‘คำถาม’ หรือ ‘คำตอบ’ อันไหนสำคัญกว่ากัน

‘คำถาม’ หรือ ‘คำตอบ’ อันไหนสำคัญกว่ากัน

ดิฉันเชื่อว่าผู้บริหารส่วนมากเป็นคนเก่ง ฉลาด กว่าจะขึ้นมาถึงระดับนี้ได้ต้องผ่านประสบการณ์มาเยอะ

เมื่อก่อนนี้ เมื่อพูดถึงบุคคลที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพ ก็เป็นที่รู้กันว่าเขาคือคนเก่ง ฉลาด มีไหวพริบปฏิภาณ สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้อย่างรวดเร็ว เรียกว่าเป็นคนมี IQ (Intellectual Quotient)

หลังจากนั้น เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคที่สภาพแวดล้อมมีความซับซ้อนมากขึ้น จึงพบว่าเก่งอย่างเดียวนั้นไม่พอ หากจะประสบความสำเร็จได้ต้องมี EQ (Emotional Quotient) หรือความฉลาดทางอารมณ์ด้วย เพราะโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ความกดดัน ความไม่แน่นอน ผู้ชนะคือคนที่สามารถควบคุมตนเองไม่ให้ตกหลุมพรางแห่งอารมณ์และความเครียด แถมยังต้องสามารถใช้ความเป็นผู้นำ นำพาทีมและองค์กรก้าวผ่านความกดดันไปให้ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล การศึกษาล่าสุดพบว่า การมี IQ และ EQ นั้นยังไม่เพียงพอ ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัลได้นั้น จะต้องมี CQ (Curiosity Quotient) ความสนใจใฝ่รู้

คนที่มี CQ มีคุณลักษณะสำคัญคือ สามารถอดทนรอต่อความไม่ชัดเจนได้ พร้อมเผชิญความท้าทายที่ไม่เคยเจอมาก่อน พัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดนิ่ง รักการเรียนรู้ ปรับตัว ผลักดันตนเอง กล้าเสี่ยง ไม่กลัวที่จะทำผิด ประยุกต์ใช้ทักษะต่าง ๆ ที่เคยมีมา ผสมผสานกับทักษะใหม่ที่เรียนรู้อย่างไม่จบสิ้น เพื่อประสานประโยชน์กับเทคโนโลยีได้ 

นอกจากนี้ คนที่มี CQ สามารถตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว ใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร และที่สำคัญที่สุดคือ “ทำไม” “ทำไม” และ “ทำไม”

ผลการศึกษาของสถาบัน Centre of Creative Leadership ตอกย้ำความสำคัญของ CQ ว่า Curiosity ไม่ใช่เป็นเพียงพรสวรรค์ของเด็กเท่านั้น หากแต่กลายเป็นคุณลักษณะที่สำคัญของผู้นำที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ไม่ว่าเป็น ความสามารถในการตั้งคำถาม สามารถเรียนรู้ เปิดใจ ทำตัวเสมือนน้ำไม่เต็มแก้ว พร้อมแก้ปัญหา พร้อมปรับตัว ซึ่งคุณสมบัติสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องช่วยให้ผู้นำตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่ข้อมูลมีอยู่มหาศาล และเป็นตัวขับคลื่นทั้งตัวผู้นำและองค์กรไปข้างหน้า มากกว่าผู้นำที่คิดว่าตนเองทำมานานแล้วและรู้ดีทุกอย่าง!

เมื่อเป็นเช่นนี้ องค์กรจึงต้องให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้คนเกิด Curiosity ตั้งคำถามที่ใช่กับสิ่งรอบตัวเพื่อให้ทั้งตัวพนักงาน ผู้นำ และองค์กรตระหนักรู้ว่า อะไรคือสิ่งที่เราทำได้ดีแล้ว และอะไรคือสิ่งที่ยังทำได้ไม่ดีเพื่อเตรียมตัวปรับแผนรองรับอนาคต

ลองทดสอบดูว่าคุณมักได้ยินคำพูดแบบไหนบ่อย ๆ ในองค์กรของคุณ

ระหว่าง

“เรื่องพวกนี้…พี่เรียนมาเยอะแล้ว”

“สมัยพี่นะ...พี่ทำแบบนี้”

“ผมก็คิดเหมือนพี่”

“…ได้ครับพี่”

กับ

“มีอะไรบ้างที่พวกเรายังไม่รู้”

“ตรงไหนบ้างที่เราควรเปลี่ยน”

“ทำไมลูกค้าถึงชอบหรือไม่ชอบเรา”

“เราจะทำอย่างไรให้ผลลัพธ์ดียิ่งขึ้น”

“หากทำแล้วพลาด…จะเป็นอย่างไร”

ข่าวดีคือ แม้ IQ นั้นพัฒนายาก แต่ EQ และ CQ นั้นสามารถพัฒนาได้ หากตั้งใจจริง

เริ่มต้นจากตัวผู้นำก่อน เพราะผู้นำที่ประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัลไม่ใช่ผู้นำที่มีทุกคำตอบ แต่เป็นผู้นำที่รู้ว่าจะถามอะไร เมื่อไหร่ และเรียนรู้อะไรจากคำถามและคำตอบนั้น

ในการประชุมบริษัทครั้งถัดไป ลองเปิดประชุมด้วยการตั้งคำถามแทนการกล่าวบรรยาย และรอฟังคำตอบจากพนักงานของคุณ ให้ทุกคนได้มีโอกาสตอบ และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ตั้งคำถาม จากนั้นลองดูผลลัพธ์ คุณอาจได้เรียนรู้อะไรบางอย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อน อย่างที่ Albert Einstein เคยกล่าวไว้ว่า “I have no special talents. I am only passionately curious.”