จิตสำนึก... ปัญหาจริยธรรมในสังคม !! 

 จิตสำนึก... ปัญหาจริยธรรมในสังคม !! 

เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทุกคนคงคุ้นเคยกับคำว่า จริยธรรม (Ethics) หมายถึง ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ

 .. จริยอันประเสริฐ เรียกว่า พรหมจริยธรรม หมายถึง ความประพฤติอันประเสริฐ อันดำเนินไปตามอริยมรรคองค์ ๘ ที่สรุปย่อเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา.. จริยธรรม จึงเป็นการปฏิบัติตนอย่างมีศีลธรรมเป็นพื้นฐานของชีวิต เพื่อดำเนินชีวิตไปบนหนทางแห่งความดีงาม มีคุณธรรม คือ มีจิตสำนึกที่ประเสริฐที่สมบูรณ์ด้วยสติปัญญาและความเพียรชอบ...

สติปัญญาและความเพียรชอบ จึงเป็นอุปการธรรมที่สำคัญที่สุดทั้งในจริยธรรมระดับโลกียะและโลกุตระ เพื่อการนำชีวิตก้าวไปให้ถึงจุดสูงสุดของเป้าหมาย (Goal) คือ ความสุขอันเกิดจากความสิ้นทุกข์.. พุทธศาสนาจึงมีหลักจริยธรรมที่ดำเนินไปตามระเบียบแบบแผนในพระธรรมวินัย เพื่อประโยชน์ตน ผู้อื่น และประโยชน์ของสังคม โดยเฉพาะการสืบสานความสามัคคีธรรม สร้างสรรค์สันติสุขในชุมชนพุทธศาสนา 

การดำเนินชีวิตด้วยจิตสำนึกของความเป็นชาวพุทธจึงต้องศึกษาให้เข้าใจในพุทธธรรม (ปริยัติธรรม) อันเป็นสัจธรรมที่ทรงแสดงไว้อย่างชัดเจนในความจริงแท้ที่เป็นประโยชน์ เหมาะควร .. ไม่เป็นโทษเลย (สัจธรรม) เพื่อนำมาเป็นแบบแผนในการปฏิบัติ มีหลักการ สร้างสรรค์อุดมการณ์ให้เกิดขึ้น (จริยธรรม, ศีลธรรม, อุดมคติ) จะได้รู้ว่า เราควรจะดำเนินชีวิตอย่างไรที่จะบรรลุถึงสัจธรรม อันเป็นธงชัยแห่งชีวิตของมนุษยชาติที่เป็นสัตว์ประเสริฐ) และที่สำคัญ เราควรรู้ว่า จะเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไรเพื่อการเข้าถึงรสแห่งสัจธรรมนั้นๆ (วรรณคดี) 

แม้พุทธธรรมจะวางหลักจริยศาสตร์ไว้อย่างชัดเจน อันประกอบควบคู่กับศีลธรรมและควบคุมด้วยมโนธรรม แต่ใช่ว่าสังคมวิถีพุทธจะดำเนินไปอย่างครบสมบูรณ์ตามจุดมุ่งหมายของพุทธธรรมไม่.... ทั้งนี้ เพราะการศึกษาที่ขาดส่วนที่เรียกว่า การศึกษาเสียสมดุล จนนำไปสู่การขาดดุลยภาพในการดำเนินชีวิต ทำให้เกิดความสูญเสียคุณค่าของความเป็นชาวพุทธไปอย่างน่าเสียดาย และทำให้เกิดภาพพจน์ของสังคมที่แตกต่างไปจากสังคมวิถีพุทธดังที่เคยเป็น 

ลักษณะสังคมวิถีพุทธที่เพียบพร้อมด้วยศีลธรรม จริยธรรม และคุณธรรม อันเป็นสังคมเชิงสงบสุข มีเมตตากรุณา สร้างสัมพันธภาพด้วยรอยยิ้มและคำพูดที่ไพเราะอ่อนหวานสมานมิตร เอื้อเฟื้อในประโยชน์ผู้อื่น ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ไม่ผันแปรไปอย่างรวดเร็ว กลายเป็นสังคมแบบจู้จี้ขี้เอาเรื่อง ชอบทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ จิตใจฟุ้งซ่านไร้ความสงบ ไม่มีเหตุผล มองเหตุการณ์และบุคคลในทางลบ ในแง่ไม่ดี .. มีความคับแค้นใจ ทุกข์ใจล่วงหน้าอย่างไม่น่าจะเป็นด้วยโรควิตกจริต หวั่นวิตกหวาดกลัว อันนำไปสู่การต้อนรับสิ่งที่หนีไม่พ้นด้วยความเสียสติขาดปัญญา จึงเกิดขึ้นให้ปรากฏจากพฤติกรรมของบุคคลส่วนใหญ่ในสังคมที่มีปัญหาทางจริยธรรมแบบนี้ 

จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นการดำเนินชีวิตของบุคคลในสังคม และการนำพาสังคมประเทศชาติเข้าสู่ปัญหาอย่างไร้ตรรกะ มากกว่าออกมาจากปัญหาอย่างรู้เหตุรู้ผล... หลายๆ เรื่องไม่ควรทำแต่กลับทำ...

หลายๆ เรื่องควรทำกลับไม่ทำ จึงปรากฏให้เห็นชัดตั้งแต่ชาวบ้าน ร้านตลาด จนถึงผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองในยามนี้ 

การบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบของสังคม จึงผิดเพี้ยนไปจากหลักจริยธรรม แม้จะกล่าวอ้างศีลธรรมก็ขัดแย้งกับจริยธรรม เพราะความไร้มโนธรรมของบุคคล... ที่สุดแห่งที่สุดของสังคมประเทศชาติจึงมีแต่การสุมไฟแค้น .. ไฟพยาบาท ทะเลาะวิวาท แบ่งพรรคแบ่งพวก ทำร้ายทำลายกันอย่างไร้สาระ... เรื่องในกรอบเล็กๆ ที่มีการเปิดร้านค้าขายของไม่ถูกต้อง ผิดกฎหมาย เอาเปรียบผู้บริโภค ถูกบดบังด้วยจิตใจที่ไร้มโนธรรม จนนำไปสู่การจ้องเอาผิดกับกลุ่มบุคคล... และลามปามไปถึงบุพการีที่ไม่รู้เรื่องราวอะไรมากนัก.. ด้วยการอ้างหลักกฎหมายและอำนาจบังคับใช้ด้วยโมหจริตและ... นี่คือปัญหาจริยธรรมในสังคมไทยที่ยากต่อการเปลี่ยนแปลงในทศวรรษนี้.. เอวัง !! วังเวง !!