กูเกิล ข่าวปลอม กับปัญญาประดิษฐ์***

กูเกิล ข่าวปลอม กับปัญญาประดิษฐ์***

ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึงปัญหาของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไข ว่าไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการคุกคาม การแสดงออกในโลกออนไลน์ไทยแต่อย่างใด

ดังจะเห็นว่าจนถึงปัจจุบันก็ยังมีนักสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหว นักสิ่งแวดล้อม และประชาชนถูกผู้มีอำนาจกลั่นแกล้งและพยายามปิดปาก โดยขู่ว่าจะใช้กฎหมายนี้ฟ้อง หรือฟ้องจริงๆ ขึ้นศาล ในข้อหาใช้ข้อมูลเท็จหรือบิดเบือนในทางที่ “น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” อยู่เนืองๆ ไม่ต่างจากตลอดระยะเวลา 10 ปีแรกที่เรามีกฎหมายฉบับนี้

ผู้เขียนยกตัวอย่าง กฎหมายต่อต้านข่าวปลอม ของมาเลเซียด้วย ว่าเป็นตัวอย่างความพยายามที่จะแก้ปัญหา (ข่าวปลอมหรือ fake news) ด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการซ้ำเติมปัญหาอีกปัญหา นั่นคือการใช้กฎหมายกลั่นแกล้งปิดปากผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ ซึ่งผู้มีอำนาจรัฐในมาเลเซียก็มีสถิติที่ค่อนข้างแย่ในเรื่องนี้ไม่ต่างจากไทย บางช่วงแย่กว่าเสียด้วยซ้ำไป

(น่าจับตาต่อไปว่าผลการเลือกตั้งมาเลเซียครั้งประวัติศาสตร์ ที่ทำให้ มหาธีร์ โมฮัมหมัด หวนคืนสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ด้วยวัย 92 จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงด้านบวกสำหรับสิทธิเสรีภาพ สิทธิพลเมืองของชาวมาเลเซียหรือไม่)

การมองเห็นและลงมือแก้ปัญหาย่อมเป็นเรื่องดี แต่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง อาจสร้างปัญหาใหม่ที่หนักหนาสาหัสกว่าปัญหาที่ต้องการจะแก้!

แต่ก่อนที่เราจะเริ่มมองเห็น “ทางเลือก” หรือวิธีแก้ปัญหาว่ามีกี่วิธี หรืออย่างน้อยกี่ประเภท เราจะต้องทำความเข้าใจว่า วิธี กำกับโลกออนไลน์ (ซึ่งจริงๆ ก็รวมถึงโลกออฟไลน์ในชีวิตจริงด้วย ในยุคที่ดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรามากขึ้น) นั้น ไม่ได้มีแต่กฎหมายอย่างเดียว แต่ยังมีอีก 3 กลไกสำคัญ นั่นคือ ค่านิยม (norms) กลไกตลาด (market) และโค้ดคอมพิวเตอร์ (code) – ตามกรอบคิดของ ลอว์เรนซ์ เลสสิก (Lawrence Lessig) ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายไอทีในดวงใจของผู้เขียน

สังคมไทยโดยรวมยังเคยชินกับการเรียกร้องให้รัฐใช้ ‘กฎหมาย’ เป็นเครื่องมือจัดการกับปัญหาต่างๆ เพราะไม่คุ้นเคยหรือมองไม่เห็นกลไกชนิดอื่น ทั้งที่กฎหมายนั้นเป็นเครื่องมือชนิด ‘แข็ง’ ทำให้หลายกรณีไม่เหมาะกับการใช้ในโลกออนไลน์ซึ่งมีพลวัตสูงมาก

คำถามต่อไปคือ ในประเด็น “ข่าวปลอม” หรือ fake news ซึ่งวันนี้หลายสังคมยอมรับแล้วว่าเป็นปัญหาถ้าปล่อยให้ระบาดหนัก เพราะนอกจากจะตอกลิ่มความขัดแย้งแบ่งฝ่ายในสังคมแล้ว ยังสามารถส่งอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้งได้อีกด้วย

หลายตอนก่อนหน้านี้ ผู้เขียนเขียนเรื่องความพยายามที่จะรับมือกับปัญหา “ข่าวปลอม” ว่า สามารถทำได้ในทางที่ไม่ลิดรอนสิทธิการแสดงออก หรือเปิดช่องให้ผู้มีอำนาจใช้กฎหมายกลั่นแกล้งประชาชน โดยเฉพาะการเรียกร้องให้บริษัทไอทียักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊ค พัฒนาโค้ด (code) ที่จะช่วยให้ผู้ใช้แยกแยะและรายงาน ข่าวปลอม ได้ดียิ่งขึ้น

ล่าสุด ในงาน Google I/O ประจำปี ระหว่าง 8-10 พ.ค. ที่ผ่านมา ซีอีโอของกูเกิล ซุนดาร์ พิชัย (Sundar Pichai) ประกาศว่ากูเกิลจะออกแอพพลิเคชั่น Google News เวอร์ชั่นปรับปรุงใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ AI) เข้ามาช่วย

พิชัยบอกว่า แอพ Google News โค้ดมา 15 ปีแล้ว แต่สถานการณ์วันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก อินเทอร์เน็ตวันนี้เต็มไปด้วยเนื้อหาต่างๆ มากมายที่ทำให้ผู้ใช้เน็ตแยกแยะยากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่าง “ข่าวปลอม” กับข่าวจริงจากแหล่งที่เชื่อถือได้

ทริสตัน อัพสติล (Trystan Upstill) วิศวกรหัวหน้าทีมพัฒนา Google News บอกว่า ทีมของเขาออกแบบแอพตัวนี้ใหม่หมดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้วันนี้ ซึ่งเขาบอกว่าอยากได้ 3 เรื่อง นั่นคือ อยากรู้เร็วๆ ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น อยากลงลึกในบางเรื่อง และอยากรู้เรื่องราวเบื้องหลังพาดหัวข่าว

อัพสติล มองว่าแอพเวอร์ชั่นใหม่นี้ไม่เพียงแต่จะช่วยผู้ใช้แยกแยะ “ข่าวปลอม” ได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่จะยังเป็นผลดีต่อวงการสื่อสารมวลชนซึ่งเผชิญกับความท้าทายด้านการเงินอย่างต่อเนื่อง

ผู้ใช้แอพเวอร์ชั่นใหม่เข้าไปแล้วจะเจอส่วนผสมระหว่างพาดหัวข่าวระดับโลกและข่าวระดับท้องถิ่น ในหน้า สำหรับคุณ” (For You) ซึ่งโค้ดของกูเกิลจะดูจากตำแหน่งแห่งที่ของผู้ใช้ และรายงานความคืบหน้าของข่าวต่างๆ ที่เราตามอยู่ นอกจากนี้ เมนูจะมีฟังก์ชั่น “Full Coverage” เทียบให้เราเห็นว่า ข่าวเรื่องเดียวกันนั้นสื่อแต่ละค่ายรายงานแตกต่างกันอย่างไร ทั้งเนื้อหาที่เป็นข้อเขียน คลิปวีดีโอ และสื่ออื่นๆ ซึ่งฟังก์ชั้นนี้คัดกรองเนื้อหาเฉพาะจากสื่อที่กูเกิลจัดว่าน่าเชื่อถือ ดังนั้นทุกคนจะมองเห็นเนื้อหาเดียวกัน อัพสติล อธิบายว่าที่ทำแบบนี้เพราะ การจะมีบทสนทนาหรือวงอภิปรายที่ดีได้นั้น ทุกคนจะต้องเข้าถึงข้อมูลชุดเดียวกัน

บริการ Google News โฉมใหม่เปิดตัวด้วยเนื้อหาจากสื่อค่ายต่างๆ ที่กูเกิลคัดกรองว่า น่าเชื่อถือจำนวน 60 ค่าย และจะทยอยเพิ่มเติมในอนาคต หนึ่งในฟังก์ชั่นที่สะดวกสบายอย่างมากสำหรับผู้ใช้ที่มีบัญชีกูเกิล (Google account) อยู่แล้วก็คือ สามารถ สมัครด้วยกูเกิล” (Subscribe with Google) เพื่อสมัครเป็นสมาชิก (จ่ายเงิน) ค่ายสื่อต่างๆ อาทิ New York Times หรือ Financial Times โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลบัญชีบัตรเครดิตหรือสร้างบัญชีผู้ใช้ใหม่ และอ่านเนื้อหาที่จ่ายเงินซื้อเหล่านั้นผ่านทุกช่องทาง เช่น ผ่านแอพ Google News, ผ่านการค้นหาในเซิร์ชของกูเกิล (Google Search), เว็บไซต์สื่อค่ายนั้นๆ โดยตรง ฯลฯ และด้วยอุปกรณ์ทุกรูปแบบ กูเกิลหวังว่าฟังก์ชั่นนี้ ซึ่งทำให้การสมัครซื้อข่าวสะดวกสบายขึ้นมาก จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ใช้สนับสนุนค่ายสื่อมืออาชีพมากขึ้น

การรับมือกับ “ข่าวปลอม” (หมายถึงเนื้อหาเท็จที่จงใจทำให้คนเข้าใจผิดว่า เป็น “ข่าว” จาก “สำนักข่าว”) วันนี้ได้กลายเป็นวาระเร่งด่วนสำหรับบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ทุกบริษัทที่คนจำนวนมากเสพเนื้อหาผ่านแพล็ตฟอร์มหรือผลิตภัณฑ์ของตน กูเกิลเองก็ตกเป้าการวิพากษ์วิจารณ์หลายวาระก่อนหน้านี้ว่า ยังพยายามไม่มากพอในการรับมือกับ “ข่าวปลอม”

ยกตัวอย่างเช่น วีดีโอสื่อทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy videos) ซึ่งกระพือความเกลียดชังและสร้างความเข้าใจผิด หลังจากที่เกิดกรณีกราดยิงนักเรียนในเมืองปาร์คแลนด์ (มลรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2018) กลายเป็นวีดีโอที่ติดอันดับสูงสุดในผลการค้นหาของกูเกิลและบนยูทูบ (YouTube บริการในเครือกูเกิล) นานต่อเนื่องเป็นเดือนๆ.

 

*** ชื่อเต็ม: สื่อในศตวรรษที่ 21 (19) : กูเกิล ข่าวปลอม กับปัญญาประดิษฐ์

โดย... สฤณี อาชวานันทกุล