ ระหว่างการเยือนอังกฤษเมื่อเดือนที่แล้ว ว่าต้องลดดอกเบี้ยเพื่อที่จะลดอัตราเงินเฟ้อของตุรกี สิ่งนี้สร้างความตระหนกให้กับนักลงทุนต่างประเทศเป็นอย่างมาก จนกระทั่งค่าเงินไลร่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้วร่วงลงกว่า 10% ภายในเวลา 2 วัน แม้จะขึ้นดอกเบี้ยก็ยังไม่ทุเลาลงสักเท่าไหร่ รวมถึงชาวตุรกีพาเหรดกันไปฝากเงินในต่างประเทศ

นอกจากนี้ อาจมีการแจกเงินในช่วงเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนหน้า ยิ่งจะทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก แม้พรรค AKP มีจุดเด่นตรงที่คุมการคลังของรัฐบาลได้ดีมาตลอด

จากอาร์เจนติน่าสู่ตุรกี ได้เวลาเริ่มวิกฤต EM ?

หันมาดูอินโดนีเซียกันบ้าง จุดแข็งของแดนอิเหนา คืออัตราการเติบโตเศรษฐกิจของอินโดนีเซียยังถือว่าโอเคอยู่ที่ราว 5% และมีผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซียท่านใหม่ นายเพอร์รี วาร์จิโย ที่เป็นงาน โดยเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดค่าเงินและอัตราเงินเฟ้อ

ส่วนจุดอ่อนของอินโดนีเซีย คือ ระบบการจัดเก็บภาษีที่ล้าหลัง ทำให้การลงทุนภาครัฐ อย่าง PPP ไม่ได้มีขนาดสูงมากนักเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจ โดยค่าเงินรูเปียอ่อนลงเป็นอย่างมาก ทั้งจากเงินกองทุนสำรองระหว่างประเทศของบ้านเขาค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับปริมาณการค้า อีกทั้งการจัดเก็บภาษีของบ้านเขาก็ไม่ได้ตรงตามเป้า เจอทั้ง External และ Internal Imbalance ซึ่งในยามที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าอย่างช่วงตั้งแต่เดือนมี.ค.เป็นต้นมา ค่าเงินรูเปียก็เลยเดี้ยงเหมือนครั้งหนึ่งค่าเงินบาทไทยเป็นเมื่อหลังลอยตัวค่าเงินบาท แม้ระดับจะไม่รุนแรงเท่าก็ตาม

ในภาพรวม อินโดนีเซียอาการปัญหาทางเศรษฐกิจคล้ายกับตุรกี คือยังมีเศรษฐกิจที่เติบโตได้ดี ทว่าฐานะการคลังของรัฐและดุลการชำระเงินที่ค่อนข้างไม่แข็งแรงเท่าไหร่ แม้อินโดนีเซียยังไม่เลวร้ายเท่าตุรกีก็ตาม ทว่าประเทศในอาเซียนตอนนี้ส่วนใหญ่ยกเว้นมาเลเซีย ถือว่ามีพื้นฐานในส่วนนี้ที่แข็งแรงกว่า อินโดนีเซียเลยเป็นเป้าของนักลงทุนต่างชาติ ส่วนตุรกีได้เปรียบตรงที่ตั้งของประเทศเชื่อมระหว่างยุโรปและเอเชีย

แล้ววิกฤต EM ครั้งนี้ จะลามมาที่อินโดนีเซียที่ถือว่าเสี่ยงที่สุด ในอาเซียนไหม?

ถ้าธนาคารกลางสหรัฐให้ความเห็นมุมมองอัตราดอกเบี้ยในอนาคตแบบ Hawkish อย่างคาดไม่ถึงในการประชุมวันที่ 13 มิ.ย.นี้ แล้วค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จะส่งผลต่อหนี้ต่างประเทศของ EM จะสูงขึ้น หรือการประชุมโอเปคในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ OPEC ตัดสินใจคงกำลังการผลิต  ราคาน้ำมันจะยิ่งทะยานขึ้นไปอีก ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของตลาดเกิดใหม่ที่นำเข้าน้ำมัน ยิ่งไปลดกำลังซื้อของประชาชน กดดันให้ธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้ ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะไปกดการลงทุนภาคเอกชนและกระเทือนผู้กู้สินเชื่อบ้านให้ต้องจ่ายมากขึ้น หากเป็นเช่นนี้ โอกาสที่อินโดนีเซียหรือประเทศอเมริกาใต้อย่างบราซิล จะโดนหางเลขไปด้วยมีอยู่สูงมาก

อย่างไรก็ดี วิกฤต EM ถ้าจะเกิดขึ้นรอบนี้ในช่วงนี้ น่าจะเป็นปีนี้ เนื่องจากผมมองว่าค่าเงินดอลลาร์ไม่น่าจะแข็งค่ายาวถึงกลางปีหน้า ด้วยเหตุผลที่ผมจะกล่าวถึงในครั้งหน้า