คิดแบบดิจิทัล วางแผนแบบดิจิทัล

คิดแบบดิจิทัล วางแผนแบบดิจิทัล

มีผู้บริหารคนหนึ่งใช้เงินเป็นร้อยล้านสร้างแอปหนึ่งขึ้นมา ซึ่งแค่คนมาใช้งานเป็นหมื่นพร้อมๆกัน สี่จุดศูนย์ก็กลายเป็นศูนย์จุดศูนย์ คือแอปล่ม

แอปล่มใช้งานไม่ได้ แปลว่าท่านมโนไปเองว่ามีแผน การวางแผนแบบดิจิทัล คือทำตามหนทางการวางแผนของคนที่สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งคล้าย ๆกับที่สมัยก่อน เราบอกว่ากำหนดแผนตามวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่วางแผนแบบดิจิทัลก้าวขึ้นไปอีกระดับ ทำแบบวิทยาศาสตร์ใช้ได้ดีกับโลกที่เป็นจริง ทำแบบดิิจิทัล ใช้ได้ทั้งโลกจริง และโลกไซเบอร์ วางแผนแบบดิจิทัลเน้นความรอบคอบ และการเปิดเผย ที่รอบคอบหมายถึงเห็นเรื่องที่จะทำนั้นอย่างชัดเจน ตั้งแต่พื้นฐาน ไปจนกระทั่งถึงรายละเอียด ระลึกได้ว่าส่วนใดของเรื่องนั้น เหมือนหรือต่างไปจากเรื่องอื่น ๆที่เคยพบเจออย่างไร บอกสาระสำคัญที่ต้องการจัดการได้ 

ที่บอกว่าเปิดเผย คือต้องการให้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนั้นได้ทราบไว้ก่อน ไม่ใช่แบบลับๆ ล่อๆ ลวงคนอื่นไปแต่ละวัน จนเผลอลวงตัวเองให้เชื่อในเรื่องที่ไปหลอกคนอื่นไว้ การวางแผนที่รอบคอบ และเปิดเผยนั้น ต้องทำให้ตนเอง และคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ระลึกถึงปลายทาง หรือตอนจบของแผนนั้นได้ว่า จบแล้วเป็นอย่างไร คนที่คิดว่าวางแผนเก่ง บางคนที่แท้เป็นแค่นักวรรณกรรมแผนงาน คือเขียนแผนเป็นภาษาสละสลวยได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ถ้าถามถึงตอนจบ บอกแค่พระเอกได้สมรสกับนางเอก แต่ไม่มีความคิดเลยว่า พระเอกนางเอก มีพิธีสมรสหน้าตาแบบไหน ใส่ชุดอะไร พระเอกต้องไปกู้เงินมาจัดงานหรือไม่ นางเอกทนเจ็บปวดไปกับการปรับปรุงรูปโฉมแค่ไหน พ่อแม่สนับสนุนเงินทอง เรี่ยวแรงอะไรบ้าง 

ตอนจบของแผนมักรู้จักกันในชื่อวิสัยทัศน์ องค์กรใดก็ตามที่กำหนดวิสัยทัศน์โดยหลักการวรรณกรรมแผนงาน ลองถามผู้คนในองค์กรนั้นว่า เมื่อบรรลุวิสัยทัศน์แล้วทำงานต่างจากวันนี้อย่างไร น้อยนักที่จะได้คำตอบที่ตรงกัน ระหว่างท่านผู้นำ กับท่านพนักงาน วางแผนแบบดิจิทัล จึงเริ่มต้นด้วยการกำหนดตอนจบที่เป็นที่เข้าใจ และระลึกได้ตรงกันทั้งผู้นำ พนักงาน รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม วางแผนแบบดิจิทัลอยู่บนพื้นฐานของความรอบคอบ และการเปิดเผย

เมื่อระลึกได้กระจ่างกับตอนจบที่อยากไปถึงแล้ว ต่อไปก็ต้องสื่อสารกันให้รู้เรื่องว่าจะไปกันอย่างไร ซึ่งมักเรียกกันว่ากำหนดกลยุทธ์ ดังนั้นกลยุทธ์ที่บอกทิศทาง และขอบเขตที่จะไปนั้นต้องสอดคล้องกับตอนจบที่อยากไปถึง อยากให้พระเอกแต่งงานกับนางเอกอย่างหรูหรา เป็นที่น่าริษยาของหนุ่มสาวทั้งปวง โดยไม่มีหนี้สินท่วมตัว ก็ต้องกำหนดกลยุทธ์ระดมทุนแต่งงานจากสารพัดผู้เกี่ยวข้อง กำหนดกลยุทธ์การสร้างภาพลักษณ์ที่ดูหรูหรา กำหนดกลยุทธ์การควบคุมค่าใช้จ่าย หลังจากนั้นก็แยกแยะให้ได้ว่าจะไปตามกลยุทธ์นั้น ขั้นตอนการลงมือทำเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งตรงนี้ทำแบบดิจิทัลต่างไปจากการทำแบบเดิมๆ ตรงที่ทุกขั้นตอนการลงมือทำนั้น ต้องกำหนดตัววัดความสำเร็จ ที่บอกได้ชัด ๆ ว่าได้ทำอะไรไปแล้ว ทำแล้วต้องได้ผลอย่างไร กลยุทธ์ระดมทุน ขั้นตอนการปฎิบัติคือเดินสายไปยกน้ำชาล่วงหน้า กับญาติผู้ใหญ่ที่สตางค์เยอะ ต้องกำหนดว่าสตางค์เยอะคือแค่ไหน ใครบ้าง ไปหาเมื่อไร คาดหวังว่าจะไปหาได้ก่อนวันแต่งงานสักกี่คน ไปแต่ละคนคาดว่าจะระดมทุนจากท่านได้เท่าใด 

ทำแบบดิจิทัล ทุกขั้นตอนต้องวัดผลได้ วัดได้ทั้งได้ทำแค่ไหน วัดได้ว่าที่ได้ทำไปนั้นได้ผลแค่ไหน นักวรรณกรรมแผนงานชอบวัดแค่ได้ทำ แต่ไม่ชอบวัดว่าได้ผลแค่ไหน เพราะเขียนตัววัดสิ่งที่ได้ทำนั้น เขียนได้ไพเราะกว่าตัววัดที่ได้ผล เพราะต้องขยายความกันยืดยาว เพื่อให้ทุกคนระลึกได้ถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างกระจ่างชัด และตรงกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างมโนไปคนละทาง วางแผนแบบดิจิทัลในขั้นตอนการวางแผนปฏิบัติการต้องกำหนดตัววัดสิ่งที่ได้ทำ และตัววัดผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ได้ทำนั้น และต้องวัดได้จริง ๆ ไม่ใช่แค่รู้สึกนึกคิดกันไปเอง ได้ทำกับได้ผลในทางดิจิทัล เป็นคนละขั้นตอน

เมื่ออ่านเสร็จแล้ว รบกวนท่านได้โปรดหยิบแผนของท่านมาดู แล้วตอบตัวท่านตรง ๆว่า เป็นแผนแบบวรรณกรรม หรือแผนแบบดิจิทัล