การพัฒนาอย่างยั่งยืนกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

การพัฒนาอย่างยั่งยืนกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

มื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมาได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561

ซึ่งจะมีผลในอีก 90 วันนับจากวันประกาศ โดยมีเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.นอกเหนือจากการปรับปรุงให้กฎหมายทันสมัยและสอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแล้ว ยังระบุเหตุผลว่า เพื่อให้มีมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับและได้รับความเชื่อมั่นจากทุกภาคส่วน ในการดำรงไว้ซึ่งการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศอย่างสมดุล ในขณะที่กฎหมายฉบับปี 2535 นั้นไม่ปรากฏมิติในการพัฒนาทางเศรษฐกิจในเหตุผลในการประกาศใช้แต่อย่างใด

ปัญหาสำคัญของการจัดทำหรือพัฒนาโครงการขนาดใหญ่คือ การสร้างสมดุลระหว่างการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติกับการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ กล่าวโดยเฉพาะเจาะจงก็คือจะทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั่นเอง

ในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงสิ่งที่กฎหมายฉบับใหม่แตกต่างไปจากกฎหมายฉบับเดิม เพื่อให้ผู้อ่านได้พิจารณาว่ากฎหมายฉบับใหม่ดังกล่าวสามารถสร้างความสมดุลดังที่ประสงค์ได้หรือไม่

กฎหมายฉบับใหม่นี้ได้ยกเลิกความในหมวด 3 การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ส่วนที่ 4 การทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของกฎหมายฉบับปี 2535 โดยกำหนดเนื้อหาของส่วนที่ 4 เสียใหม่ มีสาระสำคัญที่แตกต่างจากกฎหมายฉบับเดิม ดังนี้

ประเด็นแรก กฎหมายฉบับใหม่กล่าวถึงการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA-Strategic environmental assessment) โดยกำหนดให้ในกรณีที่มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ตามระเบียบหรือกฎหมายอื่นใดไว้แล้ว การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้คำนึงถึงผลการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับใหม่เองไม่ได้กำหนดให้มีการจัดทำ SEA และปัจจุบันยังไม่มีระเบียบหรือกฎหมายฉบับอื่นใดที่กำหนดให้มีการจัดทำ SEA

ประเด็นที่ 2 กำหนดชัดเจนให้โครงการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชน หรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาตต้องประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ

ประเด็นที่ 3 ได้กำหนดให้การมีส่วนร่วมของประชาชนชัดเจนขึ้น โดยกำหนดให้โครงการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชน หรือชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม อย่างรุนแรง ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้อง แต่ก็เป็นเพียงการนำข้อความในรัฐธรรมนูญมาใส่เอาไว้เท่านั้น ไม่ได้กำหนดรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของการรับฟังความคิดเห็นแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 4 เปิดโอกาสให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) มอบหมายให้หน่วยงานอื่นของรัฐปฏิบัติหน้าที่แทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในการตรวจสอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งในการพิจารณาเสนอความเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เว้นแต่โครงการบางลักษณะที่มีผลกระทบรุนแรง หรือมีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งน่าจะทำให้กระบวนการรวดเร็วขึ้น

ประเด็นที่ 5 ในกรณีที่คณะกรรมการชำนาญการ (คชก.) ไม่ให้ความเห็นชอบ ผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาตต้องดำเนินการเพิ่มเติมหรือจัดทำรายงานใหม่ตามรายละเอียดที่ คชก.กำหนดภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งผล มิฉะนั้นจะถือว่าผู้นั้นไม่ประสงค์จะเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ประเด็นที่ 6 กำหนดกระบวนการติดตามการปฏิบัติตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยให้ผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาตที่ได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งได้รับอนุญาตให้ดำเนินการแล้ว จัดทำรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เสนอต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจอนุญาตอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง หากผู้ใดไม่ดำเนินการต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และในกรณีที่ผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาตไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดในรายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการสั่งอนุญาตหรือต่ออายุใบอนุญาต ให้ สผ.เสนอแนะให้หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอนุญาตดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อบังคับให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้

ประเด็นที่ 7 รายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความเห็นชอบตามกฎหมายฉบับนี้ สามารถนำไปใช้เพื่อเสนอขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี หรือประกอบการพิจารณาอนุญาตตามกฎหมายได้ เป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ได้มีหนังสือแจ้งความเห็นของผู้มีอำนาจให้ความเห็นชอบ

ประการสุดท้าย กำหนดโทษกรณีที่มีการก่อสร้างหรือดำเนินโครงการหรือกิจการก่อนที่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะได้รับความเห็นชอบ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 1 แสนบาท ตลอดระยะเวลาที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องหรือหยุดการกระทำนั้น ทั้งนี้ความผิดดังกล่าวสามารถเปรียบเทียบปรับได้

นอกจากนี้ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2559 ก็ยังคงปรากฏอยู่ในกฎหมายฉบับนี้ ในกรณีโครงการ หรือกิจการ หรือการดำเนินการด้านการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาลหรือที่อยู่อาศัย ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์สาธารณะ อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินกระบวนการหรือขั้นตอน เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนที่จะเป็นผู้รับงานนั้นไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอกชนผู้นั้นไม่ได้ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดคำถามได้ว่าในเมื่อรายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมยังไม่ผ่านความเห็นชอบ จะสามารถกำหนดรายละเอียดของโครงการเพื่อหาเอกชนผู้รับงานได้อย่างไร