“คนอยากล้ม คสช.” เป้าไม่เคยเปลี่ยน!

 “คนอยากล้ม คสช.” เป้าไม่เคยเปลี่ยน!

สถานการณ์เผชิญหน้าระหว่าง คสช. กับฝ่ายต่อต้าน ในวันนี้ ไม่ต่างจากการลุกขึ้นท้าทาย “กำปั้นเหล็ก” ของกลุ่มนักศึกษา-นักกิจกรรมเมื่อปี 2558

ปี 2558 มีกลุ่ม "ขบวนการประชาธิปไตยใหม่" เป็นเรือธง โดยก่อตัวขึ้นในวันครบรอบหนึ่งปีการทำรัฐประหาร และพวกเขาได้ออกมาแสดงออกทางการเมืองเชิงสัญลักษณ์ ทั้งที่ขอนแก่น และกรุงเทพฯ

24 มิ.ย.2558 ตำรวจได้ขอศาลออกหมายจับนักเคลื่อนไหวต้าน คสช. 14 คน ในข้อหาร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. มาตรา 116

ต่อมา แกนนำ 14 คน ถูกนำตัวไปฝากขังในเรือนจำ ท่ามกลางกระแสเรียกร้องจากองค์กรสิทธิมนุษยชนให้ปล่อยตัวหนุ่มสาวเหล่านั้น ในที่สุด พวกเขาได้รับการปล่อยตัวออกมาโดยไม่มีเงื่อนไข เมื่อ 8 ก.ค.2558

สำหรับปีนี้ มีกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” มาแทน แต่แกนนำหน้าเก่าคือ “รังสิมันต์ โรม” และเพื่อนๆหน้าใหม่อีก 4-5 คน เหมือนฉายหนังม้วนเดิม มีการเปลี่ยนหน้า “ตัวละคร” ไปบ้าง

แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งรู้ล่วงหน้าว่า มวลชนที่เข้าร่วมไม่เยอะ เพราะทดสอบการชุมนุมมา 5-6 ครั้งแล้ว ปรากฏว่า มีคนเข้าร่วมมากที่สุดแค่หลักพัน และโดยเฉลี่ย 200-300 คน

พวกเขาตัดสินใจเดินหน้า และพร้อมจะยอมให้ถูกจับกุม แต่ไม่เลือกเล่น “เกมแรง” เพราะต้องการ “กระแสความรู้สึกเห็นใจ” จากผู้คนทั่วไป

หมากเกมนี้ พรรคเพื่อไทย และ นปช. รู้ดีว่า จะเกิดอะไรกับเด็กๆ จึงไม่ขยับ “มวลชน” เหมือน ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. พูดว่า "ไม่มีแนวคิดผูกขาดการนำ"

หลังแกนนำคนอยากเลือกตั้งถูกจับ นักเลือกตั้งก็ดาหน้ามา “โหนกระแส” ปลุกระดมต้าน คสช. ผ่านสื่อออนไลน์อย่างหนัก

แม้ คสช.ได้ชัยชนะทางยุทธการ แต่ก็พึงระวัง “กระแสอารมณ์ความรู้สึก” ของประชาชน คำพูดประโยคเดียวอาจยิ่งกว่าสาดน้ำมันเข้ากองเพลิง