ประเทศไหนมีอิทธิพลที่สุดในเอเชีย

ประเทศไหนมีอิทธิพลที่สุดในเอเชีย

อาทิตย์ที่แล้ว มีข่าวสิงคโปร์ได้รับคัดเลือกให้เป็นสถานที่จัดการเจรจาครั้งสำคัญระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือ ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้

เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประเทศในอาเซียนได้รับความไว้วางใจให้เป็นสถานที่เจรจา แสดงถึงการยอมรับในสถานภาพของอาเซียนในเวทีโลก เหตุผลที่เลือกสิงคโปร์เป็นสถานที่เจรจาคงมีมาก แต่ที่สำคัญ น่าจะเป็นผลงานในอดีตที่สิงคโปร์เคยเป็นสถานที่จัดการประชุมสำคัญๆ ระหว่างประเทศ มีมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยเป็นที่ยอมรับ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และทั้งเกาหลีเหนือและสหรัฐต่างก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับสิงคโปร์ 

ที่จะเขียนวันนี้คือคำถามที่ตามมาว่า ทำไมสิงคโปร์ที่เป็นประเทศเล็กมีประชากรเพียง 5 ล้านคน อะไรเป็นปัจจัยทั้งในแง่เศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ทำให้ประเทศอย่างสิงคโปร์สามารถมีอิทธิพลในระดับสากลได้ ในเรื่องนี้ สถาบันโลวี (Lowy Institute)ประเทศออสเตรเลีย ได้ทำการศึกษาโดยจัดทำดัชนีพลังเอเชีย หรือ Asia Power Index และวิเคราะห์พลังของประเทศต่างๆ เพื่อศึกษาว่าประเทศไหนมีอิทธิพล (influence) ในเอเชียมากที่สุด มีการนำเสนอผลการศึกษาในบทความ "ประเทศที่ทรงอิทธิพลที่สุดในเอเชีย"หรือ The Most Influential Countries in Asia เผยแพร่ในเว็บไซต์ Visual Capitalist ซึ่งก็พูดถึงประเทศไทย วันนี้เลยอยากเก็บประเด็นจากงานวิจัยชิ้นนี้มาแชร์ให้แฟนคอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต" ทราบ 

ทุกประเทศอยากมีอิทธิพลในระดับสากล เหมือนคนส่วนมากที่อยากมีบารมีในสังคม แต่จะทำได้หรือไม่ คงขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและทรัพยากรที่ประเทศมี รวมถึงความสามารถในการใช้ทรัพยากรที่มีสร้างอิทธิพลต่อประเทศอื่น

การศึกษาของสถาบันโลวี แยกเครื่องชี้ประเทศออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก คือ เครื่องชี้ด้านทรัพยากรที่ประเทศมี (Resource) เพื่อวัดพลังพื้นฐานของประเทศ ซึ่งใช้ตัววัด 4 ตัว คือ 1.ทรัพยากรเศรษฐกิจ 2.ความสามารถด้านการทหาร 3.ความยืดหยุ่น (resilience) ที่ประเทศจะสามารถปรับตัวต่อผลกระทบต่างๆ ซึ่งแสดงถึงความเข้มแข็งของประเทศ และ 4.แนวโน้มในอนาคตหรือ Future Trends ที่ฉายภาพพลังและความสามารถเหล่านี้ออกไปในอนาคต

กลุ่มที่ 2. คือ เครื่องชี้การใช้พลังที่ประเทศมีสร้างอิทธิพล (Influence) ต่อประเทศอื่นๆ ในระดับสากล ซึ่งตัววัดที่สถาบันโลวีใช้คือ 1.อิทธิพลด้านการทูต (Diplomatic Influence) หมายถึง ความสามารถในการใช้การทูตผลักดันสิ่งที่ประเทศต้องการให้เกิดขึ้นในเวทีสากล 2.เครือข่ายการป้องกันประเทศหรือ Defense Networks ซึ่งก็คือความสามารถในการสร้างเครือข่ายที่จะใช้ป้องกันตนเองและรักษาความสงบสุขในภูมิภาค 3.ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ คือการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงเครือข่ายของการรวมตัวด้านเศรษฐกิจและการเงินเพื่อประโยชน์ของประเทศและเครือข่าย และ 4.อิทธิพลด้านวัฒนธรรม หรือ Cultural Influence ที่สามารถใช้วัฒนธรรมของประเทศโน้มน้าวพฤติกรรม และความชอบของคนในประเทศอื่นให้ประเทศของตนเป็นที่ยอมรับ นี่คือ 4 องค์ประกอบที่ใช้วัดอิทธิพลประเทศในระดับสากล

ผลวิเคราะห์ที่ออกมาน่าสนใจ คือ จะมีประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านทรัพยากรและมีประเทศที่มีอิทธิพลสูงในระดับสากล คือ เป็น most influential countries แต่รายชื่อและอันดับของประเทศใน 2 กลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน หมายถึงจะมีทั้งกรณีที่ประเทศมีความเข้มแข็งด้านทรัพยากรสูง แต่มีอิทธิพลในระดับสากลต่ำ และมีประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านทรัพยากรต่ำ แต่มีอิทธิพลในระดับสากลสูง ความแตกต่างนี้สถาบันโลวีเรียกว่า ช่องว่างอำนาจ หรือ Power Gap ซึ่งมีทั้งบวกและลบ ลบหมายถึงประเทศมีความเข้มแข็งด้านทรัพยากรสูงแต่มีอิทธิพลในระดับสากลต่ำ คือต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เปรียบเหมือนนักมวยที่ชกในรุ่นต่ำกว่าน้ำหนักที่ตนเองมี ขณะที่บวก หมายถึงประเทศมีความเข้มแข็งด้านทรัพยากรต่ำแต่สามารถมีอิทธิพลในระดับสากลได้มากกว่าทรัพยากรที่มีอยู่ คือ เหมือนนักมวยที่ชกข้ามรุ่นและสามารถทำได้อย่างน่าประทับใจ

ถ้าวัดเฉพาะความเข้มแข็งด้านทรัพยากร (Resource) อันดับประเทศตามความเข้มแข็ง ได้แก่ 1.สหรัฐ (คะแนน 84.8) 2.จีน (คะแนน 78.6) 3.อินเดีย (คะแนน 43.8) 4.รัสเซีย (คะแนน 39.7) 5.ญี่ปุ่น (คะแนน 31.1) 6.ออสเตรเลีย (คะแนน 25.4) 7.เกาหลีใต้ (คะแนน 25.3) 8.อินโดนีเซีย (คะแนน 20.9) 9.สิงคโปร์ (คะแนน 20.4) 10.นิวซีแลนด์ (คะแนน 17.1) 11.มาเลเซีย (คะแนน 16.7) และ 12.ไทย (คะแนน 16.3)

แต่ในแง่อิทธิพลหรือความสามารถของประเทศในการใช้ความเข้มแข็งด้านทรัพยากรสร้างอิทธิพลในระดับสากล (Influence) อันดับที่ออกมาได้แก่ 1.สหรัฐ (คะแนน 85.0) 2.จีน (คะแนน 75.5) 3.ญี่ปุ่น (คะแนน 42.1) 4.อินเดีย (คะแนน 41.5) 5.รัสเซีย (คะแนน 33.7) 6.ออสเตรเลีย (คะแนน 32.5) 7.เกาหลีใต้ (คะแนน 30.7) 8.สิงคโปร์ (คะแนน 27.9) 9.มาเลเซีย (คะแนน 20.6) 10.อินโดนีเซีย (คะแนน 20.0) 11.ไทย (คะแนน 19.2) และ 12.นิวซีแลนด์ (คะแนน 18.9)

  จะเห็นว่าขณะนี้สหรัฐเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านทรัพยากรสูงสุด พร้อมเป็นประเทศที่มีอิทธิพลสูงสุดในเอเชีย ตามด้วยจีน ที่มีทั้งความเข้มแข็งด้านทรัพยากรและอิทธิพลในภูมิภาคเป็นที่ 2 รองจากสหรัฐ ที่สหรัฐทำได้ก็เพราะสหรัฐเป็นผู้นำใน 5 เครื่องชี้จากทั้งหมด 8 เครื่องชี้ที่สถาบันโลวีใช้ และนำจีนห่างถึง 10 คะแนน จุดเด่นของสหรัฐคือเป็นผู้นำด้านการทหารและเครือข่ายด้านการป้องกันประเทศ รวมถึงเครือข่ายด้านอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจ ที่จีนสู้ไม่ได้ แต่ปัจจุบันสหรัฐก็เริ่มมีจุดอ่อนจากที่ได้ถอยตัวเองออกจากการรวมตัวทางการค้าในภูมิภาค เช่น กรณี TPP เป็นต้น 

แต่ที่น่าสนใจกว่าคือ ประเทศที่มีช่องว่างอำนาจเป็นบวกคือ สามารถสร้างอิทธิพลในระดับสากลได้สูงกว่าความเข้มแข็งด้านทรัพยากรที่ประเทศมี ซึ่งอันดับแรกคือ ญี่ปุ่น ที่มีคะแนนอิทธิพลสูงกว่าคะแนนทรัพยากรถึง 11 คะแนน ตามด้วยสิงคโปร์ 7.5 คะแนน ออสเตรเลีย 7.2 คะแนน เกาหลีใต้ 5.4 คะแนน มาเลเซีย 3.9 คะแนน และไทย 2.9 คะแนน นี่คือกลุ่มประเทศที่ชกข้ามรุ่นและสามารถทำได้ดี ซึ่งก็น่ายินดีที่มีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย สำหรับประเทศที่ขณะนี้ชกต่ำกว่าน้ำหนักที่ตนมี หรือมีช่องว่างอำนาจเป็นลบ ก็เช่น เกาหลีเหนือ (คะแนน -6.9) รัสเซีย (คะแนน -6.4) จีน (คะแนน -3.0) และอินเดีย (คะแนน -2.3) เป็นต้น

ข้อมูลเหล่านี้ชี้ว่า 1.อิทธิพลของแต่ละประเทศในระดับสากลเป็นสิ่งที่สามารถสร้างได้ และไม่ได้ถูกจำกัดโดยทรัพยากรที่ประเทศมี  2.อิทธิพลจะเป็นผลผลิตของนโยบายที่มุ่งสร้างความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการทูต เช่น ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ หรือสร้างเครือข่ายด้านการทหารและการรักษาความปลอดภัย เช่น เกาหลีใต้และออสเตรเลีย หรือจากปัจจัยวัฒนธรรมของประเทศที่เป็นที่ยอมรับ 3.เมื่ออิทธิพลเป็นสิ่งที่สามารถสร้างได้ อิทธิพลของแต่ละประเทศในระดับสากลก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ มีขึ้นมีลง ดังเราจะเห็นจากประวัติศาสตร์โลก ย้อนกลับไปเป็นร้อยๆ ปีว่า จะมีประเทศที่สลับเปลี่ยนกันขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลกเป็นช่วงๆ เช่น กรีก มองโกล อังกฤษ และอเมริกาในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ประเทศที่มีช่องว่างอำนาจเป็นลบขณะนี้ เช่น จีนและอินเดีย ยังจะสามารถพัฒนาอิทธิพลของตนในภูมิภาคและในโลกได้อีกมาก ซึ่งถ้าเกิดขึ้นก็หมายถึงขั้วอำนาจในโลกอาจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตามมา