ทุกคนมีสิทธิ เสียชีวิตในอ้อมกอดครอบครัว***

ทุกคนมีสิทธิ  เสียชีวิตในอ้อมกอดครอบครัว***

การรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยวิถี “การดูแลแบบประคับประคอง” หรือ Palliative care ในปัจจุบัน พบว่า

หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน วิชาการ และภาคประชาสังคม เห็นความสำคัญเพิ่มขึ้นทุกขณะ

ภาวะการถูกโรคร้ายคุกคามชีวิต ไม่ควรเป็นความรู้สึกอเนจอนาถอีกต่อไป เมื่อทุกคนสามารถทำให้การตายมีคุณค่า ด้วยการเลือกกลับไปรักษาแบบประคับประคองที่บ้าน ท่ามกลางลูกหลาน ญาติสนิท มิตรสหาย

ปัญหาก็คือ ระบบสุขภาพ ยังไม่รองรับและรับรอง ทั้งๆ ที่มีมาตรา 12  ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 จุดประกายให้สิทธิผู้ป่วยทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตมาแล้วถึง 10 ปี แต่ยังมีบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลที่ตั้งคำถามหวาดระแวงต่อการดูแลแบบประคับประคองนี้

ขณะที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายเองก็ไม่กล้ากลับไปดูแลรักษาตัวที่บ้านตามความปรารถนา เพราะเกรงว่าจะขาด สิทธิประโยชน์ การเบิกจ่าย โดยเฉพาะข้าราชการและกองทุนประกันสังคม ยังไม่เอื้ออำนวยเต็มเม็ดเต็มหน่วย มีเพียง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ที่เริ่มดำเนินการแล้ว

ลสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ ผนึกความร่วมมือรวม 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย สช., คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย ลงนาม ความร่วมมือการจัดทำนิยามปฏิบัติการ (Operational definition) ของคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) ของประเทศไทย ขึ้นเป็นครั้งแรก

“สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาสิทธิประโยชน์การดูแลแบบประคับประคองให้ก้าวหน้าตามลำดับ แต่เมื่อดำเนินการไประยะหนึ่ง เกิดปัญหาขัดข้อง เช่น เรื่องคำนิยามการตีความ หรือความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ถึงเวลาที่จะต้องทำให้เกิดมาตรฐานการดูแลแบบประคับประคองที่เป็นเอกภาพ และประชาชนสามารถเบิกจ่ายตามสิทธิกองทุนต่างๆ ได้”  หมอพลเดช ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล นายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย ระบุ การจัดทำมาตรฐานคำนิยามการดูแลประคับประคองที่ชัดเจนถือเป็นความหวังของประชาชน ที่จะช่วยให้ระบบการดูแลรักษาดีขึ้น สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของกองทุนต่างๆ รวมถึงการสนับสนุนบริการขั้นพื้นฐานไปจนถึงโรคที่ซับซ้อนคุกคามชีวิต เพื่อให้บริการที่ดีมีคุณภาพแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายต่อไป

ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐฯ จะระบุคำนิยามผู้ป่วยระยะท้ายชัดเจนว่ามีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน และแพทย์จะยุติการรักษา เช่น กรณีโรคมะเร็งก็จะไม่ให้เคมีบำบัดแล้ว แต่มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อไปสู่การตายอย่างสงบมีศักดิ์ศรี และยังมีสถานพยาบาลผู้ป่วยระยะท้ายหรือ Hospice รองรับด้วย

ด้านสถานการณ์ในประเทศไทย ปัจจุบันพบผู้ป่วยระยะท้ายเพิ่มมากขึ้นทุกพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจระยะท้าย หรือไตวาย เป็นต้น

“เราพบว่าผู้ป่วยส่วนมากต้องการกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน แต่ผู้ป่วยในกรุงเทพมหานครยังมีอุปสรรคเพราะขาดบุคลากรดูแล แต่ในภาคอีสานกลับไปดูแลแบบประคับประคองได้ดีกว่า และเสียชีวิตที่บ้านถึง 80% เพราะมีทีมแพทย์มาเยี่ยมเยียนสม่ำเสมอ มีพยาบาลมาช่วยดูแลร่วมกับครอบครัวและชุมชน”

สอดคล้องกับ นพ.อุกฤษฎ์ มิลินทางกูร ที่ปรึกษาคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยระยะสุดท้ายเพิ่มขึ้นทุกปี จากภาวะสังคมผู้สูงวัยและโรคร้ายแรงที่ลุกลามไปถึงคนหนุ่มสาวระดับอายุ 30-40 ปี ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 450,000 คน ผลการสำรวจพบว่าผู้ป่วยระยะสุดท้าย 80% ล้วนต้องการกลับไปรักษาตัวที่บ้าน

“การสร้างนิยามและแนวทางอ้างอิงที่ตรงกันของการดูแลแบบประคับประคอง จะทำให้เกิดการวางแผนที่ครอบคลุมแบบองค์รวม การกำหนดสิทธิประโยชน์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันของ 3 กองทุน การพัฒนาระบบดูแลอย่างเป็นขั้นตอน รวมถึงการบูรณาการความรู้เข้ากับระบบการศึกษา ลดการนอนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น ลดภาระงบประมาณของประเทศ”

พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชี้ว่า หากมีความชัดเจนในเรื่องมาตรฐานคำนิยาม เช่นกรณีสิทธิเบิกจ่ายการดูแลแบบประคับประคองที่บ้าน ก็จะช่วยให้ สปสช.พัฒนาสิทธิประโยชน์ได้ดีและครอบคลุมมากกว่าที่เป็นอยู่

ทั้งนี้ สปสช. เริ่มจัดชุดสิทธิประโยชน์เรื่องการดูแลแบบประคับประคอง เมื่อปี 2556 ไม่ว่าจะเป็นชุดทำแผล เครื่องให้ออกซิเจน และการให้มอร์ฟีน รวมทั้งปรับปรุงการใช้จ่ายงบประมาณ กองทุนสุขภาพตำบล ให้เอื้อต่อการดูแลแบบประคับประคองในชุมชนด้วย และพัฒนามากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน

  “ปัญหาการดูแลแบบประคับประคองที่พบ เช่นเมื่อคนไข้เสียชีวิตแล้ว ชาวบ้านถามว่าจะใช้ฟอร์มาลีนฉีดศพอย่างไร เพราะเบิกไม่ได้ เราก็สอบถาม ท้องถิ่นก็ยืนยันว่าไม่มีสิทธิตรงนี้ ทางออกของโรงพยาบาลส่วนใหญ่คือจะนำฟอร์มาลีนมาให้ แต่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม”

แม้การเริ่มต้นมีอุปสรรค แต่กลับเห็นแสงสว่างที่ปลายทาง เมื่อทุกภาคีเครือข่ายจับมือร่วมกัน โดยเสาหลักในการขับเคลื่อนสิทธิของประชาชนตรงนี้ไม่เพียงแต่ สช. หรือ สปสช. เท่านั้น ยังมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ ซึ่งขณะนี้บรรจุเรื่องการดูแลแบบประคับประคองไว้ใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 แล้ว รวมถึงกรมบัญชีกลางที่ดูแลสิทธิการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ สำนักงานประกันสังคม องค์กรวิชาชีพต่างๆ กระทรวงที่มีสถานพยาบาล กลุ่มองค์กรผู้บริโภค นักกฎหมาย สถาบันการศึกษา นักวิจัย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ

สิ่งที่จะทำให้การพัฒนาแนวทางดังกล่าวดีขึ้นในอนาคต ก็คือทัศนคติและการให้ความสำคัญของครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น ที่จะสนับสนุนการดูแลแบบประคับประคองให้เป็นทางเลือกขั้นพื้นที่ฐานของผู้ป่วยทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ก็มีสิทธิจะเสียชีวิตตามความปรารถนาในบรรยากาศอันอบอวลและอ้อมกอดอันอบอุ่นของคนที่เรารักได้

 

*** ชื่อเต็ม: ยาก ดี มี จน...ถึงเวลาทุกคนมีสิทธิ  เสียชีวิตในอ้อมกอดครอบครัว

โดย... นันทพร เตชะประเสริฐสกุล

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)