ข้อเท็จจริง กมธ.สาธาณสุข สนช.ศึกษาดูงาน สปสช.

ข้อเท็จจริง กมธ.สาธาณสุข สนช.ศึกษาดูงาน สปสช.

การเยี่ยมศึกษาดูงาน “การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2” คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข (กมธ.สาธารณสุข)

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2561 มี พล.อ.โปฎก บุนนาค รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุขคนที่ 3 เป็นผู้นำทีม นับเป็นเวทีที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนความเห็นที่ดีต่อการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่นำไปสู่การพัฒนา ซึ่ง กมธ.สาธารณสุขที่ร่วมศึกษาดูงานได้ตั้งคำถามน่าสนใจพร้อมให้คำแนะนำ และมีการตอบข้อซักถามโดยผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บรรยากาศเป็นไปได้ด้วยดี พล.อ.โปฎก ได้ย้ำก่อนประชุมว่า “ที่มาในวันนี้ไม่ได้มาจับผิด แต่มาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น”

จากบทความพิเศษเรื่อง “ไปศึกษาดูงาน สปสช. กับคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข” ที่นำเสนอผ่านคอลัมน์นี้ เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ในฐานะผู้ร่วมต้อนรับและชี้แจงการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อ กมธ.สาธารณสุข ในวันดังกล่าว ขอนำเสนอเนื้อหาการชี้แจงข้อมูลของ สปสช. แม้ว่าก่อนหน้าจะได้เคยชี้แจงไปแล้ว

คำถามของ กมธ.สาธารณสุขที่ได้ซักถาม อาทิ ความคืบหน้าการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 การจัดงบสนับสนุนส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคและการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์รองรับสังคมผู้สูงอายุ การรวมกองทุนหลักประกันสุขภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ การดึงงบประมาณท้องถิ่นสนับสนุนดูแลสุขภาพประชาชน การแยกเงินเดือน การแก้ไขปัญหา รพ.ขาดทุน และการสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มติมงบ รพ.สต. เป็นต้น

การแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ขอชี้แจงว่า สปสช.ไม่ได้เป็นเจ้าภาพการแก้ไขกฎหมาย ดำเนินการโดยกระทรวงสาธารณสุข โดย รมว.สาธารณสุข ตั้งคณะทำงานดำเนินการและได้มีการนำเสนอร่างกฎหมายต่อ ครม.แล้ว แต่ด้วยมีประเด็นต้องหาข้อสรุปเพิ่มเติม จึงส่งกลับให้ทบทวน โดยเฉพาะมาตรา 42 ที่ให้ตัดการไล่เบี้ยผู้รับผิดชอบมาตรา 41 ซึ่งตั้งแต่บังคับใช้กฎหมายไม่เคยมีการไล่เบี้ย แต่เนื่องจาก สตง.มีข้อสังเกตว่า สปสช.ไม่ทำหน้าที่ โดย สปสช.ให้เหตุผลว่าจะทำต่อเมื่อคดีสิ้นสุด ดังนั้นคงต้องทำระบบให้ชัด และคงต้องรออีกระยะร่างกฎหมายจึงเสนอเข้า สนช.ได้

การจัดงบประมาณสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ สปสช.ได้จัดงบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2562 งบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพิ่มขึ้นเป็น 12% ขณะที่งบฟื้นฟูสมรรถภาพฯ เพิ่มเป็น 18% โดยการเพิ่มขึ้นของงบ นอกจากพิจารณาปริมาณงานเพิ่มขึ้นแล้ว ต้องขึ้นอยู่กับศักยภาพของระบบที่รองรับด้วย ขณะเดียวกันยังมีการจัดสรรงบเฉพาะเพื่อดูแลผู้สูงอายุอยู่ในภาวะพึ่งพิง (LTC) 150,000 ราย โดยในส่วนผู้สูงอายุที่ไม่อยู่ในภาวะพึ่งพิงจะได้รับการดูแลจากงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และงบภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ

การรวมกองทุนหลักประกันสุขภาพ ได้มีการบูรณาการทำงานของ 3 กองทุนรักษาพยาบาล ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม โดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้ดำเนินงานงบประมาณ สิทธิประโยชน์บางรายการและปฏิบัติงานบูรณการร่วมกัน ซึ่งเรื่องที่ได้บูรณาการและมีผลปฏิบัติออกมาในเร็ววันนี้ ได้แก่ การจัดระบบดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง เนื่องจากผู้สูงอายุสิทธิข้าราชการไม่ได้รับสิทธิประโยชน์นี้ และการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมโดยใช้ยาพุ่งเป้า เพื่อความคล่องตัวการเบิกจ่ายทั้ง 3 กองทุน

ขณะที่การดำเนินงานกับ อปท. สปสช.ได้ดำเนินการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ร่วมกับ อบต.และเทศบาลครอบคลุมกว่า 7 พันแห่งทั่วประเทศ แต่ละปีจะร่วมสมทบงบประมาณ 1.5 -2 พันล้านบาท เพื่อจัดระบบดูแลสุขภาพในชุมชนและกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ที่จําเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัด ปัจจุบันมี 40 กว่าจังหวัดเข้าร่วม นอกจากนี้ในปี 2562 เป็นปีแรกที่กรุงเทพมหานครเข้าร่วมดำเนินกองทุนหลักประกันสุขภาพ กทม. โดยมีงบประมาณรวมสมทบ 400 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับประชาชนในพื้นที่

การแยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่ายรายหัว ปัจจุบันมีการรวมเงินเดือนในงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่จะถูกหักไว้ตั้งแต่ต้นทางเพื่อกระจายไปยังหน่วยงานตามบัญชีเงินเดือน ทำให้งบกองทุนฯที่ได้รับจริงน้อยลง โรงพยาบาลจึงได้รับงบประมาณลดลงตามสัดส่วนเงินเดือนที่ได้หักไว้ ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นกับจำนวนบุคลากรในบัญชี การแยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่ายรายหัวมีข้อดีและข้อเสีย ยังไม่ได้ข้อยุติ

ส่วนข้อซักถามการแก้ปัญหาโรงพยาบาลขาดทุน ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สปสช.ได้ร่วมกับ สธ.เพื่อแก้ปัญหา โดยมีการช่วยเหลือ รพ.ที่ขาดสภาพคล่องระดับ 7 มีแผนการกระจายงบเป็นขั้นบันไดและให้โรงพยาบาลจัดทำแผนงบประมาณตั้งแต่ต้นปี โรงพยาบาลใดมีปัญหา ให้ส่งสัญญาณเพื่อเกลี่ยงบระดับเขต ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งไตรมาสแรกทุกปีจะมีโรงพยาบาลประสบสภาพคล่องระดับ 7 ประมาณ 10-20 แห่ง แต่ปี 2561 นี้ไม่มีเลย ทั้งนี้ สปสช.และ สธ.ยังคงต้องติดตามดูสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

ส่วนคำถามการสร้างความเข้มแข็งและการเพิ่มเติมงบประมาณให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลศูนย์ การส่งงบประมาณลงไปยัง รพ.สต.เป็นอำนาจของ สธ. ซึ่งเรื่องนี้ สปสช.คงต้องหารือ สธ.ก่อน

ส่วนการจัดสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมต่อเนื่องนั้น ด้วยการแพทย์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องปรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้ระบบดูแลประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย ส่วนที่ระบุว่า สปสช.นำเงินไปให้องค์กรหรือมูลนิธิที่ไม่ใช่หน่วยบริการ สปสช.ได้ชี้แจงถึงความจำเป็นเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับประชาชน ยกตัวอย่างความสำเร็จของประเทศไทยที่ได้รับเกียรติบัตรจากองค์การอนามัยโลกรับรองเป็นประเทศที่ 2 ของโลกและเป็นประเทศแรกในเอเชียในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกต่ำกว่าร้อยละ 2 ส่วนหนึ่งเป็นผลการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมเพื่อขับเคลื่อน

อย่างไรก็ดี ภาพรวมการเยี่ยมศึกษาดูงานของ กมธ.สาธารณสุข ที่ได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นในครั้งนี้ สปสช.ยินดีรับคำแนะนำต่างๆ ที่ได้รับและนำไปปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นหลักประกันสุขภาพของประชาชนถ้วนหน้าอย่างยั่งยืน

 โดย... 

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ

ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)